xs
xsm
sm
md
lg

กสทช. “จัดให้” สัญญาณโทร+เน็ต พื้นที่ชายขอบ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภายหลังที่รัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการสำรวจพื้นที่ติดตั้งสัญญาณให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ตามโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ ภายใต้แผนการจัดการให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) พ.ศ. 2555-2559 ของสำนักงาน กสทช.

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา กสทช.นำโดย 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ' เลขาธิการ พร้อมทีมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ลงพื้นที่ชายขอบ ที่นิยามว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลมาก หรือที่เรียกว่า Zone C+ เพื่อร่วมกันพิสูจน์ว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือจริงๆ เพื่อนำบริการบรอดแบนด์ เข้าไปให้ถึงประชาชน โดยเลือกหมู่บ้านขุนปั๋ง ตำบล แม่ปั๋ง อำเภอ พร้าว จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ในการสำรวจครั้งนี้

*** บ้านขุนปั๋ง ยังรอคอยสัญญาณโทรศัพท์-อินเทอร์เน็ต

ไม่น่าเชื่อว่า ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่เพียง 100 กิโลเมตร ยังคงมีพื้นที่ห่างไกล หรือ พื้นที่ชายขอบ อยู่จริง ขนาดคนขับรถตู้ซึ่งเป็นเจ้าของสวนลำไยอยู่ไม่ไกลพื้นที่มากนักยังเอ่ยปาก ไม่อยากเชื่อ

พื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า น้ำประปา ต้องปั่นเอง ทำเอง การเดินทางจากพื้นราบขึ้นไปบนภูเขาแม้มีระยะทางเพียง 12 กิโลเมตร แต่กลับต้องใช้เวลาเดินทางด้วยรถตู้นานถึง 2 ชั่วโมง บนเส้นทางดินแดง ขรุขระ และแคบ รถวิ่งได้ทีละคัน สวนกันไม่ได้ มองทางซ้ายก็เหว ทางขวาก็เหว ลาดชัน และบางช่วงเป็นสะพานไม้เกือบพัง ทำให้ยากที่การไฟฟ้าฯ การประปาฯ สถานีอนามัย จะเข้าถึง หรือแม้แต่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเองจะลงทุนเพื่อหวังความคุ้มค่าทางการตลาดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึง

และถึงแม้ว่าระหว่างเส้นทางจะมีสัญญาณโทรศัพท์มือถือขึ้นมาบ้าง1- 2 ช่วง แต่ก็ไม่ได้มีความคมชัดของสัญญาณ หรือใช้งานอะไรได้มากนัก ทำให้หมู่บ้านขุนปั๋ง ตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จ.เชียงใหม่ ที่มีชาวบ้านอยู่อาศัย 90 ครัวเรือน มีโรงเรียนระดับประถม ที่มีนักเรียนอยู่ 22 คน ต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง

ทุกวันนี้ หมู่บ้านมีสถานีปั่นไฟจากพลังงานงานน้ำที่ได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงพลังงาน และมีการนำน้ำจากแหล่งธรรมชาติ มาใช้งาน ขณะที่ก็มีสัญญาณดาวเทียมจากโครงการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมที่ทำให้เด็กๆได้รับความรู้จากครูตู้ (จอทีวี) ส่วนคอมพิวเตอร์นั้นก็มี แต่คงไม่ต้องสาธยายว่ารุ่นเก่าระดับพระเจ้าเหาขนาดไหน แถมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้อีกด้วย

จำลอง สกล ครูใหญ่ประจำโรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง เล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านนี้เกิดจากการรวมตัวกัน ของชาวบ้านเพื่อตั้งเป็นหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2532 ผ่านไป 3 ปี ที่นี่ก็มีดาวเทียม เพื่อการเรียนการสอน มีคอมพิวเตอร์ 4 เครื่อง ตั้งแต่สมัยนั้น ตอนนี้ก็ไว้พิมพ์งานอย่างเดียว ใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ครูก็มีคนเดียวกับครูผู้ช่วยดูแลเด็กเล็กอีก 1 คนเรียกได้ว่าครูใหญ่คนเดียวสอนหมดทุกชั้น สลับกับครูตู้ ก็ว่าได้ ส่วนชาวบ้านก็มีอาชีพหลักในการทำเมี่ยง มีคนมารับซื้อแต่ละช่วงๆไป นอกจากนี้ยังมีอาชีพเสริมปลูกกาแฟตามฤดูกาลบ้าง เก็บของป่าขายบ้าง

เมื่อถามว่าดาวเทียมที่มีใช้มีการต่ออินเทอร์เน็ตได้หรือไม่ ครูใหญ่บอกว่า มันไม่แรง ก็มีบางบ้านนะที่เขามีเงินเขาต้องซื้อเครื่องแปลงสัญญาณตัวละ 6,500 บาท มาดึงสัญญาณดาวเทียมมาใช้ แต่มันก็แล้วแต่สภาพดินฟ้า อากาศด้วย บางทีก็ดึงสัญญาณไม่ได้ ก็มี ส่วนสัญญาณโทรศัพท์ถ้าจะหาจริงๆก็ต้องเดินไปตามจุดที่ต้องลุ้นว่าจะมีหรือไม่ ซึ่งมันก็ลำบากมาก ซึ่งถ้าหากหมู่บ้านมีสัญญาณโทรศัพท์ และ อินเทอร์เน็ต ก็จะทำให้ได้ค้นคว้าหาความรู้ มาให้เด็กๆได้อีกมาก การติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกก็จะสะดวกยิ่งขึ้น

