xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” ลั่นยึดทรัพย์ “ปู” ได้แค่ 178 ล้าน รอคิวขายทอดตลาด!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง แจงถึงวันนี้ตัวเลขสินทรัพย์ที่ยึดได้จาก ‘ยิ่งลักษณ์’ และรอกระบวนการขายทอดตลาดมีเพียง 174 ล้านบาทและบัญชีเงินฝากอีก 4 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ศาลสั่งให้ชดใช้ความเสียหายในโครงการจำนำข้าวถึง 3.5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย บ้านหรูมูลค่า 80 ล้านย่านคลองกุ่ม ห้องชุด 30 ห้อง อยู่ที่พระโขนง สมุทรปราการ เชียงใหม่ ชี้อดีตนายกฯ มีสิทธิประมูลซื้อคืนทรัพย์สินได้ทั้งหมด!



ท่ามกลางกระแสข่าวการทุจริตของหลายภาคส่วน คดีหนึ่งซึ่งยังอยู่ในความสนใจของสังคม อีกทั้งถูกมองว่าเป็นไปด้วยความล่าช้าก็คือ คดียึดทรัพย์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลได้ตัดสินให้อายัดทรัพย์เพื่อชดใช้ความเสียหายจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาทที่เกิดจากโครงการรับจำนำ และต่อมาศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาคดีของฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปแล้ว

ล่าสุดกระทรวงการคลังได้ดำเนินการสืบทรัพย์และส่งเรื่องให้กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์ตามรายการที่ระบุเรียบร้อยแล้ว

สำหรับการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปนั้น พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ เปิดเผยว่า เมื่อต้น ก.พ. ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นโจทก์ในคดียึดทรัพย์อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ แจ้งมายังกรมบังคับคดีว่าทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่สามารถยึดอายัดได้ทั้งสิ้นมีมูลค่ารวม 178 ล้าน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1)บัญชีเงินฝาก 14 บัญชี วงเงินรวม 1.9 ล้าน และทรัพย์ในส่วนของสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ล้มละลายของญาติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ (หมายถึงสิทธิที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์) มูลค่าประมาณ 2.1 ล้าน รวมเป็น 4 ล้านกว่า

2) บ้านพักของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ซึ่งอยู่ในย่านคลองกุ่ม กรุงเทพฯ มูลค่า 80 ล้านบาท

3) ห้องชุด 30 กว่าห้อง ซึ่งอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ สมุทรปราการ และที่เขตพระโขนง กรุงเทพฯ รวมถึงที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อย ซึ่งทั้งหมดมูลค่ารวมประมาณ 94 ล้านบาท
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
เมื่อได้รับเรื่องจากกระทรวงการคลังแล้วกรมบังคับคดีจึงเริ่มเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี โดยเริ่มจากอายัดบัญชีเงินฝาก 14 บัญชี วงเงินรวม 1.9 ล้าน และทรัพย์ในส่วนของสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ล้มละลายของญาติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มูลค่าประมาณ 2.1 ล้าน รวมเป็น 4 ล้านกว่า และได้ส่งมอบทรัพย์ส่วนนี้ให้กระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว เมื่อ 19 มี.ค. 2561 ขณะที่ดำเนินการในส่วนของทรัพย์อื่นๆ ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นมีอยู่ 3 ขั้นตอนคือ 1.ประเมินราคาทรัพย์ก่อนขาย 2.กำหนดวันขายทอดตลาดและติดประกาศขาย และ 3.ดำเนินการเปิดประมูลขายทอดตลาด

