กระทรวงดีอี ควงคู่ซีอีโอทีโอที และ กสท ยันแผนตั้งบริษัทใหม่ “NBN-NGDC” พาองค์กรพ้นวิกฤต ต้านแรงคัดค้านของสหภาพฯ ทั้ง 2 องค์กรที่จะเดินหน้าไปร้องนายกฯ ในวันที่ 2 ส.ค. นี้ ชี้ บริษัทลูกที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจจะขาดทุนแค่ 2 ปี จากนั้นจะดีขึ้น ส่วนการดำเนินธุรกิจจะล่าช้าเป็นรัฐวิสาหกิจแบบเดิมหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายการทำงานของซีอีโอทั้ง 2 องค์กร ไม่รับปากการเมืองเปลี่ยนจะมีผลต่อ 2 บริษัทหรือไม่ เพราะตอนนี้ คือ ทำตามมติ ครม. ปัจจุบัน
นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า สิ่งที่สหภาพฯ ทั้ง 2 บริษัทคัดค้าน และมีการนำเสนอว่า บริษัทที่ปรึกษาเปิดเผยตัวเลขการขาดทุนของบริษัทลูก คือ บริษัท NBN จำกัด และบริษัท NGDC จำกัด เป็นการคำนวณในรอบแรกของกรอบพนักงาน 2,000 กว่าคน แต่ล่าสุด บริษัท NBN จำกัด ที่จะเปิดรับสมัครพนักงานจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,200 อัตรา และบริษัท NGDC จำกัด เปิดรับสมัครพนักงานจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำนวน 479 อัตรา พบว่า ตัวเลขการขาดทุนล่าสุดลดลงเหลือ 2 ปี คาดว่าในปีที่ 3 ทั้งสองบริษัทจะเริ่มมีกำไรได้
ทั้งนี้ในวันที่ 1 พ.ย. 2560 ทั้งสองบริษัทจะต้องเปิดให้บริการได้ โดยตอนนี้สิ่งที่ต้องเร่งทำ คือ การสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับพนักงานว่า สิ่งที่ดำเนินการอยู่นั้น ทำตามยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ และอยากให้มั่นใจว่า การจัดตั้งบริษัทลูกก็เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินธุรกิจ และสร้างรายได้ใหม่ให้เกิดขึ้น
“ต้องมองให้ไกล แน่นอนว่าในช่วง 2-3 ปีแรกของการดำเนินงานจะเป็นช่วงที่ยังไม่ได้กำไรที่เห็นชัด แต่หลังจากนั้น จะเห็นการเติบโตที่ชัดเจน เพราะถ้าลงทุนแล้วไม่ดีขึ้น ก็คงไม่มีการตั้งบริษัทขึ้นมาตั้งแต่แรก เพราะทุกอย่างมีการวิเคราะห์ และประเมินมาแล้ว มั่นใจใน 5 ปีต้องดีขึ้นกว่าเดิม มีกำไรที่ดีขึ้น” นายพันธ์ศักดิ์ กล่าว
ส่วนคำถามที่ว่า เมื่อการเมืองเปลี่ยนการทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน จะถูกเปลี่ยนตาม ครม. ชุดใหม่หรือไม่นั้น นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวแต่เพียงว่า ตนเข้ามาทำงานตามมติ ครม. ส่วนอนาคตไม่สามารถบอกได้ หรือจะรับประกันได้ว่า ถ้าบริษัททั้ง 2 ไม่รอดจะรับผิดชอบอย่างไร เพราะสิ่งสำคัญที่จะรอดหรือไม่รอด ขึ้นอยู่กับการเขียนแผนธุรกิจของนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที และ พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม ที่จะต้องเสนอต่อ ครม. ให้เห็นชอบภายในเดือน ต.ค. นี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่สองบริษัทลูกนี้จะได้รับการเขียนแผนธุรกิจ และกำหนดยุทธศาสตร์ให้คล่องตัวขึ้น
ด้านนายมนต์ชัย กล่าวว่า ภายในเดือน ส.ค. 60 จะต้องมีการจดทะเบียนบริษัทให้แล้วเสร็จ และต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริษัทลูก รวมถึงตรวจสอบประเมินทรัพย์สิน ส่วนในเดือน ก.ย. นี้ จะต้องเปิดรับสมัครพนักงานเข้ามา โดยเบื้องต้นจะจำลองการทำงานด้วยการตั้งสำนักงานโครงการโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติภายในทีโอที เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเปลี่ยนผ่านงานไปสู่บริษัทลูก
ด้าน พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า ทุกคนที่มาต้องมาด้วยความสมัครใจ และเชื่อว่า ปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนให้บริษัทลูกเดินหน้าไปได้ คือ มูลค่าของบริษัทที่เหมาะสม และพนักงานที่มีศักยภาพ ซึ่ง NGDC ในอนาคตจะมีการแยกออกมาเป็นบริษัทลูกชื่อ IDC เพื่อดูแลในส่วนบริการที่เกี่ยวกับซับมารีนเคเบิล, ดาต้าเซ็นเตอร์ และคลาวด์ โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นหลัก เพื่อให้เกิดการลงทุน และดำเนินงานที่คล่องตัว อีกทั้ง เพื่อเป็นการขับเคลื่อนให้ไทยได้เป็นศูนย์กลางดิจิตอลในอาเซียน
ทั้งนี้ การออกมาชี้แจงของตัวแทนผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงดีอี ซีอีโอ ทีโอที และ กสท ในครั้งนี้เกิดจากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสคัดค้านอย่างหนักจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง 2 องค์กร โดยอ้างว่า การตั้งบริษัทใหม่ไม่ทำให้องค์กรพ้นวิกฤต เพราะการดำเนินงาน และการสรรหาบุคลากรมาอยู่ในบริษัทใหม่ไม่เป็นธรรม ไม่มีความมั่นคง ขาดความน่าเชื่อถือ ที่มาของรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ชัดเจน และง่ายต่อการถูกล้วงลูกจากฝ่ายการเมือง ซึ่งในวันที่ 2 ส.ค. ตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้งสององค์กรจะไปยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านแผนการตั้งบริษัทลูกดังกล่าวที่ศูนย์ดำรงธรรม ทำเนียบรัฐบาล