xs
xsm
sm
md
lg

รับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เชื่อมั่นเป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นควบรวม 2 สถาบันอุดมศึกษาในจ.กาฬสินธุ์เป็นมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (ม.กส.)
กาฬสินธุ์ - “ตวง” สมาชิก สนช.และประธานกรรมาธิการวิสามัญ ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นควบรวม 2 สถาบันอุดมศึกษาในกาฬสินธุ์เป็นมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (ม.กส.) ชี้หากปล่อยไว้ 2 สถาบันอุดมศึกษาจะถูกยุบแน่ เหตุนักศึกษาลดลง เชื่อ ม.กส.จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพระดับสากล ตอบโจทย์ผลิตนักศึกษาสู่ตลาดอาชีพ ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม อารยธรรม และเกษตรอุตสาหกรรม

วันนี้ (21 เม.ย. 58) ที่ห้องประชุมยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ นายตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ... เดินทางร่วมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการควบรวมสถาบันอุดมศึกษาใน จ.กาฬสินธุ์ 2 แห่งให้เป็นมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (ม.กส.) ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ กับมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์

โดยมีคณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.เข้าร่วม เช่น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่ง รศ.วิรัตน์ พงษ์ศิริ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ คณะผู้บริหาร ตัวแทนคณาจารย์ นักศึกษา และตัวแทนจากชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกว่า 100 คน เข้าร่วมเสนอแนวคิด และซักถามข้อสงสัยต่างๆ จากกรรมาธิการฯ อย่างดุเดือด

โดยตัวแทนเครือข่ายประชาชน จ.กาฬสินธุ์ได้มอบเอกสารเจตนารมณ์และความประสงค์ของชาว จ.กาฬสินธุ์ ให้แก่ประธานกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นบันทึกสัตยาบรรณที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 ระหว่าง จ.กาฬสินธุ์ กับเครือข่ายประชาชน จ.กาฬสินธุ์ หลังมีกระแสข่าวที่จะย้ายที่ตั้งของมหาวิทยาลัยฯ ไปอยู่ที่อื่น

นายตวง อันทะไชย สนช.ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ม.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า หลังจากร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ผ่านมติคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬาไปแล้วนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนทั้งในส่วนของคณะกรรมาธิการ มหาวิทยาลัย บุคลากร นักศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งเป็นการลงพื้นที่สร้างความมั่นใจให้แก่ทุกฝ่ายที่จะไม่ยุบมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่ง และไม่มีการย้ายไปไหน เพราะรัฐได้ลงทุนกับการสร้างมหาวิทยาลัยไปมากแล้วทั้งสองแห่ง

อย่างไรก็ตาม การยุบรวมมหาวิทยาลัยจะเป็นการพัฒนาศักยภาพเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์จังหวัด ประเทศชาติ และภูมิภาคอาเซียนได้ เพราะระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ที่มีจุดแข็งด้านวัฒนธรรมและอารยธรรม กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ มีจุดแข็งด้านเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งสองแห่งรวมกันแล้วจะทำให้เกิดเป็นมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพในระดับสากลและในภูมิภาคอาเซียน ในอนาคตจะประสบผลสำเร็จเพราะมีแบบอย่างที่ ม.นครพนมแล้ว

“การลงพื้นที่เพื่อตอกย้ำถึงเจตนารมณ์การรวมมหาวิทยาลัยสองแห่งเข้าด้วยกัน หากปล่อยเช่นนี้ต่อไปในอนาคตจะต้องถูกยุบแน่นอน จากจำนวนนักศึกษาลดลง รวมถึงการบริหารงบประมาณ ไม่สามารถเทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยอื่นได้ มหาวิทยาลัยสองแห่งแม้จะมีศักยภาพแตกต่างกันแต่เชื่อมั่นว่าจะตอบโจทย์ผลิตนักศึกษาสู่ตลาดอาชีพได้ ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม อารยธรรม และเกษตรอุตสาหกรรม เมื่อควบรวมกันแล้วจะมีการใช้งบประมาณมากขึ้น ทำให้การจัดการงบประมาณเดินต่อไป เป็นทางเลือกสุดท้ายจะทำให้มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งอยู่รอด” นายตวงกล่าว




นายตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ...
กำลังโหลดความคิดเห็น