เนื่องจากคดียึดทรัพย์ของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นคดีที่คนสนใจและต้องการเห็นบทสรุป หลายฝ่ายจึงรู้สึกว่าดำเนินการคดีล่าช้า แต่ความจริงเรื่องเพิ่งเข้าสู่กระบวนการของกรมบังคับคดี เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เนื่องจากครั้งแรกกรมบังคับคดีได้รับคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เมื่อ ก.ค. 2560 ซึ่งทางกรมก็เริ่มดำเนินการตามขั้นตอน แต่ต่อมาทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ยื่นขอทุเลาคดี กรมบังคับคดีจึงต้องยุติทุกอย่างไว้ก่อน สุดท้ายเมื่อศาลวินิจฉัยยกคำร้อง กรมบังคับคดีก็ต้องกลับมาตั้งต้นนับหนึ่งใหม่” พล.อ.อ.ประจินชี้แจง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนแรกคือ “การประเมินราคาทรัพย์สิน” นั้นจะต้องแยกก่อนว่าทรัพย์นั้นมีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทหรือไม่ หากทรัพย์มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ตามระเบียบต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ ซึ่งเป็นกรรมการชุดใหญ่ โดยมีรองอธิบดีกรมบังคับคดีเป็นประธาน และเจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดี กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ แต่หากทรัพย์มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการประเมินทรัพย์สินของกรมบังคับคดี ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดเล็ก

ทั้งนี้ การประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้นกรมบังคับคดีแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนแรก ได้แก่ บ้านพักของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มูลค่า 80 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ ซึ่งเป็นกรรมการชุดใหญ่ คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ประเมินและกำหนดราคาทรัพย์ที่จะนำไปเปิดประมูลขายทอดตลาด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการดังกล่าว

ส่วนที่สอง คือ ห้องชุด 30 กว่าห้อง และที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยที่อยู่ในเขตพระโขนง จังหวัดสมุทรปราการและเชียงใหม่ มูลค่ารวมประมาณ 94 ล้านบาท นั้นกรมบังคับคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะขายรวมทั้งหมดหรือแยกขายเป็นห้อง ๆ ซึ่งหากขายรวมคาดว่ามูลค่าน่าจะเกิน 50 ล้านบาท ซึ่งต้องส่งให้คณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ชุดใหญ่เป็นผู้ประเมินราคา แต่หากแยกขายเป็นห้อง ๆ ราคาแต่ละหน่วยน่าจะต่ำกว่า 50 ล้านบาท ก็จะส่งเข้าคณะกรรมการประเมินราคาชุดเล็ก

ราคาประเมินที่คณะกรรมการกำหนดนั้นจะพิจารณาจากราคาตลาดและศักยภาพของสินทรัพย์เป็นหลัก อาทิ หากเป็นที่ดิน คณะกรรมการจะนำราคาที่ดินบริเวณรอบ ๆ แปลงที่จะขายทอดตลาด จำนวน 3 แห่งมาเฉลี่ย แล้วเทียบกับราคาที่ดินของกรมธนารักษ์ในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งพิจารณาถึงศักยภาพด้านต่าง ๆ ของที่ดินด้วย

คดียึดทรัพย์ของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์นั้นเป็นคดีแพ่ง ซึ่งเราดำเนินการตามขั้นตอนปกติเหมือนกับคดีทั่วไป ไม่ได้มีการเร่งรัดแต่อย่างใด เพราะเราไม่อยากให้เกิดข้อครหาว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบประเมินราคาสินทรัพย์ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากการดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนปกติ ซึ่งในการประเมินราคาต้องเป็นตามลำดับคดียึดทรัพย์ที่ยื่นเข้ามา ซึ่งต่างก็เป็นคดีมีความสำคัญเช่นกัน ที่ผ่านมามีคดียึดทรัพย์ที่กรมบังคับคดีดำเนินการจำนวนมาก ดังนั้นจึงไม่สามารถระบุได้ว่าการประเมินราคาทรัพย์สินของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์จะใช้เวลาเท่าไร ต้องเป็นไปตามคิว ตอนนี้มีอยู่ 200 กว่าคดีที่เข้ามา คิวยาวมาก บางคดีหลักฐานไม่ครบก็ต้องเรียกหลักฐานเพิ่มเติม ทำให้การดำเนินการประเมินราคาล่าช้า” พล.อ.อ.ประจินระบุ

