บอร์ด กสทช. อนุมัติคลื่น 850 MHz ของดีแทค-กสท โทรคมนาคม ที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานภายในเดือน ก.ย. 61 และคลื่น 400 MHz อย่างละ 5 MHz ให้กระทรวงคมนาคมใช้ทำระบบรถไฟความเร็วสูง ฟรี นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติคลื่น 920-925 MHz ใช้ในเทคโนโลยี IoT
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ได้อนุมัติให้ใช้งานคลื่นความถี่ 850 MHz ที่อยู่ในสัญญาสัมปทานระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561 นำไปให้กระทรวงคมนาคม จำนวน 5 MHz สำหรับทำระบบคมนาคมขนส่งทางราง หรือรถไฟความเร็วสูง ในโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-จีน และอนุมัติคลื่น 400 MHz จำนวน 5 MHz สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น
หลังจากที่กระทรวงคมนาคมทำหนังสือขอมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ กสทช. ได้ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาการใช้งานของคลื่นแล้วพบว่าไม่รบกวนกันแน่นอน จึงได้อนุมัติให้ภาครัฐนำไปใช้งานเพื่อให้โครงการของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ โดยมีเงื่อนไขจะต้องมีการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวภายในไม่เกินปี พ.ศ. 2563 ซึ่งหากไม่มีการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว เงื่อนไขการอนุญาตก็ให้สิ้นผลไป
“คลื่นนี้เราให้ไปเลย ไม่ได้คิดว่ามูลค่าเท่าไหร่ เพราะรัฐขอมา มันเป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งจริง ๆ แล้วหากนำไปประมูล 10 MHz มูลค่าเริ่มต้นอยู่ที่ 70,000 ล้านบาท ถ้า 5 MHz ก็ประมาณ 35,000 ล้านบาท แต่เราไม่อยากคิด เพราะมันจะไม่จบ เราต้องการให้โครงการรัฐเดินหน้า ถามว่าจะเป็นการเอื้อให้เอกชนต่างชาติหรือไม่ มันไม่ใช่เลย เพราะมันคมนาคมเขาทำสัญญาอีกสัญญาหนึ่งไม่เกี่ยวกับ กสทช. ส่วนที่เหลืออีก 5 MHz เราก็จะนำไปประมูลต่อไป ซึ่งต้องประมูลล่วงหน้าก่อน 15 ก.ย. 2561 ซึ่งในช่วงนั้นคลื่น 1800 MHz ของดีแทค ก็จะหมดสัญญาสัมปทานด้วยเช่นกัน ก็จะนำมาประมูลล่วงหน้าพร้อมกัน ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 400 MHz เป็นคลื่นความถี่ที่ปัจจุบันใช้งานทางด้านวิทยุสื่อสารที่หน่วยงานภาครัฐใช้อยู่ เราสามารถโยกการใช้งานเพื่อนำคลื่นมาให้กระทรวงคมนาคมได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินเยียวยา”
นายฐากร กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 920-925 MHz เพื่อรองรับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และเห็นชอบให้นำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวกับการใช้คลื่นความถี่ 920-925 MHz จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 920-925 MHz 2. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคม และอุปกรณ์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมประเภท Radio Frequency Identification : RFID และ 3. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมที่ไม่ใช่ประเภท Radio Frequency Identification : RFID ซึ่งใช้คลื่นความถี่ย่าน 920-925 MHz และแนวทางการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อรองรับการใช้งานในลักษณะ Internet of Things (IoT) ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ คาดใช้เวลา 45 วัน จากนั้น จึงนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่ออนุมัติอีกครั้งหนึ่ง
“ปัจจุบันคลื่นนี้ใช้กับวิทยุสมัครเล่น เราก็เพิ่มเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการที่จะทำ IoT มาขอใบอนุญาตในคลื่นนี้ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเทคโนโลยีมาแล้ว อย่างบีเอ็มดับบลิว เขาก็เตรียมนำรถไร้คนขับเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยแล้ว กสทช. จึงต้องรีบอนุมัติเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยี”
***ส่งเงินประมูลทีวีดิจิตอลงวด 4 เข้าคลัง
นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. นำเงินค่าประมูลดิจิตอลทีวี งวดที่ 4 จำนวน 4,215.15 ล้านบาท ส่งเข้ากระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้ การนำเงินส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินของสำนักงาน กสทช. ในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 80/2557 ข้อ 5 ที่กำหนดให้สำนักงาน กสทช. นำเงินรายได้จากการประมูลตามมาตรา 41 วรรคหก แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 หลังหักค่าใช้จ่ายส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน