นายกรัฐมนตรี เป็นประธานถกคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ด้าน รมว.ดิจิทัล เผยรับทราบความคืบหน้ายกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม มุ่งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตทุกหมู่บ้าน ตั้งงบ 1.5 หมื่นล้านสร้างเน็ตประชารัฐ ใช้ 5 พันล้านผุดฮับอาเซียน ชงเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลที่ศรีราชา เห็นชอบโครงการดิจิทัลชุมชน สร้างรายได้ผ่านธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
วันนี้ (20 เม.ย.) ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2560 ต่อมาเวลา 12.00 น. นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรวมถึงบทบาทภารกิจของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้แต่งตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 เป็นต้นมา โดยที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเป็นการวางรากฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ โดยมุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน และการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วยกิจกรรมที่ 1. การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการในชื่อโครงการ “เน็ตประชารัฐ” และกิจกรรมที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) วงเงิน 5,000 ล้านบาท ได้มอบหมายให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ โดยทั้งสองกิจกรรมมีความคืบหน้าตามลำดับเป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้
นายพิเชฐกล่าวว่า ทั้งนี้ยังได้นำเสนอแนวความคิดการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) เพื่อสนองตอบการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลใน 2 นโยบายหลัก ได้แก่ นโยบายประเทศไทย 4.0 และนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของไทยเอง และการประยุกต์ใช้ดิจิทัลในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยจะดำเนินการบนพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ บริเวณอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์โทรคมนาคมศรีราชา บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่ง Digital Park Thailand จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาค (Global Digital Hub) ที่มุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล บนพื้นฐานของการเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ (International Exchange Gateway) และศูนย์ข้อมูลของประเทศ (Data Center Hub) จากการพบปะหารือกับเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ หลายประเทศให้ความสนใจโครงการดังกล่าวนอกเหนือจากผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ
นายพิเชฐกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้เห็นชอบโครงการดิจิทัลชุมชน (Digital community) ซึ่งการพัฒนาดิจิทัลชุมชนระดับหมู่บ้านเพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ผ่านธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ตามนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 นั้น มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำสร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัย มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมและเข้าถึงทุกหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้อย่างเท่าเทียมกันโดยเน้นการทำธุรกิจ e-Commerce ชุมชนเพิ่มขีดความสามารถในการนำสินค้าที่มีคุณภาพมาซื้อขายข้ามภูมิภาค โดยอาศัยศักยภาพของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่มีเครือข่ายสาขาที่ทำการไปรษณีย์กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 5,000 แห่ง มีเครือข่ายเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ทั่วประเทศกว่า 25,000 คน มีเครือข่ายเส้นทางการขนส่งไปรษณีย์ มากกว่า 400 เส้นทาง ร่วมกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 24,700 หมู่บ้าน ตามโครงการเน็ตประชารัฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากช่องทางการจำหน่ายสินค้าไม่ว่าจะจำหน่ายหน้าร้าน ณ ที่ทำการไปรษณีย์ จำหน่ายผ่านแคตตาล็อก หรือจำหน่ายผ่านระบบซื้อขายสินค้าออนไลน์ (e-Market Place) รวมทั้งในเรื่องการกระจายสินค้านำส่งไปยังผู้ซื้อทั่วประเทศ (e-Logistics) และยังสามารถใช้ประโยชน์จากระบบการรับชำระเงิน (e-Payment) ทั้งแบบชำระด้วยเงินสด ชำระเงินออนไลน์ และการเก็บเงินปลายทาง (COD: Cash on Delivery) ทั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจชุมชนซึ่งรวมถึงชาวบ้านที่มีสินค้าและบริการท้องถิ่น ที่จะจำหน่ายในช่องทางใหม่ และผู้ประกอบการท้องถิ่นหรือ “โชห่วย” ที่จะเป็นศูนย์บริหารและกระจายสินค้าชุมชนระดับหมู่บ้านที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้จะมีการฝึกอบรมทั้งโชห่วยและชาวบ้านครั้งใหญ่ตามมา
นายพิเชฐกล่าวด้วยว่า ในตอนท้ายที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาระเบียบและหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและฉับไวต่อไปด้วย