เมืองไทย 360 องศา
จับอาการได้ทันทีว่าการออกมาแถลงข่าวด่วนของสองอธิบดีจากสองกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการเรียกค่าเสียหายจาก บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกอีก 5 คน ในคดีทุจริตการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มีมูลค่าความเสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท หลังจากที่สังคมเริ่มมองเห็นความผิดปกติจากความล่าช้าในการดำเนินการดังกล่าว
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมกันชี้แจงถึงแนวทางการเรียกค่าเสียหายในคดีทุจริตดังกล่าว ที่กระทรวงพาณิชย์
น.ส.รื่นวดี ชี้แจงว่า กรมบังคับคดีได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 56/2559 ซึ่งมีรองอธิบดีกรมบังคับคดีที่ดูแลสายงานคดีทางแพ่ง เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยกรมการค้าต่างประเทศ โดยประสานในการยื่นคำขอตั้งสำนวนยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 ราย ไปตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 จากนั้นมีการประสานงานกับกรมการค้าต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และไม่มีความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานจนเป็นเหตุให้การดำเนินการล่าช้า แต่ติดระเบียบขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการทางคดีแพ่ง
โดยคดีนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 57 ซึ่งอนุญาตให้นำวิธีพิจาณาความแพ่ง (วิ.แพ่ง มาตรา 271) มาใช้โดยอนุโลม โดยจะเริ่มจากโจทก์ (กรมการค้าต่างประเทศ) ยื่นตั้งเรื่องยึดอายัดทรัพย์ และส่งเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะยึด ซึ่งขั้นตอนนี้ทางฝ่ายโจทก์ต้องเป็นผู้ไปดำเนินการสืบทรัพย์ หาข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ทั้ง 6 ราย มีทรัพย์สินรายการใดบ้าง และต้องมีการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โฉนดที่ดินต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานที่ดิน หรือ บัญชีธนาคาร ก็ต้องได้รับการรับรองจากสถาบันการเงิน เป็นต้น มาประกอบการพิจารณา
“เมื่อได้ข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี จะพิจารณาคำขอยึดทรัพย์ จากนั้นจะรายงานต่อศาล เพื่อขออนุญาตขายทรัพย์ ซึ่งจะเข้าไปสู่ขั้นตอนการขายทอดตลาด แต่หากรายการทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ 6 ราย ไม่เพียงพอต่อมูลค่าหนี้ที่ต้องชำระ กรมบังคับคดีจะรายงานต่อศาลว่ามูลค่าทรัพย์ไม่เพียงพอกับมูลค่าหนี้ เพื่อให้โจทก์พิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ทั้งนี้ การพิจารณาความแพ่งมีอายุความ 10 ปี”
ด้าน นางดวงพร กล่าวว่า ได้รับเอกสารการตั้งเรื่องยึดอายัดทรัพย์จากกรมบังคับคดีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการและรวบรวมเอกสารทั้งหมด คาดว่า จะสามารถตั้งเรื่องและส่งกลับไปให้กรมบังคับคดีได้ภายในวันอังคารที่ 14 ก.พ. นี้ ส่วนที่ความคืบหน้าในคดีที่ล่าช้า เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับคดีทางปกครอง จึงต้องทำความเข้าใจและให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ
คดีนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวไม่มีประสบการณ์ แต่ที่ผ่านมา เมื่อมีการประสานงานในขั้นตอนให้ทางกรมฯ จัดหาข้อมูลอะไร กรมฯ ก็ดำเนินการมาตลอด ไม่ได้นิ่งนอนใจ รวมทั้งยังได้จัดตั้งทีมกฎหมายเข้ามาดูข้อมูล และศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะมาตลอด ซึ่งตอนนี้ก็ดำเนินการมาถึงขั้นตอนเตรียมตั้งเรื่องแล้ว โดยในวันที่ 14 ก.พ. นี้ จะเป็นการตั้งเรื่องยึดทรัพย์พร้อมกันทั้ง 6 คน นางดวงพร กล่าว
ถัดมาก็เป็นการแถลงของ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดไม่ได้นิ่งนอนใจ
