กสท โทรคมนาคม เปิดใช้เคเบิลใต้น้ำ APG รองรับทราฟิกพุ่งสูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คาดแนวโน้มความต้องการแบนด์วิดท์อีก 3 ปีข้างหน้าโตอีก 6 เท่า ลั่นปีหน้าพร้อมเดินหน้าทำโครงการเกตเวย์แห่งชาติ มูลค่า 5,000 ล้านบาท
นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดและการขาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปริมาณความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มีการเติบโตสูงมาก โดยมาจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้ง 4G และ Internet of Thing (IoT) ทำให้คนบริโภคคอนเทนต์มากขึ้น ส่วนใหญ่ 70% ใช้กูเกิล และ 10-20% ใช้เฟซบุ๊ก
ประกอบกับการขยายฐานการให้บริการของผู้ให้บริการคอนเทนต์รายใหญ่ อาทิ Google, Youtube, Facebook, Microsoft และ Akamai เข้ามาในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ที่ประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น รวมไปถึงการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ และการค้าในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ที่มีความต้องการใช้งาน Internet Bandwidth เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ กสท โทรคมนาคม ได้มีการวางแผนพัฒนาระบบเคเบิลใต้น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อประสิทธิภาพในการรองรับการใช้งานทั้งปัจจุบัน และอนาคต
ล่าสุด กสท โทรคมนาคม ได้เปิดใช้งานเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่ Asia Pacific Gateway (APG) เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ด้วยงบประมาณลงทุน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยระบบเคเบิลใต้น้ำ APG มีความยาวโดยประมาณ 10,900 กม. เชื่อมต่อตรงจากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ไต้หวัน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง ใช้เทคโนโลยีทันสมัยสามารถขยายแบนด์วิดท์ด้วยความเร็วในการรับส่งข้อมูลมากกว่า 54 เทราบิตต่อวินาที (Tbps) หรือมากกว่า 54 ล้านเท่าของความเร็ว 1 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) ซึ่งเป็นความจุแบนด์วิดท์สูงสุดกว่าทุกระบบ ที่ใช้งานอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน และเป็นจุดเด่นของระบบ APG ที่เพิ่มขีดความสามารถรองรับปริมาณข้อมูลที่หนาแน่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ APG ยังเพิ่มศักยภาพรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างประเทศร่วมกับเคเบิลใต้น้ำระบบต่างๆ ที่ใช้งานอยู่เดิม ทำให้ กสท โทรคมนาคม มีเคเบิลใต้น้ำที่ใช้งานรวม 6 ระบบ และเป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศรายเดียวที่เชื่อมโยงจากประเทศไทยไปยังทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งสามารถให้บริการอย่างมีศักยภาพ ตอบสนองการใช้งานในยุคที่มีความคับคั่งของข้อมูลบนแอปพลิเคชั่นที่หลากหลาย โดยเฉพาะการเปิดใช้ APG จะต่อยอดศักยภาพร่วมกับระบบ AAG (Asia America Gateway) ที่ กสท โทรคมนาคม ได้จัดสร้างก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเพิ่มเสถียรภาพโครงข่ายสื่อสารระหว่างประเทศ
นายดนันท์ กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการแบนด์วิดท์สำหรับการสื่อสารข้อมูล และอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย คาดว่าจะเพิ่มจาก 3 เทราบิตต่อวินาที เป็น 15-20 เทราบิตต่อวินาที หรือเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 6 เท่าภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยภายในปีหน้าบริการ CAT Internet Gateway จะเริ่มเปิดให้บริการวงจรเชื่อมโยงความเร็วสูงขนาด 100 Gbps ต่อพอร์ต เชื่อมต่อโดยตรงกับผู้ให้บริการคอนเทนต์รายใหญ่ในต่างประเทศ
สำหรับความคืบหน้าในการทำโครงการเกตเวย์แห่งชาติ มูลค่า 5,000 ล้านบาทนั้น ได้สรุปรูปแบบการทำโครงการกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เรียบร้อยแล้ว หากได้รับคำสั่งให้เริ่มดำเนินการก็สามารถทำได้ทันที