“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอังคารที่ 23 เมษายน 2567 ตอน ภัยแล้งรุนแรงหนัก ลุกลามเศรษฐกิจ เงินดิจิทัลก็ช่วยไม่ได้
สถานการณ์โลกร้อนกำลังสร้างปัญหาไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ดินแดนอู่ข้าว อู่น้ำ อย่างประเทศไทย เดิมทีเหมือนว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นกระแสสังคมเท่าใดนัก จนกระทั่งอาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โพสต์เฟซบุ๊กเตือนถึงสถานการณ์ในตอนนี้และถูกแชร์ต่อในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก
โดยอาจารย์ธรณ์ ระบุว่า แม้เอลนีโญใกล้จบ แต่ความร้อนยังไม่จบ บวกกับโลกร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้น นี่คือโลกเดือด ภาพที่เพื่อนธรณ์เห็นคือ ปริมาณฝนสะสมในอีก 3 วันข้างหน้า ดำสนิทเกือบทั้งประเทศ หมายถึงแทบไม่มีฝนจริงจังเลย ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง ฝนที่มาในช่วงนี้ก็ต้องระวัง ลมแรง ตกหนัก ฟ้าผ่า ไฟดับ น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่เล็กๆ เป็นฝนโลกร้อน ทะเลร้อน น้ำระเหยเยอะ อากาศร้อน เมฆจุไอน้ำได้เยอะขึ้น
"สำหรับพื้นที่อื่น โลกจะเดือดต่อไป ร้อน แล้ง แห้ง แถมบางพื้นที่อาจมีฝุ่นซ้ำเติม คนที่ทำมาหากินแบบพึ่งพาธรรมชาติ ทำสวน ทำประมง เลี้ยงสัตว์บก/สัตว์น้ำ ต้องระวังให้หนัก เพราะฝนยังไม่มา อุณหภูมิยังไม่ลด ทางแก้หรือครับ ยากมากๆ เพราะเราทำร้ายโลกมาถึงตอนนี้ นับร้อยปีที่ก๊าซเรือนกระจกสะสมบนฟ้า ทะเลช่วยดูดซับความร้อนไว้ แต่ตอนนี้ทะเลบอกไม่ไหวแล้ว มันจึงมาถึงจุดที่ต้องบอกว่า ต้องหาทางรอด ปรับตัวเท่าที่ทำได้"
ปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงกลายเป็นปัญหาไฟลามทุ่ง ส่งผลกระทบรุนแรงต่อพื้นที่ทำการเกษตรของประชาชน เช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา ประสบกับปัญหาน้ำทะเลทะลักเข้ามาในแหล่งเลี้ยงปลาน้ำจืด จนปลาที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ต้องตายเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
และจากปัญหาภัยแล้งก็ได้ลามเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สะเทือนถึงเงินในกระเป๋าของประชาชนที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงด้านการบริโภคที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจำพวกเนื้อสัตว์ และพืชผักต่างๆ ที่มีปริมาณเข้าสู่ตลาดลดลง
ทั้งนี้ เพื่อให้มองเห็นภาพกว้างของปัญหานี้ ศูนย์วิจัยกรุงศรี ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ออกบทวิเคราะห์เรื่อง "ความเสี่ยงภัยแล้งและน้ำท่วมปี 2567 : ผลกระทบต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง" ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจ โดยมีการระบุตอนหนึ่งว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 คาดว่าประเทศไทยยังคงเผชิญภาวะฝนทิ้งช่วง แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศว่าฤดูร้อนจะสิ้นสุดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 แต่ภาวะเอลนีโญอาจทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกรุงศรี ประเมินว่าภาวะเอลนีโญในปีนี้จะยังคงสร้างผลกระทบต่อเนื่องต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงปี 2567 ดังนี้
1. ผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร คาดว่าในปี 2567 ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่อาจเสียหายมาก ซึ่งผลผลิตที่ลดลงนี้จะส่งผลให้รายได้ครัวเรือนภาคเกษตรลดลง
2. ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต ภัยแล้งไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และบริการ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในระบบเศรษฐกิจ
3.ผลกระทบของภัยแล้งต่อ GDP ในปี 2567 ภัยแล้งจะฉุดให้ GDP โดยรวมลดลง 0.29% และในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจลดลงถึง 0.66% ภัยแล้งในครั้งนี้จะส่งผลรุนแรงต่อ GDP หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำและแนวโน้มการเกิดฝนในช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไปเป็นสำคัญ
สัญญาณเตือนถึงปัญหาและข้อเท็จจริงก็ได้ประจักษ์ในหลายพื้นที่ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังสาละวนอยู่กับงานการเมืองที่วิ่งหานายใหญ่เพื่อรักษาเก้าอี้รัฐมนตรีมากกว่าทำงานให้กับประชาชน และนโยบายประชานิยมที่เกาไม่ถูกที่คันอย่าง ‘ดิจิทัลวอลเล็ตหนึ่งหมื่นบาท’ ที่คิดว่าจะเป็นยาวิเศษแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
อาจเป็นคราวเคราะห์ของประชาชนในยุคนี้ที่มีรัฐบาลก็เป็นรัฐบาลที่ทำงานเอาใจนาย มองไปที่ฝ่ายค้านที่ควรเป็นปากเป็นเสียงมากกว่านี้ ก็คลั่งประชาธิปไตยกันแบบสุดโต่ง จนประชาขนต้องเสียโอกาส
------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android