xs
xsm
sm
md
lg

“นิคม” เงิบค้าน 16 สนช.ร่วมถกคดีถอดถอนไร้ผล แถมวืดเพิ่มพยานวัตถุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นิคม” ยื้อไม่สำเร็จ ประธาน สนช.วินิจฉัยให้ 16 สนช.ที่เป็นอดีต ส.ว.ร่วมพิจารณาอภิปรายถอดถอน เหตุทำตามหน้าที่ ขณะเดียวกันยังมีมติไม่รับซีดี 2 แผ่นเป็นวัตถุพยานเพิ่มในการสู้คดี หลัง ป.ป.ช.ยันมีครบแล้วในสำนวน อดีต ส.ว.รวมถล่ม “นิคม” พฤติกรรมผิดซ้ำซากยังไม่สำนึก ไร้มารยาทแทรกแซง สนช. ด้านเจ้าตัววอนใช้จิตสำนึกความเป็นคนให้ความเป็นธรรม สนช.กำหนดวันแถลงเปิดคดีสำนวนต้นปีหน้า “พรเพชร” เผยคิดพิจารณาเพิ่มพยานหลักฐาน “ยิ่งลักษณ์” พรุ่งนี้ ยังไม่รู้จะมาเองหรือไม่

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (27 พ.ย.) มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาวาระเร่งด่วนเรื่องดำเนินกระบวนการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฏร ออกจากตำแหน่ง โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม เพื่อดำเนินการถอดถอนนายนิคม และนายสมศักดิ์ ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสองของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542

อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้าสู่การพิจารณา นายพรเพชรได้แจ้งถึงกรณีที่นายนิคม ผู้ถูกกล่าวหาได้มีหนังสือขอคัดค้านการทำหน้าที่ สนช.16 คน พิจารณาและมีมติถอดถอน ประกอบด้วย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายมหรรณพ เดชพิทักษณ์ นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ นายสมชาย แสวงการ พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงศ์สุวรรณ นายบุญชัย โชควัฒนา นายวิทวัช บุยสถิต นพ.เจตน์ ศิระธรานนท์ นายสมพล พันธ์มณี นายสุธรรม พันธุศักดิ์ นายอนุศักดิ์ สุวรรณมงคล นายตวง อันทะไชย นายธานี อ่อนละเอียด และ พล.อ.เลิศฤทธิ์ เมฆสวัสดิ์ เนื่องจาก ผู้มีรายนามดังกล่าวเป็นผู้เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนตนออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาต่อประธานวุฒิสภา และคณะกรรมการ ป.ป.ช.

นอกจากนี้ ขณะดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว.ยังมีส่วนร่วมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่....พ.ศ.... เรื่องที่มา ส.ว.ในชั้นตอนต่างๆ ทั้ง 3 วาระ อันเป็นมูลเหตุของความขัดแย้งซึ่งเป็นที่มาในคดีนี้โดยตรง จึงเห็นว่า ส.ว.ทั้ง 16 มีฐานะเป็นคู่กรณีในเรื่องที่จะพิจารณา ย่อมตกเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยมีประโยชน์ขัดกันกับเรื่องที่พิจารณา โดยสภาพแล้วถือเป็นเหตุร้ายแรงอาจทำให้การพิจารณาของ สนช.ไม่เป็นกลางตามหลักกฎหมายมหาชนทั่วไปและตามหลักนิติธรรม จึงประสงค์ขอให้ ส.ว.ทั้ง 16 คนงดการเข้าร่วมประชุม งดการอภิปรายและงดการลงมติ ตลอดจนงดการทำหน้าที่อื่นใดในเรื่องดังกล่าวตลอดการพิจารณา และหากยังมีความประสงค์ที่จะทำหน้าที่เรื่องนี้ต่อไป ตนขอคัดค้านให้ความเป็นธรรมเพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับตน

นายพรเพชรกล่าวว่า กรณีดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าขณะที่อดีต ส.ว. 16 คนร่วมลงชื่อ เป็นการดำเนินการขณะที่ดำรงเป็น ส.ว.โดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มีบทบัญญัติรองรับไว้ตาม มาตรา 59, 64 และ 65 ดังนั้นถ้าพิจารณาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และกฎหมาย ป.ป.ช.จะเห็นว่าสมาชิกได้ดำเนินการตามหน้าทีและดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามตนอยากขอรับฟังความเห็นจากสมาชิกในประเด็นที่ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องคัดค้านดังกล่าว จากนั้นได้มีสมาชิกอภิปรายแสดงความเห็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ว.ที่นายนิคมได้ขอคัดค้านการทำหน้าที่ โดยยืนยันสิ่งที่ได้กระทำไปนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนด และด้วยความบริสุทธิ์ใจ

