กระทรวงดีอี รับเป็นกาวประสาน ทีโอที- กสทช. ขับเคลื่อนนโยบายดีอี เพิ่มเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานเป็น 10 หลัก หวังนำเลขหมายเดิมให้ กสทช. จัดสรรเลขหมายโทรศัพท์มือถือที่กำลังจะขาดแคลน คาดเสร็จภายในปี 2564 ส่วนเงินกองทุนดีอีที่ กสทช. ให้ยังใช้งานไม่ได้ ต้องรอตั้งผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาการใช้งบประมาณก่อน
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมหารือกับ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองหน่วยงานเข้าร่วมการหารือเมื่อวันที่ 23-24 มิ.ย. 2560 ที่ อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ ว่า ได้มีการหารือเกี่ยวกับเลขหมายโทรศัพท์มือถือ และประจำที่
โดยการเพิ่มตัวเลขของเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่จาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก จากเดิมขึ้นต้นด้วย 02, 03, 05 และ 07 ต่อด้วยเลขหมาย 7 หลัก ก็จะมีการเพิ่มเลข 1 ต่อท้ายเลข 0 สำหรับโทรศัพท์ประจำที่ทุกเบอร์ เพื่อให้มี 10 หลัก อย่างเช่น 01-2xxx-xxxx, 01-3xxx-xxxx, 01-5xxx-xxxx และ 01-7xxx-xxxx
จากนั้นจะนำเบอร์นำหน้าของโทรศัพท์ประจำที่เดิมมาใช้เป็นเลขหมายโทรศัพท์มือถือ ทำให้โทรศัพท์มือถือจะมีเลขหมายขึ้นต้นด้วย 02, 03, 05 และ 07 ทำให้โทรศัพท์มือถือมีเลขหมายเพิ่มขึ้นเป็น 760 ล้านเลขหมาย จากเดิมที่เหลือให้จัดสรรเพียง 52.5 ล้านเลขหมาย คาดว่าจะหมดลงในปี 2564 ขณะที่โทรศัพท์ประจำที่จะมีเพิ่มขึ้นจาก 50 ล้านเลขหมาย เป็น 100 ล้านเลขหมาย
สำหรับกระบวนการทำงาน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ กสทช. จะต้องหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ลงตัวว่า จะใช้งบประมาณเท่าไหร่ แม้ว่าที่ผ่านมา จะยังตกลงกันไม่ได้ ทำให้เรื่องค้างคา แต่ครั้งนี้ ตนเองจะเป็นตัวกลางในการประสานงานให้เรื่องนี้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะทุกฝ่ายต้องทำงานภายใต้นโยบายดีอี และต้องนำเรื่องการปรับปรุงโครงข่าย นำเข้าคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) พิจารณา
เบื้องต้น ทีโอทีต้องของงบประมาณจาก กสทช. เพื่อปรับปรุงโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ให้เสร็จภายในปี 2562 เพื่อให้ กสทช. เสนอสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู บริหารจัดการคลื่นไม่ให้รบกวนกัน ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ดังนั้น คาดว่าภายในปี 2564 เรื่องการเพิ่มเลขหมายโทรศัพท์จะต้องเสร็จสิ้น จากนั้น ประชาชนผู้ใช้งาน ตลอดจนเอกชนผู้ใช้บริการ จะสามารถใช้เบอร์เก่า และเบอร์ใหม่ที่เพิ่มหมายเลขควบคู่กันได้ทั้ง 2 เบอร์ก่อนเป็นเวลา 1 เดือน จากนั้น ถึงจะเปลี่ยนใช้เบอร์ใหม่ถาวร
ส่วนเรื่องบประมาณที่ กสทช. ได้มอบให้กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตาม พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม งวดแรก เป็นจำนวน 127 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินงานในการขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนั้น ภายในไม่กี่เดือนนี้กระทรวงดีอี จะลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับ กสทช. เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับผู้บริหารในอนาคต หากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อให้มีความเข้าใจ และสามารถเดินหน้าการทำงานได้ไม่สะดุด
ขณะที่เงินรายได้ที่ได้มานั้น ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะยังอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ซึ่งมีรองนายก พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน แต่ยังขาดรายชื่อของผู้ทรงคุณวุฒิ เนื่องจากผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวจะต้องคัดเลือกจาก 3 ใน 8 คน ของผู้ทรงคุณวุฒิจากบอร์ดดีอี ซึ่งยังอยู่ระหว่างการแต่งตั้งเช่นกัน
ส่วนกฎระเบียบเกี่ยวกับการบริหารกองทุนฯ ก็ยังอยู่ระหว่างการยกร่างเพื่อให้มีการบริการที่ยืดหยุ่น โดยตนเองได้กำชับ เลขาธิการกองทุนและเลขาธิการบอร์ดดีอี นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา แล้ว ให้เน้นหนักเรื่องนี้
นอกจากนี้ ยังได้ตั้งคณะกรรมการชั่วคราว เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ ระหว่างที่รอ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. และ ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... ผ่าน โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมให้ความรู้เรื่อง Cyber Security สู่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่เยาวชน
พร้อมมอบหมายสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สพธอ. หรือ ETDA พิจารณากลไกการทำงานร่วมของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สร้างความมั่นใจ และดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ และมอบหมายให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สำรวจความต้องการใช้งานดาต้า เซ็นเตอร์ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน
ส่วนเรื่องโครงการเน็ตประชารัฐนั้น กระทรวงดีอี มีความเห็นว่า หาก กสทช. จะกำหนดราคาค่าบริการที่ถูกกว่าท้องตลาดก็ไม่ขัดข้อง แต่หากเป็นโครงการเน็ตประชารัฐของกระทรวง และ กสทช. ทำงานร่วมกัน ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคา
ส่วนการใช้บริการเน็ตประชารัฐ ประชาชนสามารถลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว และใช้งานได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ (Single Sign-On) โดยการลงทะเบียนประชาชนสามารถใช้เลขหมายโทรศัพท์มือถือเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนด้วยหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน
ทั้งยังมอบหมายให้ น.อ. สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดีอี พิจารณาทบทวนการกำหนดพื้นที่ในการดำเนินงานตามโครงการเน็ตประชารัฐ โดยให้พิจารณาเพิ่มเติมในพื้นที่ EEC เป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายสนับสนุนพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล
“นับจากนี้ทุก 2 เดือน กระทรวงดีอี และ กสทช. จะประชุมร่วมกัน โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้งานเดินหน้า เพราะการประชุมร่วมกันครั้งล่าสุดนี้ ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี” รมว. ดีอี กล่าว