xs
xsm
sm
md
lg

กรมบังคับคดี แจง กม.พิจารณาความแพ่ง 2560 ห้ามอายัดทรัพย์ลูกหนึ้เงินเดือนไม่เกิน 2 หมื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - อธิบดีกรมบังคับคดี สรุปประเด็น พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ. 2560 ห้ามยึดอายัดทรัพย์ “สิ่งของประกอบวิชาชีพ ทรัพย์สินโอนไม่ได้ ลูกหนี้เงินเดือนไม่เกิน 2 หมื่น” ให้เวลาชำระหนี้ 10 ปี

วันนี้ (18 ก.ค.) เวลา 13.30 น. ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี พร้อมด้วย ผู้บริหารกรมบังคับคดี แถลงชี้แจง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 60 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 60 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. เป็นต้นไป โดยกฎหมายฉบับนี้นับเป็นการปฏิรูปการบังคับคดีทั้งระบบ เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการบังคับคดี และลดการประวิงคดี ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับคดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

โดยมีสาระสำคัญ คือ 1. กำหนดวิธีการยึดทรัพย์สินประเภทต่างๆ ให้มีความชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 2. เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจออกคำสั่งอายัดได้เอง และอายัดสิทธิเรียกร้องได้ทั่วประเทศ 3. ยกเลิกขั้นตอนการรายงานศาลขออนุญาตขายทอดตลาด 4. การขายทอดตลาดสามารถดำเนินการในวันหยุดหรือนอกเวลาทำการปกติได้โดยไม่ต้องขออนุญาตศาล 5. การยื่นคำร้องขอให้กำหนดหรือคัดค้านวิธีการขาย ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 3 วัน นับแต่ทราบวิธีการขาย 6. ยกเลิกการคัดค้านราคาเสนอสูงสุดในการขายทอดตลาดและผูกพันราคา และ 7. ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีมีสิทธิเข้าสู้ราคาเองในการขายทอดตลาดเพื่อให้ได้ราคาที่ตนต้องการ หรือหาบุคคลอื่นมาสู้ราคา

น.ส.รื่นวดี กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่น่าสนใจ คือ ทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี (ยึดไม่ได้) ประกอบ 1. เครื่องนุ่งห่มหลับนอน เครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องใช้สอยส่วนตัว ในส่วนที่ราคาประเมินไม่เกิน 20,000 บาท 2. สัตว์ สิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ ในส่วนที่ราคาประเมินไม่เกิน 100,000 บาท 3. สัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ ที่จำเป็นต้องใช้ทำหน้าที่ช่วยเหลือหรือแทนอวัยวะ 4. ทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย เช่น ที่ดินที่ยังอยู่ภายในระยะเวลาห้ามโอน 

น.ส.รื่นวดี กล่าวอีกว่า ส่วนเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี (อายัดไม่ได้) ประกอบด้วย 1. เบี้ยเลี้ยงชีพตามที่มีกฎหมายกำหนด 2. เงินเดือนของข้าราชการ เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ 3. เงินเดือนของบุคคลซึ่งไม่ใช่ข้าราชการหรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ เงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท 4. เงินรายได้บุคคลภายนอกยกเป็นคราวๆ เพื่อเลี้ยงชีพ เงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท 5. บำเหน็จหรือค่าชดเชยหรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของบุคคลซึ่งไม่ใช่ข้าราชการหรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการหรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ ในส่วนที่ไม่เกิน 30,000 บาท และ 6. เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับอันเนื่องจากความตายของบุคคลอื่นตามจำนวนที่จำเป็นในการดำเนินการฌาปนกิจศพตามฐานะของผู้ตาย โดยระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษาซึ่งลูกหนี้ก็ต้องใช้หนี้ตามกฎหมายและให้เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีเป็นผู้ไกล่เกลี่ย
กำลังโหลดความคิดเห็น