ต้องให้มีคนสั่ง คิดเองทำเองไม่ได้ รมว. ดีอี แย้มพร้อมรับฟังข้อเสนอ 2 สหภาพฯ ทั้ง กสท โทรคมนาคม และทีโอที ที่ขอให้รวมบอร์ดเป็นชุดเดียว ย้ำหากข้อมูลดีจริงก็พร้อมจะหาทางออกร่วมกัน ส่วนการตั้งบริษัทลูกล้มเลิกไม่ได้ เพราะทำตามมติ ครม. ขณะที่วงในเผย ม. 44 ช่วยแก้ปัญหาได้ หากรวมบอร์ดดีกว่าตั้งบริษัทลูก ด้านสหภาพฯ เดินหน้าต่อไม่ท้อถอย มั่นใจรัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหา
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า ตนเองยินดีรับฟังความคิดเห็นของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ สหภาพฯ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการยุบคณะกรรมการ (บอร์ด) จากเดิมที่ต่างคนต่างมีคนละบอร์ด เหลือเพียงบอร์ดชุดเดียวเพื่อดูแลธุรกิจของทั้ง 2 บริษัทไม่ให้การทำงานทับซ้อนกัน แต่ต้องมีการนำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบกันระหว่างการรวมบอร์ดกับการตั้งบริษัทลูกอย่างบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co.) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC Co.) ว่า สิ่งไหนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของทุกฝ่าย
ส่วนการตั้งบริษัทลูกถามว่าจะล้มเลยหรือไม่ ต้องตอบว่าล้มไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีการจดทะเบียนบริษัทไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ดังนั้น ทั้ง 2 เรื่องต้องเดินหน้าคู่ขนานกัน สุดท้ายแล้ว หากสิ่งไหนดีกว่ากันก็ต้องเลือกทางนั้น มันต้องมีทางออกร่วมกัน อย่าลืมว่า สิ่งที่คิดเรื่องตั้ง 2 บริษัทลูกนั้น ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะตั้งขึ้นมาได้เลย แต่มันได้ผ่านกระบวนการมาหลายขั้นตอนแล้ว มีการคิดวิเคราะห์กันมาพอสมควร
โดยมองเห็นว่า โอกาสของบริษัทลูกมี ไม่ว่าจะเป็นความต้องการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์ภาครัฐ เรื่องของบรอดแบนด์ เหล่านี้มีโอกาสแน่นอน การวิเคราะห์ว่า สิ่งไหนดีที่สุดนั้น ต้องดูด้วยว่าทำแล้วใครได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ ลดการทำงานทับซ้อน และแก้ปัญหาที่มีได้หรือไม่ ที่สำคัญความเห็นของทั้ง 2 บริษัททั้งฝ่ายบริหาร และสหภาพฯ ต้องตรงกันทุกฝ่ายด้วย
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงดีอี กล่าวว่า การที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาดูแลเรื่องนี้ และมีการตั้งคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์ทางออกที่ดีที่สุดนั้น ทำให้เห็นว่า รัฐบาลต้องการเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานั่งเป็นคณะกรรมการ ได้แก่ สหภาพฯ กสท โทรคมนาคม, สหภาพฯ ทีโอที, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.), สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), กระทรวงดีอี และกรมบัญชีกลางนั้น จะช่วยให้ทุกฝ่ายหาข้อยุติได้ โดยคาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมนัดแรก หากภายในสัปดาห์นี้ไม่ทัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปเร็วที่สุด หากสุดท้ายแล้วต้องเป็นไปตามแนวทางที่สหภาพฯ ทั้ง 2 บริษัทเสนอ ก็อาจจะขอให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหานี้ได้
ด้านนายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพฯ กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า สหภาพฯ จะเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่า รัฐบาลจะจริงใจในการแก้ปัญหา และยืนยันว่า การรวมบอร์ดเป็นชุดเดียวนั้น สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย ขณะที่ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ล่าสุด ที่ประกาศออกมายังมีการปรับปรุงแก้ไขให้ 2 รัฐวิสาหกิจทำงานคล่องตัวขึ้นด้วย
ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐจะเดินหน้าตั้ง 2 บริษัทลูกเพื่ออะไร ในเมื่อปัจจุบันมีกฎหมายรองรับที่สามารถทำให้แก้ปัญหาการทำงานของ 2 รัฐวิสาหกิจได้ แต่การตั้งบริษัทลูกต่างหากที่ไม่ตอบโจทย์ที่ต้องการแก้ปัญหาของรัฐวิสาหกิจ เพราะปัญหาเดิม ๆ ก็ยังคงอยู่กับบริษัทแม่ สุดท้าย หากไม่มีใครไปอยู่ที่บริษัทลูก ก็เท่ากับว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะบริษัทแม่ก็ต้องจ้างพนักงานในบริษัทไปทำงานให้บริษัทลูก อย่างนั้นแล้ว จะแยกทรัพย์สินออกไปเพื่ออะไร ในเมื่อมันมีค่าเท่าเดิม ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างที่ต้องการ