“นายกฯ บอกว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ละหน่วยงานรู้หน้าที่ของตนและทำงานอย่างเต็มที่อยู่แล้ว จึงต้องให้เป็นไปตามกระบวนการ โดยหลังจากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เมื่อกรมการค้าต่างประเทศส่งเรื่องให้กรมบังคับคดีดำเนินการต่อไป ก็เชื่อมั่นว่าการทำงานจะไม่ล่าช้า ทั้งเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินและการยึดทรัพย์” โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ และว่า ได้ให้นโยบายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ชี้แจงความคืบหน้าแก่พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบก็มีวิธีการนำทรัพย์สินมาได้ ไม่ว่าจะถูกยักย้ายถ่ายเทไปที่ใด ภายใต้อายุความถึง 10 ปี ดังนั้น จึงขอให้สังคมหรือผู้ที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าวเกิดความสบายใจว่า รัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม และโปร่งใส อย่างแน่นอน
ตอกย้ำกันเร่งด่วนแบบนี้มันก็ต้องมีสาเหตุแน่นอน อย่างน้อยก็ต้องมาจากแรงกดดันจากสังคมที่เริ่มมีเสียงวิจารณ์ออกมาในทำนองแบบมี “สิ่งผิดปกติ” โดยเฉพาะการเดินเรื่อง “เริ่มอืด” เริ่มช้าลงแบบผิดสังเกต แน่นอนว่า เรื่องแบบนี้มันเกี่ยวข้องกับความศรัทธาต่อรัฐบาล และต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง ดังนั้น เพื่อเรียกความมั่นใจให้กลับคืนมามันก็ต้องเร่งเคลียร์อย่างที่เห็น แต่อย่างน้อยอีกมุมหนึ่งมันก็ได้เห็นอาการ “นั่งไม่ติด” อย่างที่เห็น
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว มันก็ชวนให้สงสัยนั่นแหละ โดยเฉพาะเรื่องความล่าช้าอืดอาด แม้จะอ้างในเรื่องขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมายซับซ้อนยุ่งยาก แต่ต้องการเดินหน้าและมีการเตรียมการมาอย่างดีมันก็ต้องคืบไปไกลกว่าที่เห็นอย่างแน่นอน เพราะหากฟังจากการแถลงของสองอธิบดีข้างต้น คือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศที่เป็นต้นเรื่อง กับอธิบดีกรมบังคับคดีที่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้น “ตั้งเรื่อง” นั่นคือ ยังอยู่ในขั้น “รวบรวมเอกสาร” ทั้งหมดว่าแต่ละคนมีทรัพย์สินรวมกันเท่าไร ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีก จากนั้นถึงจะส่งเรื่องหรือ “ตั้งเรื่อง ”ไปให้กรมบังคับคดีได้พิจารณาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ลองคิดดูก็แล้วกันว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไรกันแน่
แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับเสียงวิจารณ์จากภายนอกที่มองว่าความล่าช้าดังกล่าว ทำให้มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน มีการระบุว่า มีบางรายที่โอนทรัพย์สินออกไปต่างประเทศไปแล้วก็มี นอกเหนือจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงไปไกลอีกว่าสาเหตุที่ล่าช้า เนื่องจากมีเรื่องกระบวนการ “ปรองดอง” เข้ามาแทรกเพื่อหวังผลทางการเมืองในวันข้างหน้ายามที่ “บิ๊ก” บางคนต้องลงจากหลังเสือ หรือ “ต่อยอด” ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งในปีหน้า มันก็อดคิดระแวงไปได้อีก
อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีของ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กับพวกอีก 4 คน นาทีนี้ถือว่าต้องเดินหน้าแล้ว เพราะหลังจากที่ศาลปกครองกลางยกคำร้องของ บุญทรง ที่ขอให้ทุเลาคำสั่งยึดทรัพย์จากคดีดังกล่าวมันก็มีทางเดียว ก็คือ หน่วยงานรัฐต้องลุยเต็มกำลัง ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งมันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องแบบนี้อย่าคิดล้อเล่นกับอารมณ์ของสังคมเป็นอันขาด เพราะขนาดแค่สงสัยยังนั่งไม่คิด หากเป็นเรื่องจริงก็ไม่อยากจะคิดว่าจะผลจะเป็นอย่างไร!!