xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : หนี้สาธารณะพุ่ง New High ต่อเนื่อง กับดัก ‘ประชานิยม’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 5 มิถุนายน 2567 ตอน หนี้สาธารณะพุ่ง New High ต่อเนื่อง กับดัก ‘ประชานิยม’



หากจะบอกว่าภาพรวมของการเมืองไทยในเวลานี้เกิดความวุ่นวายและความอลหม่านแล้ว ดังสะท้อนให้เห็นจากปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงหลายด้าน

ไม่ว่าจะเป็นอนาคตในทางการเมืองของ 'เศรษฐา ทวีสิน' นายกรัฐมนตรี หรือการเลือกส.ว.ที่สุ่มเสี่ยงว่าจะถูกล้มกระดานหรือไม่ ในด้านมิติด้านเศรษฐกิจก็มีตัวเลขที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความสั่นคลอนพอสมควร

ล่าสุดเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 และรายการการกู้เงินและค้ำประกัน ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 โดยยอดหนี้สาธารณะคงค้าง มีจํานวน 11,474,153.99 ล้านบาท หรือคิดเป็น 63.67% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) โดยเป็นหนี้รัฐบาล จํานวน 10,087,188.39 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ จํานวน 1,072,821.61 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทําธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จํานวน 202,269.17 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ จํานวน 111,874.42 ล้านบาท

ในด้านหนึ่งนั้นตัวเลขหนี้สาธารณระดับประมาณ 11 ล้านล้านบาท ไม่ได้แปลกใหม่อะไร เพราะเมื่อเดือนกันยายน 2566 ก็เพิ่งประกาศว่ามีจำนวนหนี้สาธารณะ 11,131,634.20 ล้านบาท หรือคิดเป็น 62.14% ของ GDP มาก่อนเช่นกัน เพียงแต่การประกาศตัวเลขครั้งล่าสุดนี้มีประเด็นตรงที่เป็นช่วงใกล้กับไตรมาสที่ 4 ที่รัฐบาลเตรียมเข็นโครงการดิจิทัลวอลเล็ตออกมาตามที่ได้หาเสียงเอาไว้

อย่างที่ทราบกันดีกว่าโครงการดังกล่าวแม้เป็นโครงการะยะสั้นที่ใช้เงินเพียงครั้งเดียว แต่ก็ใช้งบประมาณมากถึง 5 แสนล้านบาท ทำให้หลายฝ่ายออกมาเตือนถึงความเสี่ยงทางการคลังที่อาจจะเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิเคราะห์ของสถาบันการเงินภาคเอกชนหลายสถาบันมองตรงกันว่ามีความเสียงที่ทำให้หนี้สาธารณะอาจชนเพดานที่ 70 % ต่อจีดีพี หรือคิดเป็น 14 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในภาพรวมของเศรษฐกิจไทย

เช่นเดียวกับ ข้อกังวลที่มาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า โครงการนี้จะก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ และมีผลทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวม

ทั้งนี้ มีไม่มากนักที่หน่วยงานทางการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนจะมองตรงกันถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจประเทศไทยที่มีปัจจัยมาจากโครงการของภาครัฐ

แม้ว่าตัวเลขสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีประกาศออกมาล่าสุดจะยังอยู่กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่ต้องไม่เกิน 70% ต่อจีดีพีตามมติของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเมื่อปี 2564 แต่พื้นที่ช่องว่างที่เหลืออีกประมาณ 7 % นั้น ก็ทำให้สถานะทางการคลังของประเทศไทยหายใจไม่ค่อยทั่วท้องมากนัก

โดยต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยไม่ได้มีเพียงนโยบายเงินดิจิทัลเท่านั้นที่ต้องใช้เงิน แต่ยังนโยบายอีกเป็นจำนวนมากที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินไม่แพ้กัน หรือแม้แต่สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของชาติมหาอำนาจหรือชาตินอมีนี ซึ่งไม่รู้ว่าจะปะทุขึ้นมาเป็นสงครามเมื่อไหร และจะกระทบต่อสถานะเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าการเหลือพื้นที่ทางการคลังไว้สำหรับการกู้เงินในยามจำเป็น ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

แต่ดูเหมือนว่าเวลานี้รัฐบาลยังเลือกที่จะเดินหน้าตามแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีทุนนิยมแบบสุดโต่ง เน้นการเจริญเติบโตโดยมองความยั่งยืนเป็นประเด็นรอง ทั้งๆที่คนในรัฐบาลหลายคนก็เคยออกมาวิจารณ์รัฐบาลชุดก่อนไว้อย่างดุเดือดว่า “บิดาแห่งการกู้และก่อหนี้” แต่พอถึงคราวที่ตัวเองมีอำนาจบ้างก็สร้างภาระไม่ต่างกัน

ดังนั้น หากจะมีปัจจัยที่เป็นลบต่อเศรษฐกิจไทยก็คงไม่ใช่อนาคตที่เอาแน่เอาไม่ได้ของ ‘เศรษฐา’ แต่อยู่ที่ภาระหนี้ของประเทศที่จะเป็นเหมือนโซ่ตรวนที่ทำให้เดินหน้าไปอย่างลำบากมากกว่า

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น