xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีคาดตั้งสถาบัน IoT ในดิจิตอลพาร์คปี 2561

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พิเชฐ” มั่นใจปีหน้า ดึงเอกชนญี่ปุ่นร่วมลงทุนตั้งสถาบัน IoT ในพื้นที่ดิจิตอลพาร์คไทยแลนด์ ล้อการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย หวังนำเทคโนโลยีต่อยอดเพื่อให้ไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี IoT คาดใช้งบลงทุนพันล้าน

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า การผลักดันการลงทุนในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอล หรือ ดิจิตอลพาร์คไทยแลนด์ (Digital Park Thailand) เตรียมจะดำเนินการให้จัดตั้งเป็น สถาบัน IoT (Internet of Things) ขึ้นมาเป็นแห่งแรกในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมภาคเอกชนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย และเป็นผลดีต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมหลายด้าน ๆ คาดว่าจะเริ่มสร้างอาคาร IoT ได้ในช่วงปี 2561

สำหรับช่วงเดือน ก.ย. นี้ ที่นักลงทุนจากญี่ปุ่น จำนวน 500 คนจะเดินทางเข้ามาในไทยเพื่อดูโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ก็จะนำนักลงทุนญี่ปุ่นไปดูโครงการดิจิตอลพาร์คไทยแลนด์ ซึ่งหากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนจัดตั้ง IoT ในไทย จะเป็นผลดีต่อทั้งอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่อยู่ในไทย ทั้งในอีอีซี และเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างมาก ซึ่งการลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษในหลายด้าน

ขณะเดียวกัน พร้อมส่งเสริมให้เอกชนจากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนใน IoT ที่จะจัดตั้งขึ้นในไทยเช่นกัน โดยขึ้นอยู่กับว่า ประเทศใดที่จะมีความพร้อมเข้ามาลงทุนก่อน รวมถึงประเทศจีน ที่ได้เชิญชวนให้บริษัท หัวเว่ย ขยายการลงทุนเช่นกัน ซึ่งการลงทุนในการจัดตั้งสถาบัน IoT ในไทย กระทรวงดีอีจะเปิดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนในพื้นที่ในสัดส่วนที่มากสุด รวมถึงมีสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยร่วมมือพัฒนา

ทั้งนี้ ตามแผนงานของกระทรวงในช่วงปีแรก 2560 ได้เริ่มศึกษาโครงการรายละเอียดของแผน ดิจิตอลพาร์คไทยแลนด์ ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ในปีที่สอง คือ 2561 จะลงทุนดำเนินการก่อสร้างอาคารเบื้องต้น ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา มีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่จากต่างประเทศหลายราย ได้ขยายโครงการลงทุนด้านดิจิตอลในพื้นที่อีอีซีแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น