xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลจริงใจแค่ไหน แก้ปัญหา 'ทีโอที-แคท' (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
วันนี้คนในทีโอที กับ แคท กำลังตั้งคำถามกับรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่มีพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เป็นรมว.ดีอี กำกับดูแล ว่ามีความจริงใจและตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจในสังกัดหรือไม่ หรือการไม่ทำอะไรไม่ตัดสินใจก็เพื่อสนองตอบกลุ่มทุนสไปเดอร์แมนที่ชอบชักใยอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะทางออกการล่มสลายของรัฐวิสาหกิจไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงถูกลั่นกลอนปิดตาย ไม่ให้หายใจ เพราะเมื่อแข่งขันไม่ได้ จะอยู่รอดก็ลำบาก

ในขณะที่ทุกองค์กรประกาศรับมือความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนโลก ทั้ง AI, Machine Learning หรือ Internet of Things โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่ใกล้ชิดกับนวัตกรรมมากที่สุด องค์กรธุรกิจทั่วโลกเร่งเปลี่ยนตัวเองให้ทัน เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจไทยอย่าง ทีโอที และ บริษัท กสท โทรคมนาคม (แคท) ที่กว่า 10 ปีที่ผ่านมามีแผนปรับโครงสร้างมาแล้วหลายฉบับ แต่ไม่มีผลปรากฏเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมามีเวลาให้คิด ให้ลองอย่างเต็มที่ แต่ตอนนี้เวลานั้นกำลังจะหมดลง

*** สำรวจกำลังภายใน ทีโอที-แคท อยู่ได้อีกนานแค่ไหน

รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 รายมีแหล่งรายได้หลักมาจากส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาสัมปทาน และรายได้จากการให้บริการ แต่อย่างที่รู้กันว่า รัฐวิสาหกิจมีกระบวนการยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทเอกชนที่คล่องตัว รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า ดังนั้นรายได้จากการให้บริการจึงลดลงอย่างต่อเนื่องและส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาสัมปทานกำลังหมดลงเช่นกัน

สิ่งที่ ทีโอทีและแคทมีอยู่ในมือและมีมูลค่าพอที่จะสร้างรายได้กลับเข้ามาในองค์กร คือ คลื่นความถี่ และ สินทรัพย์จากสัญญาสัมปทาน ดังนั้นทั้งนโยบายของรัฐและแนวทางของทั้ง 2 องค์กรต้องมุ่งใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้

ส่วนของทีโอทีนั้น ถือว่าค่อนข้างไปได้ดี เพราะสามารถร่วมมือกับเอไอเอส ในการใช้คลื่นความถี่ 2100 MHzและกำลังเจรจาเพื่อร่วมมือกับดีแทค ในการใช้คลื่นความถี่ 2300 MHzที่คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 14,500 ล้านบาทต่อปี

ในขณะที่แคท มีอาการน่าเป็นห่วงยิ่งกว่า เพราะสิ่งที่แคทมีอยู่นอกเหนือจากบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่รายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนบริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ และเคเบิลใต้น้ำ ก็เจอกับการแข่งขันจากเอกชน บริการโทรศัพท์มือถือทั้งที่ให้บริการเองและสัญญาร่วมกับบริษัท BFKT และกลุ่มทรูก็ไม่ได้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ สุดท้ายคือ สัญญาสัมปทานที่มีกับดีแทคกำลังจะหมดลงวันที่ 15 ก.ย. 2561 หรืออีก 1 ปีข้างหน้า

หากดูถึงรายได้รวมของแคทที่ผ่านมาในปี 2557 มีจำนวน 55,516 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 25.16% กำไร 3,554 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 51.40% ,ปี 2558 มีรายได้ 54,933 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 0.56% กำไร 3,141 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 11.96% และปี 2559 คาดว่ามีรายได้ประมาณ 50,000 ล้านบาท เป็นกำไรประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนปี 2560 ประมาณการณ์เบื้องต้นรายได้ยังคงลดลง และคาดว่าจะเป็นปีแรกที่แคท ขาดทุน

ดังนั้นถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายหรือการสั่งการที่ชัดเจน มีแนวโน้มว่าแคทอาจไม่สามารถตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง และต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน

