xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ผ่านวาระแรกแก้ ป.วิ แพ่ง จบคดีที่ศาลอุทธรณ์ แก้คดีค้างคาเยอะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนช.รับหลักการวาระแรกแก้ ป.วิ แพ่ง ให้จบคดีที่ศาลอุทธรณ์ หากจะฎีกาต้องขออนุญาตศาล ขณะที่สมาชิกห่วงตัดสิทธิประชาชน คำตัดสินศาลอุทธรณ์ยังไม่มีมาตรฐาน ส่อกระทบความยุติธรรม ขณะที่ “วิษณุ” ระบุการเปลี่ยนจากระบบให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์มาเป็นระบบขออนุญาตศาลฎีกา เพื่อลดปัญหาคดีค้างคาจำนวนมาก ส่วนปัญหามาตรฐานศาลอุทธรณ์ต้องละเอียดในการคัดเลือกผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (19 ก.พ.) มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมการอุทธรณ์ฎีกา โดยสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้เสนอผ่าน ครม. มีเนื้อหาสาระในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของคดีที่จะสามารถนำมาพิจารณาในศาลฎีกาจำนวน 6 ข้อ ได้แก่ 1. ปัญหาเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ 2. เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดต่อแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลฎีกา 3. คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน

4. เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น 5. เพื่อเป็นการพัฒนาการตีความกฎหมาย และ 6. ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ซึ่งการพิจารณาจะขึ้นอยู่กับองค์คณะผู้พิพากษาที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้ง ประกอบด้วย รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาอย่างน้อย 3 คน

ทั้งนี้ สมาชิก สนช.ได้อภิปรายท้วงติงและสอบถามถึงความชัดเจนจากรัฐบาลว่า การออกกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการกระทบสิทธิของประชาชนหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมาได้รับรองการใช้สิทธิของประชาชนในการสู้คดีในชั้นศาลฎีกา

นายสมชาย แสวงการ สนช.กล่าวว่า แม้เดิมสิทธิของชาวบ้านในการสู้คดีสามารถทำได้ 3 ศาล จะเสียไปบ้างแต่ก็ยอมรับว่ามีทั้งข้อดีและเสีย แต่ข้อดีนั้นมีมากกว่า เพราะจะทำให้คดีได้รวดเร็ว และคืนความยุติธรรมได้รวดเร็วขึ้น ส่วนข้อกังวลต่างๆ เราได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาทนายความ สำนักงานอัยการ เนติบัณฑิตยสภา มาร่วมทำงานในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งตนเห็นด้วยต่อการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

นายธานี อ่อนละเอียด สนช.กล่าวว่า การแก้ไขจากสิทธิของประชาชนในการยื่นฎีกาได้ เป็นการขออนุญาตจากกรรมการจำนวน 4 คน จะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนหรือไม่ และที่ผ่านมาสภาทนายความ ก็คัดค้านเพราะไปตัดสิทธิของประชาชน อีกทั้งยังเป็นห่วงมาตรฐานของศาลอุทธรณ์ทั้ง 10 ภาคว่าจะตัดสินแตกต่างกันหรือไม่ ในคดีที่ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเหมือนกัน รวมทั้งยังเป็นห่วงการเรียนการสอนของนักศึกษาปริญญาตรี โท และเอก ที่ยึดถือคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งต่อไปจะอ้างอิงจากหลักการอะไร อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญ อยากถามว่ารัฐบาลได้สอบถามความคิดเห็น ตำรวจ สภาทนายความ กรมราชทัณฑ์ และประชาชนแล้วหรือยัง

นายตวง อันทะไชย สนช.กล่าวว่า ในสถานการณ์การเมืองเช่นนี้ สนช.ไม่ควรไปแก้ไขกฎหมายที่ตัดสิทธิของประชาชน และที่อ้างว่าแก้ไขเพื่อลดจำนวนคดี ตนเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะควรจะไปแก้เรื่องกลไกบริหารภายในของศาลฎีกาเองเสียมากกว่า

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เดิมประชาชนสามารถฎีกาคดีได้เรียกว่าเป็นระบบสิทธิ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคดีจะพิจารณา 3 ศาลเสมอไป และส่วนใหญ่ที่ผ่านไปถึง 3 ศาลต้องเป็นคดีปัญหาข้อกฎหมายเพราะต้องอาศัยการตีความ และเรื่องทุนทรัพย์ แต่ขณะนี้กำลังจะแก้ไขเป็นระบบอนุญาตที่ใช้หลายประเทศ ที่ให้ศาลฎีกา เป็นผู้อนุญาต ซึ่งคู่ความก็สามารถนำคดีขึ้น 3 ศาลเช่นเดิม แต่จะได้รับฎีกาหรือไม่จะดูสาระสำคัญหรือไม่ โดยผ่านกรรมการจำนวน 4 คนขึ้นมาพิจารณา ดังนั้นสิทธิในการยื่นฎีกายังเช่นเดิม แต่อยู่ที่ว่าจะอนุญาตหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันเราก็ใช้ในคดียาเสพติด และคดีคุ้มครองผู้บริโภค ที่จบเพียง 2 ศาลก็ประสบความสำเร็จมาแล้วเพราะชาวบ้านได้รับการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สาเหตุที่แก้กฎหมายเพราะมีผู้พิพากษาศาลฎีกาเพียง 140 คน โดยมีคดีแพ่งเข้ามาในศาลฎีกาเป็นดินพอกหางหมูปีละ 25,000 คดี ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆต่อไป และผู้พิพากษาในศาลฎีกาต้องทำคดี 1 คนต่อจำนวน 150 คดี ถือว่ามากเกินไป ส่วนจะเพิ่มจำนวนศาลฎีกาก็อาจสร้างปัญหาให้อีกมากมาย โดยเฉพาะมาตรฐานของศาลอาจลดลง อีกทั้งหากเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาก็ไม่เท่ากับจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้น

สำหรับมาตรฐานของศาลอุทธรณ์ที่มีมากถึง 10 ศาล กระจายอยู่ 10 ภูมิภาค โดยจะแก้ปัญหาให้ 10 ศาลประชุมกันบ่อยขึ้น เพื่อให้คำตัดสินเป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งออกข้อกำหนดควบคุมอีกด้วย ส่วนการคัดเลือกผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์จะต้องมีความละเอียดมีความรู้ ประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนกรณีนักศึกษาที่เดิมจะอ้างคำตัดสินของศาลฎีกา ซึ่งต่อจากนี้จะต้องมีหนังสือรวบรวมคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ เพื่อสร้างบรรทัดฐานต่อไป และที่ผ่านมา ครม.ก็ได้สอบถามความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดแล้วด้วยเช่นกัน

จากนั้นที่ประชุม สนช.เห็นชอบรับหลักการกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนน 168 ต่อ 9 คนเสียง เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาต่อไป โดยมีตัวแทนจากสภาทนายความ ที่เคยคัดค้านกฎหมายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องรวมอยู่ด้วยเพราะมองว่าเป็นการตัดสิทธิของประชาชนที่สามารถสู้คดีได้ถึง 3 ศาล พร้อมกำหนดวันแปรญัตติ 15 วัน







กำลังโหลดความคิดเห็น