นายตวงกล่าวว่า ตนต้องการคุ้มครองคนที่ทำตามรัฐธรรมนูญ เพราะผู้ถูกกล่าวหาพูดความจริงข้างเดียว และไม่อาจมาร้องขอได้เพราะขัดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ขอให้สมาชิกจะต้องละเว้นหน้าที่ตัวเอง ให้งดร่วมระชุมงดอภิปราย และงดลงมติ เพราะในมาตรา 6 ให้พวกตนทำหน้าที่เสมือน ส.ส., ส.ว. ส่วนมาตรา 9 บังคับให้เข้าร่วมประชุม มิเช่นนั้นจะต้องสิ้นสุดสภาพ และเป็นการตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเอง

“พวกผม 16 คน ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ประกอบ พ.ร.บ. ป.ป.ช.ปี 2542 ให้อำนาจ ส.ว.ถอดถอนบุคคลที่กระทำความผิด หรือส่อว่าใช้อำนาจตนเองกระทำความผิด และสาธารณะชนก็รับทราบแล้ว ผลของการทำผิดของผู้ถูกร้อง ป.ป.ช.มีมติชี้ว่ามูล และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่ากระทำผิดชัดเจน การทำหน้าที่พวกผมจึงทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ที่เขียนไว้ว่ามีหน้าที่ร้องขอต่อ ป.ป.ช.ดำเนินการ นอกจากไม่สามารถทำตามร้องขอได้แล้ว โดยมารยาทและคุณธรรมที่มีในใจ หลังต่อสู้ให้สภารับหลักการ พวกผมพยายามไม่พูดเพื่อให้เห็นว่าไม่ได้มีจิตใจเอาเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่มีความคิดเคียดแค้น ทั้งหมดที่เราทำมาไม่มีจิตใจกลั่นแกล้งแต่เป็นเพราะผลการกระทำของผู้ถูกร้องเองที่ทำขัดรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอย่างชัดเจน”

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สนช.กล่าวว่า ตนได้อ่านหนังสือของผู้ร้องแล้ว รู้สึกไม่สบายใจว่าบุคคลภายนอกจะทำการก้าวก่ายอำนาจของสมาชิกที่มีโดยไม่สมควร เพราะ ส่วนตัวตนเคารพเป็นประธานรัฐสภามีเกียรติสูงสุด น่าเคารพ แต่ขณะนั้นทั้งสองประธานทำตัวอย่างไรถึงให้สมาชิกเรียกว่าประธานที่ผมเคยเคารพแสดงว่าเขาไม่เคารพแล้ว สมควรที่จะสำนึกหรือคิดได้ว่าสมาชิกคิดอย่างไรกับตนเอง ความไม่เหมาะไม่สม ไม่ว่าจะรวบรัดตัดตอนการอภิปรายของฝ่ายค้าน หรือเร่งรีบผ่านกฎหมายที่เอาอกเอาใจใครก็ตามโดยไม่ฟังเสียงโต้แย้งทักท้วงจากสมาชิกคนอื่น รวบรัดอย่างนี้เป็นประชาธิปไตยตรงไหน กฎหมายให้ถอดถอนได้ครั้งเดียว แต่พฤติกรรมของประธานที่ปฏิบัติมานั้นถอดถอนเจ็ดครั้งยังน้อยไป

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.การขอความเห็นเป็นนัยสำคัญ เพราะที่ร้องคัดค้านไม่ให้สมาชิกกระทำนั้น เป็นเรื่องหารือที่ไม่สามารถลงมติได้ เพราะสมาชิกทุกคนในห้องประชุมล้วนแล้วแต่ทำหน้าที่ทั้งสิ้น ทั้งร่วมการประชุม อภิปราย และลงมติ เป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัวที่ไม่สามารถล่วงล้ำได้ โดยเฉพาะการขอให้งดทำทุกหน้าที่ในกรณีนี้ สมาชิกได้ทำหน้าที่ไปแล้วตั้งแต่ต้น เมื่อกระบวนการเข้าสู่สภาฯ เพื่อขอความเห็นว่ารับไว้พิจารณาหรือไม่

