xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : 'ทักษิณ' มาแล้ว ผู้มีบารมีนอกรัฐบาล นายใหญ่เหนือนายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ตอน 'ทักษิณ' มาแล้ว ผู้มีบารมีนอกรัฐบาล นายใหญ่เหนือนายกฯ



ไม่มีอะไรผิดคาดเมื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางกลับเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าที่จากมานานเกือบ 20 ปี ภาพที่ปรากฎออกมาก็เป็นอย่างที่เห็น 'แพทองธาร ชินวัตร' ลูกสาวคนเล็กและแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี เดินทางไปรับบิดาถึงที่โรงพยาบาลตำรวจด้วยตัวเอง โดยนายทักษิณได้สวมหมอนรองคอและเฝือกพยุงแขนด้านขวา

ในแง่ของกฎหมายจากนี้ไป ถือว่าทักษิณยังอยู่ในการถูกควบคุมความประพฤติระหว่างพักโทษ ส่วนคดีที่ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนหน้านี้นายทักษิณได้มีหนังสือขอความเป็นธรรมและอ้างพยานมากกว่า 10 ปากไปยังอัยการสูงสุด คาดว่าต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าที่อัยการสูงสุดจะดำเนินการส่งคดีนี้ฟ้องต่อศาลได้

ส่วนในมิติทางการเมืองปฏิเสธไม่ได้ว่ามีทั้ง 'ก้อนอิฐ-ดอกไม้' ทันทีที่ทักษิณก้าวออกจากโรงพยาบาลตำรวจมายังบ้านพัก บรรดาขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม แม้จะไม่ได้ต่อต้านแต่ก็ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับการกลับบ้านในครั้งนี้ เช่น พรรคก้าวไกล และ พรรคประชาธิปัตย์ โดยเรียกร้องกระทรวงยุติธรรมอย่าเลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐานกับนักโทษรายอื่นๆ ที่มีเงื่อนไขใกล้เคียงกัน

แตกต่างกับคนในฝ่ายรัฐบาลต่างแสดงท่าทีต้อนรับเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงกับออกปากว่าถ้ามีโอกาสจะเดินทางเข้าไปกราบอดีตเจ้านายคนนี้ด้วยตัวเอง เรียกได้ว่าแสดงความชัดเจนแบบไม่ต้องอ้อมค้อมให้มากความ

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ได้ออกตัวแรงอะไรมากนัก นอกจากการแสดงความยินดีพอเป็นพิธี เท่านั้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกลับบ้านของทักษิณในครั้งนี้ ทำให้ศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองย้ายกลับมาที่บ้านจันทร์ส่องหล้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ เหมือนที่เคยเป็นมาเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว

ที่ผ่านมาการสื่อสารกับของพรรคเพื่อไทยกับทักษิณต้องอาศัยการพูดคุยผ่านเทคโนโลยีหรือบินไปพบบ้างเป็นครั้งคราว ทำให้มีกระบวนการฤาษีแปลงสาร อ้างคำพูดนายใหญ่กันสารพัด จนสร้างความก่อกวนในพรรคเพื่อไทยไปพอสมควร

ดังนั้น เมื่อนายใหญ่อยู่บ้านในเมืองไทยและไม่ได้เป็นคนดูไบอีกต่อไป แน่นอนว่าทิศทางของพรรคเพื่อไทยย่อมมีความชัดเจนมากขึ้น

ถ้าจะถามว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่น่าจับตามองที่สุดนอกจากการปรับคณะรัฐมนตรี คืออะไร คงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี

เดิมทีนายเศรษฐา พรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่ 'แพทองธาร' จะพยายามสื่อสารมาตลอดว่าประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว และจะยังไม่มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี แม้ปากจะบอกเช่นนั้น แต่ในใจและภายในพรรคเพื่อไทยนั้นอาจไม่คิดเช่นนั้น โดยมีข้ออ้างหลายปัจจัยที่สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนตัวนายกฯ

ไม่ว่าจะเป็น ผลงานประชานิยมของรัฐบาลยังไม่ออกดอกออกผล โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าวใหม่

หรือแม้แต่โครงการอภิมหาเมกะโปรเจกต์อย่าง 'แลนด์บริดจ์' ถึงสภาผู้แทนราษฎรจะมีมติสนับสนุนรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ แต่เอาจริงๆ ก็แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะก็ยังคงเดินหน้าไม่ได้

พอผลงานไม่ออกมา ทำให้ทัวร์เริ่มลงรัฐบาลต่อเนื่อง

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ดูเหมือนจะเริ่มลอยตัว เพราะก็เป็นพวกได้เอาเสียไม่จ่าย เลยเลือกที่จะทำงานเฉพาะในส่วนของตัวเองเป็นหลักแทน

ประกอบกับ วุฒิสภาชุดนี้กำลังจะหมดวาระในเดือนพฤษภาคมนี้ แม้จะยังทำหน้าที่รักษาการณ์ได้ แต่ก็ไม่อาจมีสิทธิยกมือขึ้นมาสอดเพื่อร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกแล้ว จึงยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้หากจะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีทำได้สะดวกมากขึ้น หากถึงตอนนั้นขึ้นมาจริงๆ นายกรัฐมนตรีคงต้องเป็นคิวของ 'แพทองธาร' ไปโดยปริยาย

ด้วยสภาพเช่นนี้ 'ทักษิณ' จึงไม่ต่างอะไรกับผู้มีบารมีนอกรัฐบาล ที่จะมีผลต่อการกำหนดทิศทางของรัฐบาลและยุทธศาสตร์สำหรับการต่อสู้กับพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามที่เข้มแข็งที่สุดเท่าที่พรรคเพื่อไทยเคยเผชิญมา

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น