***การหาพันธมิตรร่วมทุนคือโอกาส

เมื่อทีโอทีใช้โมเดลร่วมธุรกิจกับภาคเอกชนโดยใช้คลื่นความถี่และสินทรัพย์รับโอนจากสัญญาสัมปทานในการหารายได้ แคทก็น่าจะมีทางออกได้ในลักษณะเดียวกัน จากมติของรัฐบาล และนโยบายจากคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. ก่อนหน้านี้ที่ให้แคทกับ ดีแทค หาทางร่วมมือกัน ซึ่งจากการหารือร่วมกันระหว่าง ดีแทค และแคท โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินและทางกฎหมาย บริษัท PrimeStreet และ Norton Rose เห็นตรงกันว่าทางออกที่ดีที่สุดคือ การเป็นพันธมิตรร่วมทุน หรือ Joint Venture (JV) เพื่อดูแลสินทรัพย์จากสัญญาสัมปทาน โดยทั้งแคท และ ดีแทค จะมีสถานะเป็นเจ้าของที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจนกว่าความร่วมมือจะสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ JVจะดูแลใน 2 ส่วนคือ โครงข่ายไฟเบอร์ และ เสาสัญญาณโทรคมนาคมประมาณ 9,500 แห่งทั่วประเทศ แต่ความร่วมมือจะเกิดได้ ต้องจัดการกับข้อพิพาททางกฎหมายที่มีอยู่ระหว่างกันหลายสิบคดีให้หมดก่อน พูดง่ายๆ จะเป็นเพื่อนกันได้ก็ต้องเคลียร์เรื่องบาดหมางในอดีต อันเกิดจากสัญญาสัมปทานที่ไม่ชัดเจนให้เรียบร้อย

ดังนั้น การเจรจาระหว่างแคทกับดีแทค นอกจากจะตกลงเรื่อง JVแล้ว จึงต้องแก้ไขเนื้อหาในสัญญาสัมปทานที่ทั้งสองฝ่ายตีความต่างกัน และทำให้เกิดความขัดแย้ง โดยเฉพาะเรื่อง เสาสัญญาณ ที่ดีแทคตีความตามกฎหมายว่า เป็นสิ่งปลูกสร้างจึงไม่เข้าข่ายสินทรัพย์ที่ต้องโอนให้แคทและเรื่องนี้อยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการที่ต้องรอการตัดสินอีกหลายปี

แต่จากการเจรจาได้ข้อสรุปว่า ดีแทคจะโอนเสาสัญญาณทั้งหมดให้แคทพร้อมจ่ายเงินชดเชยอันเกิดจากข้อพิพาทต่างๆ และดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานให้มีความชัดเจน จากนั้น แคทที่ได้รับโอนสินทรัพย์ทั้งหมดจะนำโครงข่ายไฟเบอร์ และ เสาสัญญาณ ขายให้กับบริษัท JVเพื่อนำมาให้ ดีแทค เช่าใช้บริการต่อไป
พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
สิ่งที่แคทจะได้รับคือเงินชดเชยจากดีแทคในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่างๆ และได้รับหุ้นในบริษัท JV พร้อมเงินปันผลจากการเช่าใช้โครงข่ายของดีแทคในระยะยาว ที่สำคัญคือ ยุติข้อพิพาททางกฎหมายที่ยืดเยื้อยาวนาน โดยที่ไม่ต้องห่วงเรื่องรัฐเสียประโยชน์จากการแก้ไขสัญญาสัมปทาน เพราะสัญญาสัมปทานเหลืออีกเพียงปีเดียวกับส่วนแบ่งรายได้ที่ลดลง

'อาจต้องถามกลับไปว่า แทนที่จะกลัวว่าต้องรับผิดชอบที่ทำรัฐเสียประโยชน์จากการแก้สัญญาสัมปทาน แล้วถ้าไม่แก้ไข จนทำให้เกิดความเสียหาย เกิดการฟ้องร้องกันยาวนานเป็นสิบปี ใครจะกล้ารับผิดชอบเรื่องนี้บ้าง' คำถามที่บางคนไม่กล้าตอบ

***JVไม่เกิดแคทอาจรอวันจบ

สิ่งที่เป็นคำถามที่ทุกคนอยากรู้ โดยเฉพาะพนักงานของ ทีโอที และแคทเองคือ รัฐบาลมีนโยบายอย่างไรกับรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งนี้ เมื่อรู้อยู่แล้วว่า ด้วยกระบวนการทำงาน ความซับซ้อนและเงื่อนไขต่างๆ ทีโอทีและแคทไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้แน่นอน ให้บริการเองก็ไม่ได้ ถึงทำได้ก็อยู่ไม่นาน ถ้าไม่นำสินทรัพย์ที่มีอยู่ออกมาสร้างประโยชน์ในเวลานี้ คำถามคือ ถ้าถึงปลายปี 2560นี้ก็อาจสายเกินไปแล้ว ไม่มีเอกชนรายไหนสนใจร่วมทุนด้วยอีก

ทั้ง เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ก็ต้องลงทุนโครงข่ายใหม่ เพื่อรองรับการแข่งขัน การให้บริการ ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นวันนี้ JVคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นทันที กรณีของ แคท และ ดีแทค การถือหุ้น 49/51 เพื่อเลี่ยงการเป็นรัฐวิสาหกิจอีกราย เพื่อให้มีความเป็นเอกชน คล่องตัวทางธุรกิจมากกว่า

แต่จนวันนี้ JVระหว่างแคทและดีแทค ไม่เกิดสักทีเพราะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่ไม่ส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติดำเนินการ ทั้งที่มีความพยายามแก้ปัญหา หาทางออกเรื่องนี้มานานกว่า 2 ปีแล้ว