นายสมชาย แสวงการ สนช.กล่าวว่า เปรียบเหมือนเราพบเห็นการกระทำความผิด ในหมู่บ้านชุมชน ทำหน้าที่พลเมืองถูกต้องตามกฎหมาย พบเห็นขโมยทรัพย์มีสิทธิ์แจ้งดำเนินคดี สิ่งที่นิคมทำเรื่องมาเกิดความเสียหายไขว้เขวต่อพวกตน ใช้คำว่า สมาชิก 16 คน ยังมีส่วนร่วมพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ ที่มา ส.ว. อันเป็นมูลเหตุความขัดแย้ง มีประโยชน์ขัดกัน โดยสภาพแล้วถือมีเหตุร้ายแรง พวกตนทำหน้าที่ ส.ว. ไม่ใช่คู่กรณี ขณะนี้ทำตามรัฐธรรมนูญ ปัจจุบัน และป.ป.ช. ถ้าเป็นเรื่องขัดกันผลประโยชน์ตรวจสอบอย่างไร ทั้งทางจริยธรรม และเหตุผลอื่นๆ เราทำหน้าที่ สนช.ไม่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์แน่นอน ผู้ร้องยังไม่ทราบว่าจะลงมติอย่างไรเพราะลับในคูหา เราไม่ได้แสดงความเกลียดชัง หรือทำอย่างใดให้เห็นเอนเอียงหรือไล่ล่า ขอยืนยันทำหน้าที่เป็นธรรมแน่นอน เจตนาชัดว่าต้องการให้จำนวนลงมติไม่ครบ 3 ใน 5 เป็นเรื่องปกติของผู้ร้อง เราทำน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ส่วนจะให้เราทำหน้าที่อย่างไร สุดแต่ประธานและที่ประชุมวินิจฉัย หลังจากสมาชิแสดงความเห็นแล้ว นายพรเพชร ได้วินิจฉัยให้คำร้องของนายนิคมตกไป แต่นายธานี อ่อนละเอียด ต้องการเสนอเป็นญัตติเพื่อให้เป็นมติของที่ประชุม แต่นายตวง แย้งว่า เมื่อประธานวินิจฉัยไปแล้วถือว่าเป็นอันสิ้นสุด ในที่สุดนายพรเพชรได้ยืนยันคำวินิจฉัยของตนและได้กำหนดวันที่ 8 ม.ค.2558 เวลา 10.00 น. เป็นการแถลงเปิดสำนวนและแถลงคัดค้านของผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา จากนั้นเป็นการพิจารณาการขอเพิ่มเติมพยานของผู้ถูกกล่าวหา มีการเชิญคู่กรณีทั้งสองฝ่ายประกอบด้วยนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขานุการ ป.ป.ช. นายธรรมนูญ เรืองดิษฐ์ ผู้ช่วยเลขานุการ ป.ป.ช. ส่วนอีกฝ่ายมีเพียงนายนิคมคนเดียว เพื่อให้คู่กรณีมาตรวจพยานหลักฐานที่ผู้กล่าวหายื่นขอเพิ่มเติมจำนวน 1 รายการ โดยเป็นซีดีจำนวนสองแผ่น

นายนิคมชี้แจงว่า ตนขอใช้สิทธิยื่นพยานวัตถุให้ที่ประชุมพิจารณาปรากฏในที่ประชุม ป.ป.ช.เป็นแผ่นซีดี จำนวน 9 แผ่น ความยาว 120 ชั่วโมง มติ ป.ป.ช.ไม่มีการนำเอาเหตุการณ์ที่ปรากฏในแผ่นซีดีมาวินิจฉัยและลงมติ อาจจะด้วยความรีบร้อน หรือข้อกล่าวหาเอกสารยาวมาก และตนได้เดินทางไปชี้แจงด้วยตนเอง ซึ่งองค์ประกอบคณะกรรมการ 8 คน มีเพียง 1 คนที่นั่งฟังตนจนจบคือ ประธาน ป.ป.ช.หลายคำถามที่ตนชี้แจง เช่น กรณีที่สมาชิกอภิปรายฝ่ายเดียวโดยไม่เคยมานั่งดูซีดี ถ้าด้วยใจเป็นธรรมจะไม่กล่าวหาเช่นนั้น โดยเฉพาะบางคนอภิปรายเหมือนเป็นหนึ่งในการประชุม จริงๆ กล่าวหาก้าวล่วงผิดข้อบังคับประชุม 161 และ ผิดมารยาทของสมาชิกอันทรงเกียรติ ซึ่งในซีดีของตนได้ย่อยเวลาให้เหลือ 4 ชั่วโมง เนื้อหาเป็นการเริ่มต้นวาระ 2 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นเหตุให้ ป.ป.ช.ลงมติว่าตนทำผิดจากข้อร้องของ 152 ส.ว. ใน 3 เรื่อง คือเรื่องที่ตนไปลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญ

