MGR Online - อธิบดีกรมบังคับคดี แถลงผลการดำเนินงานของไตรมาสที่ 2 ปี 61 ผลักดันทรัพย์สินกว่า 35,275 ล้านบาท บังคับคดีให้ลูกหนี้สำเร็จไปแล้ว 6,954 ราย
วันนี้ (20 เม.ย.) เวลา 10.00 น. ศูนย์บังคับคดีล้มละลายส่วนหน้า กรมบังคับคดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี แถลงผลการดำเนินงานของไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ว่ากรมบังคับคดีเน้นการดำเนินงานที่เป็นธรรม ง่าย สะดวก และรวดเร็ว รวมถึง มุ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ดังนี้ 1. ด้านการเสริมสร้างสภาพคล่องและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือ เร่งผลักดันทรัพย์สินรอการขายของกรมบังคับคดี สามารถผลักดันได้เป็นเงินจำนวน 35,275,434,885 บาท ของเป้าหมายจำนวน 110,000,000 บาท 2. ด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี ประสานเจ้าหนี้กลุ่มใหม่และจัดมหกรรมการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 6,954 เรื่อง และได้มีการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีร่วมกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จำนวน 12 ครั้ง ในพื้นที่ สุราษฎร์ธานี ยะลา เบตง ปัตตานี กระบี่ สตูล สงขลา นาทวี พังงา ตะกั่วป่า กาฬสินธุ์ และระนอง ซึ่งมีผลการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 1,930 เรื่อง ทุนทรัพย์ 220,315,184 บาท คิดเป็นร้อยละ 98.92
น.ส.รื่นวดีกล่าวอีกว่า 3. ด้านการบริหารการจัดการคดี มีการกำหนดนโยบาย ได้แก่ กำหนดระยะเวลาในการจัดทำบัญชีรับ-จ่าย ภายใน 45 วัน, ปรับปรุงการอายัดทรัพย์สิน โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ธุรการปฏิบัติการแทนเจ้าพนักงานบังคับคดี 4. ด้านการสร้างความรับรู้ทางกฎหมายและการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย กรมบังคับคดีได้จัดทำคู่มือกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับเกษตรกรและประชาชน เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจทางกฎหมายให้กับเกษตรกรและประชาชน ประกอบด้วยเนื้อหาเรื่องการซื้อขาย การกู้ยืมเงิน การเช่าทรัพย์ การค้ำประกัน จำนอง จำนำ และการขายฝาก
5. ด้านการบูรณาการทำงานและการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยภาครัฐและเอกชนไปแล้วจำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา , กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 6. ด้านการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัย มีมาตรฐานสากล และให้การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตามที่กรมบังคับคดีได้มีการเสนอร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบกระทรวงในปีงบประมาณ 2560 นอกจากนี้ ได้จัดให้มีการบรรยายเพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561 แก่เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีจำนวน 936 คน”
น.ส.รื่นวดีกล่าวอีกว่า 7. การจัดตั้งสถาบันวิชาชีพบังคับคดีแพ่งและล้มละลาย หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ เพื่อให้บริการด้านการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับการบังคับคดีให้แก่บุคลากรของกรมบังคับคดี พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพ และให้ความรู้กฎหมาย ฝึกอบรมกับประชาชนทั่วไป หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการจัดหลักสูตรเพื่อการฝึกอบรมเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน เพื่อให้สอดรับการถ่ายโอนงานภารกิจของกรมบังคับคดีในเรื่องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการศึกษาแนวทางและรูปแบบการบริหารจัดการ โดยมีกำหนดเปิดสถาบันเพื่อการบังคับคดีประมาณเดือน พ.ค. 2561