แม้กระทั่งเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ซิคเว่ เบรกเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทเลนอร์พร้อมด้วยผู้บริหารดีแทค ได้เข้าเยี่ยมคำนับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยระหว่างการหารือได้มีการหยิบยกปัญหาอุปสรรคในการทำสัญญาร่วมเป็นพันธมิตรระหว่างแคทกับ ดีแทค หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ รับทราบถึงปัญหาติดขัดที่กระทรวงดีอี จึงได้มอบหมายให้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาช่วยพิจารณาตรวจสอบประเด็นด้านกฎหมายเพื่อความรวดเร็วก่อนที่จะนำเสนอต่อ คนร. อีกครั้งหนึ่งต่อไป แต่เป็นได้แค่การซื้อเวลา เตะถ่วงออกไป เรื่องไม่เดินหน้าไปไหน

เรื่องนี้ พนักงานของแคทต้องเรียกร้องหาคำตอบจากทั้งรมว.ดีอี รวมไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ให้กล้าตัดสินใจ ถ้าข้อตกลงนี้ไม่เกิดขึ้น ยืนยันได้ว่าแคทจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากเสาสัญญาณทั้ง 9,500 แห่ง และโครงข่ายไฟเบอร์ซึ่งต้องใช้งานร่วมกัน และนี่คือค่าเสียโอกาสของแคทที่รัฐบาล และรมว.ดีอี อาจต้องรับผิดชอบ

***รวมกันเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

ความร่วมมือระหว่างแคทและ ดีแทค เป็นบริษัท JV คือประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย เป็นการยุติปัญหาข้อพิพาทเกือบทั้งหมด เป็นการสร้างพันธมิตรที่จะทำธุรกิจร่วมกันไปในระยะยาวแคทจะได้รับเงินชดเชยทันที พร้อมมีรายได้เป็นเงินปันผลจากค่าเช่าโครงข่าย ส่วนดีแทคจะสามารถขยายโครงข่ายเพื่อให้บริการและแข่งขันในตลาดได้ทันทีเช่นเดียวกัน และการร่วมลงทุนครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบให้กับการร่วมลงทุนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมนี้ด้วย

สุดท้ายต้องย้อนกลับมาถามรัฐบาลชัดๆ อีกครั้งว่ามีนโยบายอย่างไรกับรัฐวิสาหกิจ 2 รายนี้ ที่มีพนักงานร่วมกันมากกว่า 25,000 คน และถ้ากระทรวงดีอีปล่อยเกียร์ว่างไม่ทำหรือไม่กล้าทำอะไรเลย รัฐบาลจะทำอย่างไรต่อไป เพราะยิ่งช้าโอกาสก็ยิ่งหมดไปทุกที

ความไม่จริงใจ หมกเม็ดไม่ผลักดันการแสวงหาพันธมิตร เพื่อสร้างรายได้ และโอกาสที่จะอยู่รอดในอนาคตให้ทีโอทีและแคท แต่เลือกที่จะทำสิ่งที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจฯ ของทั้ง 2 องค์กรคัดค้าน อย่างรุนแรง อย่างการตั้งบริษัทลูกอย่างบริษัท NGN และบริษัท NGDC ที่เหมือนเป็นตะแกรงร่อนของดีและของเสียออกจากกัน ทั้งคนและทรัพย์สิน เพราะเป็นการโอนถ่ายธุรกิจที่มีอนาคต เช่น โครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ บริการบรอดแบนด์ บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ไปตั้งบริษัทใหม่ ที่คาดว่าจะมีพนักงานย้ายไปอยู่จำนวนพันกว่าคน โดยบริษัทแม่อย่าง ทีโอที และแคท จะเหลือพนักงานรวมกันมากกว่า 20,000 คน

ทั้งหมดทำให้คิดไม่ได้ว่า ทรัพย์สินและบุคลากรที่ดี ที่ถูกคัดกรองมายังบริษัทลูก อาจเป็นเป้าหมายของกลุ่มทุนที่ชอบชักใยเบื้องหลังผู้มีอำนาจกำหนดนโบาย จ้องฮุบในอนาคตอันใกล้ 3 ปีหรือ 5 ปีก็อาจเป็นได้ เพราะในยุครัฐบาลการเมืองที่คำนึงถึงประชาชน อาจไม่กล้าทำสิ่งที่หักหาญกันชัดเจนเยี่ยงนี้ เพราะความอยู่รอดของทีโอที และ แคท ที่ชัดเจนไร้แรงต่อต้านนอกจากคู่แข่งในอุตสาหกรรม กลับได้รับแต่การเพิกเฉยไม่เหลียวแล

แต่นโยบายที่อ้างการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน ลดการลงทุนซ้ำซ้อน ที่แฝงวาระซ่อนเร้น ถูกต่อต้านจากสหภาพฯ และพนักงานที่ทำงานในองค์กรมาชั่วชีวิต กลับกลายเป็นเรื่องที่ต้องรีบทำให้เสร็จโดยเร็ว และเป็นความจำเป็นเร่งด่วนชนิดที่ฉุดไม่อยู่

ต้องการกันอย่างนี้หรือ !!!
กำลังโหลดความคิดเห็น