2. ตนให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าสนับสนุนการมี ส.ว.จากเลือกตั้ง และหากประชาชนเรียกร้องให้ตนลงเลือกตั้งก็จะลง แม้ไม่ต้องการเพราะกลัวข้อครหา กลับมีการมโนภาพว่าตนให้ร้าย ส.ว. สรรหา 3. หาว่าตนรับญัตติปิดการอภิปราย ความจริงไม่ได้ดูเลย เพราะถ้าดูจะรู้การรับญัตติมี แต่มาตรา 5, 6, 7, 11 และ 11/1 เท่านั้น แต่โชคดีที่ ป.ป.ช.ที่อ่านตรงนี้ และตัดประเด็นที่ตนลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งความจริงตนลงชื่อแก้ไขในมาตรา 190 และมาตรา 237 รวมถึงยกคำฟ้องการแถลงข่าวในสื่อ เพราะ ถ้าตนทำผิดจรรยาบรรณจะต้องตั้งคณะกรรมการสอบ ได้ผลอย่างไรค่อยร้องไปที่ ป.ป.ช. แต่กลับรีบร้อนร้องไปที่ ป.ป.ช.เลย แม้แต่ประธาน ป.ป.ช.ยังบอกว่ากรณีนี้ต้องร้องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตนเป็นคนสอนหนังสือ ต้องออกไปต่างจังหวัดทุกอาทิตย์ เพื่อเผยแพร่ประชาธิปไตย และจริยธรรม จะหลงผิดได้อย่างไร ดีที่ ป.ป.ช.ยกคำฟ้องนี้ แต่ไม่ยกคำร้องข้อกล่าวหาว่าตนสนองรับญัตติที่ประชุม มีถ้าเป็นไปตามข้อบังคับมีคนประท้วงว่าทำผิดข้อบังคับ ตนมีหน้าที่อย่างเดียวคือต้องทำตามข้อบังคับประชุม จะพิจารณากฎหมายตนต้องดำเนินการตามข้อบังคับข้อที่ 99 คนที่ทำหน้าที่ประธานไม่มีสิทธิ์ทำอย่างอื่น

“การเสนอให้ปิดประชุมเป็นเอกสิทธิ์เด็ดขาดของสมาชิก มีผู้รับรองถูกต้อง เป็นหน้าที่ของผมต้องรับญัตตินั้น อยู่ๆ มาแนะไม่ให้รับญัตติ ท่านกำลังแนะนำไม่ให้ยึดหลักนิติธรรม ไม่ยึดหลักกฎหมายหลักนิติธรรมไม่สามารถมาบังคับหรือใหญ่กว่าหลักของรัฐธรรมนูญ ผมจำเป็นต้องเอาหลักฐานนี้มาย่อย เชื่อว่าทั้ง 120 กว่าชั่วโมง ป.ป.ช.ไม่มีโอกาสดูแน่นอน เพียงแค่ดู 4 ชั่วโมงก็เครียด ความดันสูงแล้ว วันนี้ผมผ่าวิกฤตว่าได้อย่างไรถ้ามีประธาน 3-4 คนวันนี้โดนฟ้องเหมือนผมหมด ในแผ่นซีดีนี้จะช่วยได้อ่าน ฟัง ดู แล้วจะเข้าใจ”

