รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2567 นำเสนอรายงานพิเศษ ลอบยิง "โดนัลด์ ทรัมป์" ย้อนรอยกระสุนสังหารสะเทือนโลก ในยูเอสเอ
แม้การใช้ปืนที่ยังไม่ทราบชนิดลอบยิง อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ขณะปราศรัยหาเสียงที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันเสาร์ที่13กรกฎาคม ที่ผ่านมา จะประสบความล้มเหลวในการปลิดชีพคู่แข่งคนสำคัญของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้
กระสุนที่พยายามสังหารอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ได้สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ส่งผลถึงสถานการณ์ด้านการเมืองทั้งภายในและภายนอกสหรัฐอเมริกา
ชาติที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจผู้นำโลก
แม้จะไม่มีใครคาดคิดเลยว่า เหตุการณ์ในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นบนแผ่นดินของประเทศอภิมหาอำนาจ โดยเฉพาะกับคนที่เป็นถึงอดีตประธานาธิบดี ซึ่งมีระบบคุ้มครองความปลอดภัยอย่างรัดกุม
แต่ที่ปฎิเสธไม่ได้ก็คือ หากมองย้อนไปในอดีตเหตุการณ์ลอบสังหารผู้นำของสหรัฐฯ ขณะอยู่ในตำแหน่งและอยู่ระหว่างการออกรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ 159 ปี ที่ผ่านมา
โดยผู้นำสหรัฐคนแรก ที่ตกเป็นเหยื่อของการลอบสังหาร ก็คือ ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งถูกมือปืน ลอบยิงในโรงละคร ที่เมืองวอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 14 เมษายน 1865 จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนที่จะเสียชีวิตในวันต่อมา และ เหตุการณ์ครั้งนั้น ได้กลายเป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมือง ในสหรัฐอเมริการะหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ที่กลืนกินชีวิต คู่ขัดแย้งทั้งทหารและพลเรือนหลายแสนคน
36 ปีต่อมา เกิดการลอบสังหารผู้นำสหรัฐ รายที่ 2 เมื่อประธานาธิบดีวิลเลี่ยม แมคคินลีย์ ถูกยิงเสียชีวิต ในงานเลี้ยงรับรอง ที่นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 6 กันยายน 1901 ก่อนที่เขาจะทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตในสัปดาห์ต่อมา
อีก 11 ปีหลังจากนั้น เหตุการณ์ลอบสังหาร ผู้นำสหรัฐฯ ก็อุบัติขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่ออดีตประธานาธิบด ธีโอดอร์ รูสเวล ซึ่งอยู่ในระหว่างการหาเสียงเพื่อลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ถูกลอบยิง ในรัฐวิสคอนซิน แม้กระสุนสังหารจะฝังอยู่ในหน้าอกของรูสเวล แต่เขาก็รอดชีวิต
การลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐ รายที่ 4 เกิดขึ้นในอีก 21 ปี ต่อมา เมื่อประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลต์ ถูกคนร้ายพยายามลอบสังหาร ที่เมืองไมอามี่ รัฐฟลอริดา แต่ผู้ที่รับเคราะห์แทนคือ นายแอนตั้น เซอร์แม็ค นายกเทศมนตรีเมืองชิคาโก ซึ่งถูกกระสุนเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น และไม่มีโอกาสได้รับรู้ว่า ประธานาธิบดี รูสเวลล์ของเขาคือผู้ที่ลงนามประกาศสงครามกับญี่ปุ่น หลังการถูกโจมตีที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941
สำหรับ ประธานาธิบดีรูสเวลล์ แม้จะรอดชีวิต จากเหตุการณ์ลอบสังหาร ในครั้งนั้นแต่เขาก็เสียชีวิตไปก่อนที่จะทันได้เห็นญี่ปุ่นถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูจนต้องยอมแพ้สงคราม ในเดือนสิงหาคม ปี 1944
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง พันธมิตรที่เคยร่วมรบเพื่อเอาชนะญี่ปุ่นและเยอรมัน กลับกลายเป็นคู่ขัดแย้งในสงครามเย็นที่เผชิญหน้ากันระหว่างโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์ ได้เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐ รายที่ 5
เมื่อจอห์น เอฟ เคนเนดี้ อดีตผู้บังคับการเรือตอปิโด PT 109 วีรบุรุษ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกลี ฮาวี ออสวอน มือปืนลอบสังหาร ขณะนั่งอยู่บนรถเปิดประทุนทักทายประชาชนที่ออกมารอต้อนรับอยู่ริมถนน 2 ข้างทางของ เมืองดัลลาส รัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 1963 ซึ่งกล่าวกันว่า การสูญเสียครั้งนั้นทำให้คนอเมริกันหลั่งน้ำตาทั่วประเทศ เพราะเคนเนดี้ คือประธานาธิบดี ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา
หลังประธานาธิบดีเคนเนดี้เสียชีวิต มีการลอบสังหารผู้ที่ลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะหาเสียง อีก 2 ราย โดยเหยื่อรายแรกคือวุฒิสมาชิกโรเบิร์ต เคนเนดี้ น้องชายของประธานาธิบดี เคนเนดี้ที่ถูกสังหาร เมื่อ 5 ปีก่อนหน้านั้น และผู้เป็นน้องชาย ก็ถูกเด็ดชีพ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 1968 ปิดฉากตระกูลเคนเนดี้ในทำเนียบขาวไปตลอดกาล
ส่วนเหยื่อรายที่ 2 ที่ถูกลอบสังหารขณะหาเสียง คือจอร์จ วอลเลซ ซึ่งถูกยิงถึง 4 ครั้ง ในในรัฐแมรี่แลนด์เมื่อปี 1972 ทำให้เขาหมดโอกาสลงชิงชัย และต้องเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิต
หลังจากนั้นอีก 3 ปี ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้สั่งการให้ นาวิกโยธินสหรัฐ บุกเกาะตัง ของกัมพูชา เพื่อชิงตัวประกันจากเรือสินค้ามายาเกรซ ที่ถูกกองกำลังเขมรแดงจับกุมในอ่าวไทย เมื่อเดือนเมษายน ปี 1975 ได้ถูกคนร้ายซึ่งเป็นผู้หญิงพยายามลอบสังหารถึง 2 ครั้ง ในเดือนกันยายน ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ไม่ได้รับอันตรายใดๆ
อดีตประธานาธิบดีผู้นำสหรัฐคนสุดท้าย ที่ต้องเผชิญเหตุการณ์ลอบสังหาร ก่อนเกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้ ก็คือประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ซึ่งถูกมือปืนบุกยิง ขณะเดินออกจากโรงแรมฮิลตัน ในกรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 1981 ทำให้ได้รับบาดเจ็บหลายแห่ง ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนานถึง 12 วัน
แน่นอนว่าเหตุการณ์ลอบสังหารอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ คงจะไม่ใช่เหตุการณ์สุดท้าย ที่จะเกิดขึ้นใน การเมืองของสหรัฐฯ แต่สิ่งที่น่าจับตามากที่สุดก็คือ การที่ทรัมป์รอดชีวิตจะทำให้คะแนนนิยมในตัวเขาพุ่งสูงขึ้นหรือไม่ และนำไปสู่การได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปลายปีนี้
--------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android