xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ผ่าน พ.ร.บ.ศาลยุติธรรม - ม.กาฬสินธุ์ - สื่อลามกเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ผ่านกฎหมายหลายฉบับ ควบ มรภ.กาฬสินธุ์ กับ มทร.อีสาน เขตกาฬสินธุ์ เป็น ม.กาฬสินธุ์, ร่างแก้ พ.ร.บ.สื่อลามกเด็ก, ร่าง พ.ร.บ.ศาลยุติธรรม กรณีองค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม, ขยายเวลาพิจารณากฎหมาย 7 ฉบับอีก 30 วัน

วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ. .... ใช้คณะกรรมาธิการเต็มสภาพิจารณาวาระ 2 เป็นรายมาตรา ซึ่งนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ. .... ชี้แจงหลักการเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ เพื่อให้มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ สามารถจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ บริหารได้โดยอิสระ มีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่ภายใต้กำกับดูแลของสภาสถานศึกษา

นอกจากนี้ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 59 โดยให้เพิ่มองค์ประกอบกรรมการสภามหาวิทยาลัย ให้มาจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ซึ่งไม่มีสมาชิกติดใจขออภิปรายมาตราดังกล่าว ขณะที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอให้มีการแก้ไขมาตรา 7 (6) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 6 ที่มหาวิทยาลัยมีภาระหน้าที่ทะนุบำรุงศาสนา ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามการเสนอแก้ไข ก่อนผ่านเห็นชอบวาระ 2 และ วาระ 3 ด้วยเสียง 176 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 6 รวมถึงเห็นด้วยกับบันทึกข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ จากนี้จะส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

จากนั้นที่ประชุมยังมีมติเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ข้อ 132 วรรค 3 อนุญาตให้นำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. .... กรณีความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก หลังจากที่ผ่านเห็นชอบวาระ3 ไปแล้ว กลับมาพิจารณาแก้ไขทบทวนถ้อยคำในมาตรา 4 และมาตรา 287/2 (2) เพื่อให้เกิดความถูกต้องสมบูรณ์ และใช้คณะกรรมาธิการเต็มสภาพิจารณาทั้งสองมาตรา ก่อนมีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติทั้งฉบับในวาระสามอีกครั้ง ด้วยเสียงเห็นด้วย 171 งดออกเสียง 4 ให้ส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาเรื่องขอขยายเวลาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) // ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... // ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... // ร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... // ร่างพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. .... ซึ่งเสียงที่ประชุมเห็นควรให้มีการขยายเวลาพิจารณาออกไปอีก 30 วัน ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้มีการขอขยายเวลาเกินกำหนด 3 ครั้ง จึงต้องอาศัยมติที่ประชุมขอยกเว้นใช้ข้อบังคับการประชุมสนช. ข้อ 103 เป็นการชั่วคราว ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบ 179 เสียง ให้มีการขยายเวลาพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับออกไปอีก 30 วันได้

ต่อมาที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานการพิจารณาศึกษาระบบการบริหารงาน ระบบบริหารงบประมาณ ระบบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น และระบบการจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นพิจารณาแล้วเสร็จ โดยนายบัญญัติ จันทน์เสนะ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้ชี้แจงสาระสำคัญของสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษในกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ซึ่งกรุงเทพมหานครยังผูกขาดอำนาจอยู่ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนเดียว ทำให้ขาดความคล่องตัวในการบริหารงาน และไม่สามารถทำหน้าที่บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนได้ จึงได้เสนอให้โอนอำนาจการบริการประชาชนรวมถึงกรณีฉุกเฉินจำเป็นให้เป็นหน้าที่ผู้อำนวยการเขต ขณะที่ปัญหาเมืองพัทยา ยังถูกจำกัดอำนาจในรูปแบบเทศบาลนคร ก็ให้เพิ่มอำนาจบริหารจัดการและมีรายได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติพิจารณาร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กรณีองค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม 3 วาระรวด เห็นชอบให้มีการประกาศใช้เป็นกฎหมาย 176 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง โดยศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงการแก้ไข ในมาตรา 18 เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่จะตามมาในอนาคต โดยมาตรา 18 (1) ให้อำนาจประธานศาลอุทธรณ์ทำหน้าที่ประธานกรรมการคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม หรือ ก.ศ. จากเดิมที่เป็นประธานศาลฎีกา เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนลำดับอาวุโสผู้พิพากษาในประเทศไทย และในมาตรา 18 (3) แก้ไขถ้อยคำตามระบบข้าราชการจากที่เคยใช้การจัดระดับมาตรฐานกลาง (ซี 11 ระดับ) เป็นการจัดระดับประเภทตำแหน่ง (4 ประเภท) และให้มีการแก้ไขบทเฉพาะกาลให้ผู้ที่เป็น ก.ศ.เดิม ยังทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าครบวาระในอีก 1 ปีเศษ


กำลังโหลดความคิดเห็น