ศาลนัดพิพากษาคดี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แกนนำม็อบ กปปส. กับพวก 39 คน ชุมนุมขับไล่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ปี 56 ด้าน เลขาฯศาลอาญา เผย มีความพร้อม โดยเน้นมาตรการป้องกันโควิด-19
วันนี้ (23 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการพิจารณาคดี กลุ่มกบฏ กปปส. ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกรวม 39 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้าย ล้มล้างระบอบการปกครอง มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยคดีนี้อัยการโจทก์ยื่นสำนวนฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2561 และศาลรับฟ้องไว้พิจารณาเป็นคดีหมายเลขดำ อ.247/2561 ขณะที่ นายสุเทพ กับพวกจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี และได้รับการประกันตัวทุกคน ศาลอาญาจึงดำเนินการสืบพยานแบบต่อเนื่องที่ทั้ง 2 ฝ่าย นำเข้าสืบหักล้าง จนแล้วเสร็จ และนัดฟังคำพิพากษาคดีวันที่ 24 ก.พ.นี้ เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 704
อัยการโจทก์ฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2556 - 1 พ.ค. 2557 ต่อเนื่องกัน นายสุเทพ จำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งคณะบุคคล ชื่อ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หรือ กลุ่ม กปปส. มี นายสุเทพ เป็นเลขาธิการ โดยร่วมกันมั่วสุมเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร กองกำลังแบ่งหน้าที่กันกระทำก่อความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรฐานเป็นกบฏเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยร่วมกันยุยง ปลุกระดมให้ประชาชนทั่วประเทศกระด้างกระเดื่องร่วมชุมนุมขับไล่ ก่อความไม่สงบเพื่อขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เพื่อมิให้นายกรัฐมนตรี และ ครม.ชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ ให้ข้าราชการระดับสูงรายงานตัวกับกลุ่ม กปปส. จากนั้น กปปส.จะแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าบริหารประเทศเป็นรัฐบาลประชาชนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และ ครม. โดยจะนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลฯเอง รวมทั้งจัดตั้งกองกำลังส่วนหนึ่ง พร้อมอาวุธเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญต่างๆ หลายแห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล สตช. บช.น. สำนักงานเขตหลักสี่ ศูนย์เยาวชนกรเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ รวมทั้งการปิดกั้น ขัดขวางเส้นทางคมนาคมขนส่ง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
นอกจากนี้ ช่วงระหว่างวันที่ 13 ม.ค.- 2 มี.ค. 2557 พวกจำเลยได้ปิดกรุงเทพมหานคร (Bangkok Shutdown) ด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพมหานครรวม 7 จุด ปิดกั้นเส้นทางการจราจร จัดตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่ วางเครื่องกีดขวาง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง การกระทำของพวกจำเลยล้วนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ
เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกันโจทก์ จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยด้วยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113, 116, 117, 135/1, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ. 2550 มาตรา 76, 152
ด้าน นายชนุดม ปิติฤกษ์ เลขานุการศาลอาญา เปิดเผยว่า ศาลอาญา มีความพร้อมสำหรับการอ่านคำพิพากษาคดี กปปส.แล้ว โดยใช้ห้องพิจารณา 704 ซึ่งเป็นห้องพิจารณาใหญ่ที่สุดของศาล สามารถรองรับจำนวนคนได้นับร้อยคน
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องจัดที่นั่งเว้นระยะห่างตามสถานการณ์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยบริเวณประตูทางเข้าอาคารศาลอาญา จะมีเจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ ตรวจวัดอุณหภูมิ โดยขอความร่วมมือทุกคนสวมให้หน้ากากอนามัย มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไว้บริการ
สำหรับการรักษาความเรียบร้อยภายในบริเวณศาล จะมีตำรวจศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน เจ้าหน้าที่ รปภ.ศาลคอยดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการใช้เครื่องสแกนตรวจเพื่อค้นหาสิ่งผิดกฎหมาย บริเวณประตูทางเข้าอาคารศาลด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยคนสำคัญคดีนี้ อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย อดีตเลขาธิการ กปปส. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ นางทยา ทีปสุวรรณ ภรรยา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัล นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ อดีตพระพุทธอิสระ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายวิทยา แก้วภราดัย นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นายแก้วสรร อติโพธิ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.ปฐมพงษ์ เกสรศุกร์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย นายสาวิทย์ แก้วหวาน นายสุริยะใส กตะศิลา นายสาธิต เซกัล หรือ เซกัลป์ นายสำราญ รอดเพชร นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมบูรณ์ ทองบุราณ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี และ น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก