xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” เร่งโครงการดีอี ต้องเห็นรูปธรรมปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“สมคิด” ตรวจงาน “พิเชฐ” ชมเปราะทำงานดี ไม่กังวลโครงการไหนเป็นพิเศษ แต่ขอให้สร้างผลงานเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ โดยเฉพาะโครงการดิจิตอลพาร์ค ไทยแลนด์ ต้องปักหมุดให้ได้ ด้าน “พิเชฐ” ปรับแผนทันใจ เร่งสร้างสถาบัน IoT ให้ทันปีนี้จากเดิมตั้งเป้าปีหน้า คาดคลอดพิมพ์เขียวทั้งโครงการก่อน ก.ย. เพื่อง่ายต่อการจับจองพื้นที่

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยม และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ว่า นายพิเชฐ ดุงรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ทำโครงการได้คืบหน้าเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นโครงการเน็ตประชารัฐ ขณะนี้ดำเนินการติดตั้งไปแล้ว 14,000 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 24,700 หมู่บ้าน ดังนั้น จึงไม่ได้มีความกังวลโครงการใดเป็นพิเศษ แต่ขอให้ทำโครงการเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ หากไม่มีคน ก็ให้ยืมกำลังคนจากกระทรวงอื่นมาช่วย

สำหรับโครงการเน็ตประชารัฐ ขอให้คิดเชื่อมโยงการนำโครงสร้างพื้นฐานไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การใช้เทคโนโลยีพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การพัฒนาตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขทางไกลให้เกิดประโยชน์ และได้ผลที่เป็นรูปธรรม ให้ประชาชนและผู้ประกอบการใช้บริการได้จริง ทั้งนี้ ขอให้บูรณาการทำงานระหว่างหน่วยภาครัฐ และเอกชน ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนา

ส่วนโครงการดิจิตอลพาร์ค ซึ่งอยู่ระหว่างการทำมาสเตอร์แพลนนั้น ขอให้ทำแผนลงรายละเอียดให้ชัดเจนว่า บริษัทที่จะเข้ามาลงทุนจะอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง โดยขอให้มีสิ่งปลูกสร้าง และความชัดเจน ของพื้นที่โครงการเกิดขึ้นภายใน 1 ปี เพื่อให้บริษัทต่างประเทศเกิดความมั่นใจที่จะมาตั้งสำนักงาน

“ปีนี้ต้องมีการปักหมุดโครงการได้แล้ว แต่จะปักหมุดยังไง ขอให้รัฐมนตรีพิเชฐ เป็นคนคิด ทำยังไงก็ได้ให้เกิดความเชื่อมั่น”

ด้านนายพิเชฐ เปิดเผยว่า จากการที่ รองนายกฯ สมคิดขอให้โครงการโดยเฉพาะดิจิตอลพาร์ค ไทยแลนด์ เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปีนี้นั้น ทำให้กระทรวงดีอีต้องเร่งปรับแผนการจัดตั้งเป็น “สถาบัน IoT (Internet of Things)” ในพื้นที่นี้ให้เสร็จภายในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มสร้างอาคาร IoT ได้ในช่วงปี 2561 โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ก.ย. นอกจากนี้ จะเร่งสร้างผังการลงทุนในพื้นที่ 700 ไร่ ให้เอกชนเห็นภาพได้เพื่อจัดแสดงในงาน Digital Thailand Big Bang 2017 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 ก.ย. นี้

นอกจากนี้ ในช่วงเดือน ก.ย. นี้ นักลงทุนจากญี่ปุ่น จำนวน 500 คน จะเดินทางเข้ามาในไทย เพื่อเข้ามาดู โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ก็จะนำนักลงทุนญี่ปุ่นไปดูโครงการดิจิตอลพาร์ค ไทยแลนด์ ซึ่งหากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนจัดตั้ง IoT ในไทย จะเป็นผลดีต่อทั้งอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่อยู่ในไทย ทั้งในอีอีซี และเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อย่างมาก ซึ่งการลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษในหลายด้าน

ขณะเดียวกัน พร้อมส่งเสริมให้เอกชนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนใน IoT ที่จะจัดตั้งขึ้นในไทยเช่นกัน โดยขึ้นอยู่กับว่า ประเทศใดที่จะมีความพร้อมเข้ามาลงทุนก่อน รวมถึงประเทศจีน ที่ได้เชิญชวนให้บริษัทหัวเว่ย ขยายการลงทุนเช่นกัน ซึ่งการลงทุนในการจัดตั้งสถาบัน IoT ในไทย กระทรวงดีอีจะเปิดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนในพื้นที่ในสัดส่วนที่มากสุด รวมถึงมีสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยร่วมมือพัฒนา

ทั้งนี้ ตามแผนงานของกระทรวงในช่วงปีแรก 2560 ได้เริ่มศึกษาโครงการรายละเอียดของแผน ดิจิตอลพาร์ค ไทยแลนด์ ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ในปีสอง คือ 2561 จะลงทุนดำเนินการก่อสร้างอาคารเบื้องต้น ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา มีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่จากต่างประเทศหลายราย ได้ขยายโครงการลงทุนด้านดิจิตอลในพื้นที่อีอีซีแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น