นายนิคมกล่าวว่า เมื่อมีการกล่าวหาว่าไม่เป็นกลาง และเรียกร้องร้องให้ตนหยุด ทั้งที่ตนบอกไม่ได้ลงชื่อ ไม่ได้อภิปราย ไม่ได้ลงมติเลย ตนเอาความรู้สึกเวลานั้นมาใช้ในเวลานี้เมื่อร้องตนได้ ตนก็ต้องร้องคัดค้านพวกท่าน เพราะหลักกฎหมายสากล หลักนิติธรรม จำเป็นต้องร้องค้านเพื่อขออำนวยความเป็นธรรมให้กับตน ตนทำทุกอย่าตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับกล่าวหาว่าไม่เป็นกลางเรียกร้องให้ลงจากการทำหน้าที่ประธาน

“ผมทำเพื่อเตือนสติ สนช.16 คนว่าเวลานั้นกำลังทำอะไรอยู่ ถ้าดูวิดีโอนี้แล้วมีจิตสำนึก มีความเป็นคนอยู่จะไม่กล่าวหาผมเช่นนั้น อย่างใส่ร้าย อย่าก้าวร้าว แล้วที่จะบอกว่าผมไม่มีความเป็นธรรม ไม่ปฏิบัติหน้าที่ น่าอาย ประวัติศาสตร์ต้องจารึก ไปเข้าชื่อแก้มาตรา 190 เพราะเห็นว่าไทยล้าหลังสู้เขาไม่ได้เพราะมาตรานี้ ผมรักชาติเช่นเดียวกับท่านอยากเห็นประเทศชาติได้เปรียบสามารถติดต่อค้าขายได้ ถ้าพวกท่านได้ดูซีดีของผมจะเห็นว่าใครกันแน่เจตนาให้แก้รัฐธรรมนูญ จะเห็นเทคนิคการประท้วง สะกิดกันแย่งไมค์ ดูแล้วเครียด เกรงสมาชิกอายุเยอะแล้ว อาจจะไม่ไหวหัวใจวายตายได้ รับไม่รับอยู่ที่พวกท่าน ข้อกล่าวว่าเพียงข้อเดียวว่ารับญัตติปิดประชุมแค่นั้นเอง เป็นการกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก ไม่สามารถชี้แจงที่ไหน ถือโอกาสชี้แจงต่อสภา ถ้ากรุณารับก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง”

ด้านตัวแทนผู้ร้องคือ นายวิชา กล่าวว่า คดีดังกล่าว ป.ป.ช.ไม่ได้ดำเนินการไต่สวนถอดถอนโดยตัวเอง แต่เป็นการทำหน้าที่แทนวุฒิสภาตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ให้ ป.ป.ช.เป็นเครื่องมือหนึ่งในการถอดถอนของ ส.ว. เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจึงส่งเรื่องกลับมาในช่วงที่มี สนช.แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของ สนช.ต้องดำเดินการถอดถอนต่อจาก ส.ว.ชุดเก่า โดยยึดหลักนิติธรรม

นายวิชายืนยันว่า การดำเนินการไต่สวนเป็นไปตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด การที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ขอให้สิทธิ์ตามข้อบังคับเพิ่มเติมพยานหลักฐานเป็นแผ่นซีดี 2 แผ่นนั้น ตนได้ตรวจสอบแล้วและขอให้สมาชิกได้พิจารณาสำเนารายงานผลการตรวจสอบจำนวน 110 หน้าที่ ป.ป.ช.จัดส่งมาจะพบว่า วัตถุพยานดังกล่าวที่ผู้ถูกร้องขอเพิ่มเติมนั้น องค์คณะไต่สวนของ ป.ป.ช.ได้รวบรวมไว้ในสำนวนหมดแล้วตั้งแต่ก่อนพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่ได้เป็นเพียงแผ่นซีดี 9 แผ่น แต่เป็น 91 แผ่น ซึ่งทั้งหมด ป.ป.ช.ได้ดำเนินการต่อจากการไต่สวนและมีคำวิจิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเราได้รับวัตถุพยานเหล่านี้จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาตามที่ได้ร้องขอไป นอกจากนี้เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปโดยง่ายและไม่จำเป็นต้องไปเปิดดูซีดีทั้งหมด วัตถุพยานในสำนวนก็ยังมีสำเนาบันทึกรายงานการประชุมในกรณีดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งสมาชิกสามารถตรวจดูได้ตามหัวข้อ ยืนยันว่าเราให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาในการตรวจสอบพยานหลักฐาน แต่ที่ผ่านมาผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ใช้สิทธิ์ อาจเข้าใจว่ารู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว และ ป.ป.ช.ยังให้โอกาสในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาซึ่งท่านก็ได้ใช้สิทธิไปชี้แจงวันที่ 12 ก.พ. 2557 โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาทุกข้อ พร้อมกับมอบเอกสารประกอบการชี้แจง และขอให้เรียกพยานบุคคลเข้าชี้แจงอีกจำนวนหลายมาก ป.ป.ช.ก็เรียกสอบทุกคนไม่มีการตัดพยาน ดังนั้นพยานหลักฐานที่ผู้ถูกกล่าวหานำมาขอให้เพิ่มเติมจึงไม่ใช่พยานหลักฐานที่เราไม่อนุญาต หรือไม่มีในสำนวน แต่ทุกอย่างปรากฏครบถ้วนหมดแล้วในสำนวน ที่ผ่านมาเราให้โอกาสอย่างที่สุด เพราะพิจารณาเห็นว่า การทำหน้าที่ของท่านในฐานะประธาน และสมาชิกทั้งหลายเป็นการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนปวงชนชาวไทย แต่เมื่อมีการร้องเรียนและศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว เราก็ต้องดำเนินการตามหน้าที่ให้เกิดความเป็นธรรมที่สุด”

ต่อมานายนิคมได้แย้งถึงความจำเป็นที่ต้องการให้ที่ประชุมรับพยานหลักฐานที่ขอเพิ่มเติม โดยอ้างว่าซีดีทั้งสองแผ่นจะเป็นสิ่งที่ชี้ว่า ข้อเท็จจริงผิดไปจากเอกสารหลักฐานที่ ป.ป.ช.ใช้ในการสรุปและกล่าวหาตน โดยมีการยกตัวอย่างว่า เช่น สำนวน ป.ป.ช.ระบุว่าตนรับญัตติปิดอภิปรายทั้งที่ยังมีผู้ขออภิปรายอยู่ในมาตรา 5 แต่ถ้าไปดูในซีดี จะพบว่าจะมีทั้งผู้ขอเปิดและขอปิดการประชุม ซึ่งตนรับญัตติปิดการประชุมในช่วงที่ไม่มีใครขออภิปรายแล้ว ข้อความในลักษณะอย่างนี้ ป.ป.ช.รับฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานที่มีอยู่ ตนขอใช้สิทธิตามข้อบังคับเพื่อให้เพิ่มพยานหลักฐานที่เห็นว่ามีความแตกต่างและเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่

จากนั้นนายพรเพชรได้ขอมติต่อที่ประชุมว่าจะรับพยานหลักฐานของนายนิคมไว้เพิ่มเติมหรือไม่ โดยมีองค์ประชุมจำนวน 192 เสียง โดยสมาชิกจำนวน 96 ต่อ 82 เสียงไม่เห็นด้วย งดออกเสียง 14 เสียง จึงถือว่าหลักฐานดังกล่าวสมาชิกจะนำมาพิจารณาเพิ่มเติมไม่ได้ และได้กำหนดให้สมาชิกที่ต้องการจะยื่นญัตติซักถามสามารถแสดงความจำนงได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 7 ม.ค. 58 ในเวลาราชการ

ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณาคำร้องถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฏร ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในข้อหาเดียวกัน แต่นายสมศักดิ์ไม่ได้เดินมาเนื่องจากไม่ได้ประสงค์ขอเพิ่มพยานหลักฐานอะไร ซึ่งประธานได้กำหนดวันเปิดแถลงสำนวนในวันเดียวกันคือวันที่ 8 ม.ค. 2558 โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ

นายพรเพชรให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคำร้องถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าพรุ่งนี้ (28 พ.ย.) ที่ประชุม สนช.จะพิจารณาการกำหนดวันแถลงเปิดคดี ที่เบื้องต้นทางวิป สนช.ได้กำหนดไว้เป็นวันที่ 9 ม.ค. 58 ว่าที่ประชุมจะเห็นด้วยหรือไม่ และคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐาน ซึ่งมีจำนวนมาก ก็ต้องดูว่าหากที่ประชุมรับพยานหลักฐานนั้นก็ต้องให้เวลากับสมาชิกในการนำไปศึกษา แต่ในวันพรุ่งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมาชี้แจงด้วยตนเองตนไม่สามารถทราบได้


กำลังโหลดความคิดเห็น