“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2567 ตอน มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ นโยบายประชานิยม อาจย้อนศรเข้าตัวเอง
นอกจากโครงการเงินดิจิทัล 5 แสนล้านบาทที่อยู่ในความสนใจของประชาชนส่วนใหญ่ อีกนโยบายหนึ่งของรัฐบาลที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ถึง 7 มาตรการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยที่ผ่านมาในไตรมาส 4 ปี 2567 การบริโภคภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้หดตัวไปถึง 8%
สำหรับทั้ง 7 มาตรการนั้นมีมาตรการที่น่าจับตามอง เช่น การลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ปี 2567 ซึ่งลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ อาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว หรือห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
มาตรการในลักษณะนี้ที่เป็นการลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคยใช้เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเวลานั้นเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้เกิดปรากฎการณ์คนจำนวนมากแห่พากันซื้อบ้านเพราะถูกจูงใจด้วยมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน การลดค่าธรรมเนียมจดจำนอง และการลดภาษีธุรกิจเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังมาตรการนี้สิ้นสุดลงในช่วงเดือนมีนาคม 2553 ก็เริ่มเห็นผลกระทบตามมาอย่างมีนัยสำคัญ คือ การทำให้ภาระของคนซื้อบ้านเพิ่มมากขึ้นรวมไปถึงต้นทุนของผู้ประกอบการ เพราะรัฐบาลมองว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ฟื้นตัวมาเป็นปกติแล้ว อีกทั้งภาครัฐเองก็สูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนตามมาตรการดังกล่าว
มาจนถึงยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเคยเป็นซีอีโอธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาก่อน ก็ได้นำเครื่องมือทางเศรษฐกิจในลักษณะนี้มาใช้ไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยุครัฐบาลอภิสิทธิ์และเศรษฐานั้นมีบางอย่างแตกต่างกันพอสมควร
สถานการณ์ของรัฐบาลเศรษฐา กำลังประสบกับปัญหาการหดตัวและการฟื้นตัวช้าทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลพวงมาจากการระบาดของโรคโควิด 2019 หรือแม้แต่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่กำลังลุกลามอย่างรุนแรง จนกำลังซื้อภายในประเทศหายไปอย่างเห็นได้ชัด จึงไม่แปลกที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงอยู่ในภาวะชะลอตัว ถึงขนาดที่รัฐบาลต้องออกมาตรการเพื่อมาช่วยเหลือทั้งภาคธุรกิจและประชาชนที่ต้องการมีบ้าน
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตที่สำคัญที่ควรพิจารณา คือ มาตรการนี้ต้องการช่วยเหลือใครกันแน่ระหว่างภาคธุรกิจหรือประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคก้าวไกลโดย นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างสนใจ
นายวรภพ มีประเด็นชวนให้ติดตามโดยระบุว่า การลดค่าธรรมเนียมโอนอสังหาฯ จาก 2% เป็น 0.01% และค่าจดทะเบียนจำนอง จาก 1% เป็น 0.01% จากมาตรการเดิม ที่กำหนดให้เฉพาะบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ปรับเป็นรวมไปถึงบ้านราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท เนื่องจากข้อมูลจากภาคอสังหาริมทรัพย์ พบว่าบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทที่เหลือขายมีจำนวนไม่มาก แต่บ้านราคา 3-7 ล้านบาท ที่ยังเหลือขาย มีจำนวนสูงถึง 46% จึงทำให้มองได้ว่าเป็นการเอื้อให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีสต็อกบ้านเหลือ ขายไม่ออก สามารถเร่งขายบ้านออกได้ง่ายขึ้น และการลดค่าธรรมเนียมการโอนจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีงบประมาณน้อยอยู่แล้วให้ลดลงไปอีก
ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันค่อนข้างเข้มงวดกับการกระทำใดๆที่เป็นลักษณะของการขัดกันระหว่างผลประโยชน์หรือแม้แต่เรื่องจริยธรรมพอสมควร ซึ่งที่ผ่านมาก็มีนักการเมืองหลายคนต้องตกม้าตายเพราะเรื่องทำนองนี้มาแล้ว ดังนั้น บางทีนโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดนี้อาจย้อนศรกลับมาเล่นงานรัฐบาลเองในอนาคต
------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android