xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดร่าง“สถาบันภูมิราชธรรม”สร้างบัณฑิตเก่งดี ตามรอยพระบาท ร.9

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานในการประชุม ได้พิจารณาร่างกฎหมายที่มีความสำคัญอีกฉบับหนึ่ง นั่นคือร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สถาบันภูมิราชธรรม พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นผู้เสนอ

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ครม.ได้อนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ มีหลักการและเหตุผล ระบุว่า “ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 สมควรให้มีการจัดตั้ง “สถาบันภูมิราชธรรม”เป็นสถาบันอุดมศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณด้านการศึกษาและศิลปวิทยาการ ทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ทุกแขนง ตลอดจนน้อมนำพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพที่ทรงมีอยู่เต็มเปี่ยมในความรู้ทุกด้าน และได้ยังให้เกิดประโยชน์สุขแก่พสกนิกรมาช้านาน มาเป็นแบบอย่างในการจัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ อีกทั้งเป็นบรมราชานุสรณ์ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีอยู่เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของประชาชาติไทยไปในอนาคตกาล โดยไม่มีวันสิ้นสูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

ร่าง พ.ร.บ.สถาบันภูมิราชธรรมฯ มีทั้งหมด 71 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล มีสาระสำคัญ อาทิ

มาตรา 4 “ให้จัดตั้งสถาบันภูมิราชธรรม ขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษา มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น และอยู่ภายใต้การดูแลอุปถัมภ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์”

มาตรา 5 “ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้”

มาตรา 6 “ให้สถาบันเป็นสถาบันอุดมศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีวัตถุประสงค์ที่จะบุกเบิก แสวงหา และเป็นคลังความรู้ จัดการศึกษา ส่งเสริม ประยุกต์และพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง สร้างบัณฑิต วิจัย เป็นแหล่งรวมสติปัญญา เผยแพร่ความรู้ จัดการอบรม และให้บริการทางวิชาการแก่สังคม รวมทั้งสืบสานและทะนุบำรุงศิลปและวัฒนธรรม เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมและประเทศ

สถาบันมุ่งหวังให้บัณฑิตมีคุณธรรมกำกับความรู้ เพียบพร้อมด้วยสติปัญญาและจริยธรรม ใฝ่รู้ กอปรด้วยจิตวิญญาณ มีความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน ความเพียร ความอดทนอดกลั้น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีจิตสำนึกช่วยเหลือผู้ที่ด้อยและอ่อนแอกว่า มีจิตใจเสียสละเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และตั้งมั่นในความยุติธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม”

มาตรา 7 “เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 ใหสถาบันคำนึงถึง

(1)เสรีภาพทางวิชาการ
(2)ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา
(3)ความเป็นเลิศทางวิชาการ มีมาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการอันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
(4)ความมีคุณธรรมและจริยธรรม
(5)การนำความรู้สู่สังคม
(6)ความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และประเทศ
(7)ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
(8)การบริหารงานที่มีธรรมาภิบาล
(9)การมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานในสถาบัน

มาตรา 14 ได้กำหนดแหล่งรายได้ของสถาบัน มาจากเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สถาบัน เงินที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มอบให้เพื่อจัดตั้ง “กองทุนภูมิราชธรรม” หรือมอบสมทบภายหลัง และรายได้ ดอกผล หรือผลประโยชน์จากกองทุนดังกล่าว เป็นต้น

รายละเอียดของ “กองทุนภูมิราชธรรม” ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 37,38,39 และ 40 โดยกองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินกิจการของสถาบัน ส่งเสริมการจัดการศึกษา พัฒนาผู้ปฏิบัติงานในสถาบัน ตลอดจนให้ทุนการศึกษา

“กองทุนภูมิราชธรรม”ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มอบให้ เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่กองทุน รายได้ ดอกผล หรือผลประโยชน์จากกองทุนดังกล่าว

ส่วนคณะกรรมการบริหารกองทุน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นประธานกรรมการ อธิการบดีเป็นกรรมการ และกรรมการจำนวนไม่เกิน 5 คน ซึ่งสภาสถาบันแต่งตั้งโดยคำแนะนำของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ด้านการบริหาร กำหนดให้มีสภาสถาบันประกอบด้วย นายกสภาสถาบัน กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 10 คน กรรมการสภาสถาบันโดยตำแหน่งได้แก่อธิการบดีและผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรรมการสภาสถาบัน 3 คนซึ่งเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีจำนวน 1 คน จากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีจำนวน 1 คน และจากผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นเทียบเท่าคณะจำนวน 1 คน และกรรมการสภาสถาบัน 2 คนซึ่งเลือกจากคณาจารย์ประจำ

ด้านการบัญชีและการตรวจสอบ สถาบันฯ ต้องวางและรักษาระบบบัญชีให้ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป โดยแยกตามส่วนงานของสถาบัน จัดทำงบการเงินและบัญชีรายรับและรายจ่ายส่งผู้สอบบัญชีของสถาบัน และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอกซึ่งสภาสถาบันแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชี และให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของสถาบันทุกรอบปีบัญชี โดยให้ผู้สอบบัญชีจัดทำรายงานผลการสอบบัญชีและการเงินเสนอต่อสภาสถาบัน เพื่อให้สภาสถาบันเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ให้อธิการบดีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(มาตรา 47,48,49,51 และ 52)

ส่วนปริญญาที่สถาบันมีอำนาจให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษามี 3 ชั้น คือ ปริญญาเอก ปริญาโท ปริญญาตรี และสถาบันอาจออกข้อบังคับให้มีประกาศนียบัตรและอนุปริญญาชั้นต่างๆ ได้ รวมทั้งมีอำนาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลซึ่งสถาบันเป็นว่าทรงคุณวุฒิและคุณธรรมสมควรแก่ปริญญานั้นๆ (มาตรา 60-64)

ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาล(มาตรา 70) ได้กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรกให้สภาสถาบันประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นนายกสภาสถาบัน กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คนซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์แต่งตั้ง และให้เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษาปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีตามพระราชบัญญัตินี้(มาตรา 71)

ในที่ประชุม สนช.เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ชี้แจงเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.สถาบันภูมิราชธรรมฯ ต่อที่ประชุม ซึ่งสมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยส่วนใหญ่เห็นว่าควรนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นแบบอย่างในการจัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้

นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพราะเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ต้องการให้คนไทยได้เรียนรู้จากสถาบันฯ โดยเฉพาะการเกษตรเพื่อให้ประชาชนต่อยอดไปสู่การพัฒนา สร้างรายได้ให้กับตัวเอง รวมทั้งต้องมีการเรียนรู้โดยการปฏิบัติการเพื่อต่อยอดพัฒนาวิถีชีวิตของตนเอง และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต

ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช.เสนอแนะให้นำหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ แม้จะยากแต่ต้องทำความเข้าใจเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จและสร้างความกินดีอยู่ดีของประชาชน พร้อมทั้งควรเรียนรู้จากโครงการพระราชดำริต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาชีวิต

ในที่สุดที่ประชุมมีมติรับหลักการวาระแรกด้วยคะแนน 217 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 21 คน

ทั้งนี้หาก พ.ร.บ.สถาบันภูมิราชธรรมฯ ผ่านการพิจารณาของ สนช.ตามขั้นตอนการพิจารณากฎหมายแล้ว น่าจะเปิดการเรียนการสอนครั้งแรกได้ในปีการศึกษา 2561



กำลังโหลดความคิดเห็น