ตำรวจ ปคม.สรุปสำนวนคดี “อุ้มบุญ” เครือข่าย “เจ้า หราน” นายทุนชาวจีน ส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้อง “บุคลากรทางการแพทย์-นายหน้า” อีก 10 คน พร้อมนัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ 28 ส.ค.นี้
เมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ (15 ก.ค.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก ร.ต.อ.จักรภพ เชื้อสาย รอง สว.(สอบสวน) กก.2 บก.ปคม. ได้สรุปสำนวนการสอบสวนคดีอุ้มบุญข้ามชาติ ซึ่งมีเอกสารจำนวน 7 แฟ้ม 1 หมื่นกว่าหน้า พร้อมนำตัวบุคลากรทางการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และตัวแทนนายหน้า รวม 10 ราย มาพบพนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 6 เพื่อพิจารณาสั่งฟ้อง ใน 3 ข้อหา ประกอบด้วย ข้อหา “สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ข้อหาร่วมกันดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า, ข้อหาร่วมกันซื้อ เสนอซื้อ ขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน” ที่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาอาศัยเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือ พ.ร.บ.อุ้มบุญ
นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาที่มาพบอัยการในวันนี้ เป็นในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์ในคดีอุ้มบุญ ซึ่งเป็นสำนวนคดีเดิมที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาบางส่วนต่อศาลอาญาไปแล้ว อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นความผิดที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกราชอาณาจักร โดยความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรจึงเป็นอำนาจของอัยการสูงสุด ส่วนหน้าที่ของพนักงานอัยการสำนักคดีอาญา 6 จะรับและรวบรวมสำนวนคดีดังกล่าวส่งให้อัยการสูงสุดมีความเห็นฟ้องหรือไม่ฟ้อง และคำสั่งเป็นประการใด ก็นั้นก็จะส่งกลับมาให้อัยการคดีอาญา 6 เพื่อดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้พนักงานอัยการได้นัดให้ผู้ต้องหาทั้งหมดมาฟังคำสั่งฟ้องอีกครั้ง ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีเครือข่ายอุ้มบุญดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.ต.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบก.ปคม. นายแพทย์ ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย ผู้อำนวยการกองคดี 2 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ขยายผลจับกุมผู้ต้องหาเครือข่ายอุ้มบุญข้ามชาติ ของ นายเจ้า หราน นายทุนชาวจีน เพิ่มเติมอีก 10 ราย เป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์ 6 ราย กลุ่มนายหน้าจำนวน 4 ราย โดยตรวจค้นคลินิกและโรงพยาบาลที่มีความเชื่อมโยงในคดี จำนวน 5 แห่ง สามารถช่วยเหลือเด็กทารกอายุ 1 เดือน และ 4 เดือนเศษ พร้อมตรวจสอบเส้นทางการเงินที่มีเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท และทรัพย์สินอื่นรวมกว่า 1,000 ล้านบาท และตรวจยึดอุปกรณ์ในการผสมอสุจิกับไข่ และยาที่ใช้ในการกระตุ้นไข่ ล่าสุด จับกุมผู้ต้องหาทั้งหมด 23 ราย แต่ยังหลบหนีอยู่ต่างประเทศ 1 ราย ซึ่งอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องบางส่วนไปแล้ว
สำหรับพฤติกรรมเครือข่าย “เจ้า หราน” นั้น ทราบว่า แม่ชาวจีนที่มีปัญหาการตั้งครรภ์ไม่ได้จะติดต่อนายหน้าซึ่งมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่เคยเป็นแม่อุ้มบุญผันตัวมาเป็นนายหน้า หรือ กลุ่มนายหน้าโดยตรงจะหาแม่อุ้มบุญ โดยก่อนปี 2558 ยังไม่มีกฎหมายการอุ้มบุญมักลักลอบทำในประเทศไทย แต่เมื่อมีกฎหมายดังกล่าวจึงพากันเดินทางไปฝังตัวอ่อนที่ประเทศเพื่อนบ้านก่อนกลับเข้าไทยจนครบกำหนดคลอด บางส่วนจะคลอดในไทยก่อนพาเด็กไปส่งยังพ่อแม่ที่ประเทศจีน ขณะที่แม่อุ้มบุญอีกส่วนจะไปคลอดที่จีนแล้วส่งเด็กให้พ่อแม่และบินกลับไทยมาคนเดียว