ส่วนขั้นตอนต่อไปคือการกำหนดวันขายและติดประกาศขายทรัพย์หลังจากที่ได้ข้อสรุปเรื่องราคาประเมินเรียบร้อยแล้วนั้น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม อธิบายว่า เมื่อกำหนดวันขายได้แล้วกรมบังคับคดีก็จะทำการติดประกาศเพื่อเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลทรัพย์ โดยการประกาศขายมีอยู่ 3 ช่องทาง คือ พิมพ์เอกสารประกาศขายไปติดที่บอร์ดของกรมบังคับคดี ติดเอกสารประกาศขาย ณ จุดที่ตั้งทรัพย์ และประกาศขายในอินเทอร์เน็ต ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลารวมประมาณ 20 วัน

ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือการจัดประมูล ตามวันและเวลาที่กำหนด โดยจะดำเนินการ ณ สถานที่ของกรมบังคับคดี ส่วนจะจัดการประมูลที่ใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าสินทรัพย์นั้นอยู่ที่ไหน หากตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ทำการประมูลที่กรมบังคับคดี บางขุนนนท์ หากตั้งอยู่ที่ต่างจังหวัดก็จัดประมูลที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัด ซึ่งการเปิดประมูลทรัพย์สินแต่ละรายการอาจจะไม่ได้ทำพร้อมกัน ขึ้นกับกรมบังคับคดีและสำนักงานบังคับคดีจังหวัดซึ่งทรัพย์นั้นตั้งอยู่จะดำเนินการ โดยแต่ละแห่งก็มีทรัพย์ที่ต้องนำออกประมูลขายทอดตลาดมากน้อยต่างกัน สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลจะต้องยื่นความจำนงพร้อมกับเงินประกัน ณ สถานที่จัดประมูล

อย่างไรก็ดีในการเปิดประมูลทรัพย์นั้นหากรอบแรกไม่มีผู้ยื่นประมูล ใน 21 วันถัดมาก็จะเปิดประมูลรอบที่ 2 โดยลดราคาลง 10% ของราคาประเมิน (ราคาเหลือ 90% ของราคาประเมิน) ถ้าไม่มีผู้ประมูลอีก ในอีก 21 วันถัดมา ก็เปิดประมูลรอบที่ 3 และลดราคาลงอีก 10% (ราคาเหลือ 80% ของราคาประเมิน) แต่หากไม่มีผู้สนใจ ก็จะเปิดประมูลรอบที่ 4 เป็นรอบสุดท้าย ซึ่งราคาจะเหลือเพียง 70% ของราคาประเมิน ถ้ายังขายไม่ได้ ก็ต้องไปเริ่มต้นจัดประมูลครั้งใหม่ในราคาเริ่มต้นที่ 70% ของราคาประเมิน และหมุนไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ดีหากเห็นว่าราคาที่ประกาศขายไม่เป็นธรรม เจ้าของทรัพย์ก็สามารถร้องคัดค้านได้ตลอดช่วงเวลาที่ทำการเปิดประมูล

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ทรัพย์ที่นำออกประมูลนั้นหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ประสงค์จะซื้อสินทรัพย์คืนก็สามารถทำได้ ไม่ผิดระเบียบอะไร ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าความเสียหายที่ศาลสั่งให้ชดใช้มีมูลค่าถึง 3.5 หมื่นล้านบาท แต่กรมบังคับคดีสามารถยึดทรัพย์ได้เพียง 178 ล้านบาท เมื่อเทียบแล้วเป็นจำนวนที่น้อยมากนั้น ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังในฐานะโจทก์ก็ต้องไปดำเนินการสืบทรัพย์ที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ซุกซ่อนไว้ว่ามีหรือไม่อย่างไร และหากพบก็ตั้งเรื่องเพื่อขอยึดอายัดทรัพย์เพิ่มเติมจากที่มีการดำเนินการไปแล้ว 178 ล้านบาทได้

ตอนแรกก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมจึงยึดทรัพย์ได้น้อยแค่ 178 ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงเราได้รับแจ้งแค่นี้ แต่เมื่อคดีนี้มีอายุความถึง 10 ปี หากโจทก์มีการสืบทรัพย์มาได้เพิ่มเติมและส่งเรื่องมาให้กรมบังคับคดีก็จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ซึ่งใน 10 ปีก็อาจจะมีทรัพย์สินให้ยึดได้อีกก็ได้” รมว.ยุติธรรมระบุ





กำลังโหลดความคิดเห็น