***พื้นที่ชายขอบไม่ทับซ้อนกับใคร

ชัยวัฒน์ อุตตมากร ผู้จัดการโครงการสำรวจพื้นที่ และ ออกแบบรายละเอียด การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์ และบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ จำนวน 3,920 หมู่บ้าน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้สำรวจโครงการดังกล่าวของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายใต้แผนการจัดการให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) พ.ศ.2555-2559 ซึ่งพบว่า พื้นที่ที่สำรวจ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศั พท์ และ สัญญาณอินเทอร์เน็ต จริงๆ ไม่ซ้ำซ้อนกับใครแน่นอน โดยกลุ่มเป้าหมายมีอยู่ที่ ภาคกลาง จำนวน 349 หมู่บ้าน ภาคเหนือ 2,027 หมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,085 หมู่บ้าน และภาคใต้ 459 หมู่บ้าน ซึ่งจะใช้ระยะเวลาสำรวจทั้งสิ้น 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2559 ทั้งนี้ พบว่าแต่ละหมู่บ้านมีลักษณะความยากลำบากในการเข้าถึงที่แตกต่างกัน จึงต้องออกแบบลักษณะการใช้สัญญาณ จุดที่ตั้งในการกระจายสัญญาณเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

สำหรับพื้นที่ บ้านขุนปั๋ง นับว่าเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงง่ายกว่าพื้นที่อื่นๆในเชียงใหม่ แต่ลักษณะการอยู่อาศัยไม่ได้ กระจายมาก การตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ คงตั้งบริเวณใกล้หมู่บ้านและต้องมีตัวแปลงสัญญาณจากดาวเทียมเพื่อมากระจายสัญญาณให้ชาวบ้านได้ใช้ในระยะไม่ไกลมาก ซึ่งผู้ที่ประมูลโครงการได้ ต้องสามารถให้บริการที่ผู้ใช้สามารถมีเครื่องโทรศัพท์รองรับการใช้งานได้ด้วย

ขณะที่ศูนย์ USO NET ที่เป็นโครงการของ กสทช.ก็จะสร้างควบคู่กันด้วย เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ และให้ชาวบ้านมาใช้ไวไฟร่วมกันได้ โดยมหาวิทยาลัยก็ได้ออกแบบโครงสร้างของศูนย์ให้เหมาะกับสภาพภูมิประเทศ สามารถต้านแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ รวมถึงคำนึงถึงการใช้งานของผู้สูงวัย และ ผู้พิการด้วย

***เร่งประมูลเป็นรายภาค

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การประมูลของ กสทช.ต้องโปร่งใส ทุกขั้นตอน เพราะนอกจากได้พาสื่อมวลชนมาลงพื้นที่ให้เห็นสถานที่จริงแล้ว ยังได้นำผู้แทนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เข้าร่วมลงพื้นที่ด้วย เพราะโครงการนี้ต้องเข้าโครงการสัญญาคุณธรรมตามที่รัฐบาลประกาศ และกสทช.จะประกวดราคาแบบอี-ออคชั่น เป็นรายภาค เพื่อให้ผู้ชนะประมูลนำไปวางระบบทั้งหมด คาดว่าทีโออาร์จะเสร็จภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ และจะเริ่มประกวดราคาได้ ภายในเดือน เม.ย. ซึ่งม.ธรรมศาสตร์จะมีหน้าที่ทำทีโออาร์และราคากลางให้ด้วยภายใต้งบประมาณ 20 ล้านบาท และคาดว่าภายในเดือนมิ.ย.จะสามารถลงนามกับผู้ชนะการประมูลได้ จากนั้นต้องเร่งวางโครงข่ายและเปิดให้บริการได้ภายในเดื อน ธ.ค. 2560

ส่วนโครงการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่แบ่งกันทำกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี อีกจำนวน 19,652 หมู่บ้านนั้น ก็จะดำเนินการจ้างธรรมศาสตร์ทีมเดิมต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นทีมที่ทำงานละเอียด และมีความเข้าใจ มีประสบการณ์กับการสำรวจพื้นที่ชายขอบมาแล้ว คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ ภายในเดือน มิ.ย.ปีหน้า

'พื้นที่ภาคกลางน่าจะเป็นพื้นที่ ที่เราประมูลได้ก่อน ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ เป็นพื้นที่ที่เรากังวล เพราะมีภูเขา สลับ ซับซ้อน อย่างแม่ปั๋ง ก็ไม่น่าเชื่อว่าระยะทางแค่ 12 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางถึง 2 ชั่วโมง จึงอาจจะต้องใช้เวลา แต่อย่างไรก็ตามงบ USO ที่เรามีอยู่ประมาณ 21,000 ล้านบาท น่าจะเพียงพอสำหรับโครงการพื้นที่ชายขอบและโครงการที่รับมาจากกระทรวงดีอี โดยความแตกต่างของกสทช.คือไม่ได้ติดตั้งแค่จุดเดียวของหมู่บ้าน แต่จะติดตั้งที่โรงเรียนด้วย นอกจากนี้ก็จะมีศูนย์ USO NET และมีงบประมาณในการดูแลให้กับพื้นที่อีก 5 ปี ซึ่งภายในเดือน มิ.ย. 2561 ทุกพื้นที่จะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไว้ใช้งานแน่นอน'
กำลังโหลดความคิดเห็น