xs
xsm
sm
md
lg

อัยการเตรียมพร้อมส่งตัวฟ้อง “สุเทพ-แกนนำ กปปส.” ข้อหากบฏพรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - อัยการร่วมประชุม ศาล ตำรวจ และดีเอสไอ เตรียมพร้อม รอส่งตัวฟ้อง “สุเทพ-แกนนำ กปปส.” ข้อหากบฏ พรุ่งนี้ อัยการนัดรายงานตัว 09.30 น.

ความคืบหน้าจากกรณีที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 รับผิดชอบสำนวนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) 58 ราย นัดให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส., กลุ่มอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำ กปปส. และแนวร่วม กปปส. ประกอบด้วย นักวิชาการ, อดีตเครือข่าย พธม., กลุ่มกองทัพธรรม และกลุ่ม คปท.ผู้ต้องหาคดีร่วมกบฏ, ร่วมสนับสนุนการเป็นกบฏ, กระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดที่มิใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ , มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่ยอมเลิก , ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน ปิดงานงดจ้าง, บุกรุกสถานที่ราชการ, ขัดขวางการเลือกตั้ง รวม 8 ข้อหา จากการชุมนุมปิด กทม.เมื่อเดือนพ.ย. 56 - 22 พ.ค. 57 เพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารายงานตัวในวันพรุ่งนี้ (24 ม.ค.) เพื่อฟังคำสั่งคดีว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องข้อหาใดบ้างนั้น

มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในวันนี้ (23 ม.ค.) เวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา อัยการได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนศาลอาญา , กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และเจ้าหน้าตำรวจพื้นที่ บก.น.2 ในการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการดูแลความเรียบร้อยขณะส่งตัวผู้ต้องหามาฟ้องที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก รวมทั้งการประกันตัวซึ่งอัยการให้เป็นดุลพินิจของศาลในการพิจารณาสั่งประกัน ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ยื่นประกันเป็นไปตามแนวทาง 4 แกนนำ กปปส.ที่อัยการเคยยื่นฟ้องศาลไปก่อนหน้านี้แล้ว ตีราคาประกันคนละ 600,000 บาท โดยการสั่งคดีอัยการได้นัดให้ผู้ต้องหาทั้งหมดมารายงานตัวที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก ด้านข้างติดกับศาลอาญา ก่อนเพื่อแจ้งคำสั่งคดี

ในส่วนของผู้ต้องหาที่สั่งฟ้องแล้วก็จะนำตัวไปส่งต่อศาลก่อนในลักษณะใครมาก่อนฟ้องก่อน โดยคดีนี้มีผู้ต้องหา 58 ราย ขณะที่ชั้นสั่งคดีก่อนหน้านี้มีสั่งไม่ฟ้อง 1 ราย และอัยการยื่นฟ้องไปแล้ว 4 ราย กับมี 7 รายในกลุ่มอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายองอาจ คล้ามไพบูลย์, นายทศพล เพ็งส้ม, นายสาธิต ปิตุเตชะ, นางนาถยา แดงบุหงา ที่ได้แยกสำนวนพิจารณาเนื่องจากข้อหาเบากว่า ดังนั้นในส่วนของคดีร่วมกบฏและสนับสนุนกบฏ จะมีผู้ต้องหาที่จะสั่งคดี 40 กว่าคน ซึ่งกลุ่มแกนนำ กปปส. เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายชุมพล จุลใส, นายอิสสระ สมชัย, นายวิทยา แก้วภราดัย, นายถาวร เสนเนียม, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

ส่วนแนวร่วม เช่น นางอัญชะลี ไพรีรัก, นายนิติธร ล้ำเหลือ, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ชยุตม์ ศิรโยธินภักดี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, พระสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือหลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม, นายสาวิทย์ แก้วหวาน, นายสาธิต เซกัล (SEHGAL SATISH), นายอุทัย ยอดมณี, ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์, นายนัสเซอร์ ยีหมะ, พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ, นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์, พ.ต.ท.สุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์, นายสมบูรณ์ ทองบุราณ, น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี หรือกฤดากร, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, นายพิเชฐ พัฒนโชติ, นายสำราญ รอดเพชร, น.ส.รังสิมา รอดรัศมี, นางทยา ทีปสุวรรณ และกลุ่มนักวิชาการ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, นายกิตติศักดิ์ ปรกติ

แหล่งข่าวระดับสูงจากศาลอาญาได้กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในส่วนของศาลอาญา ว่าจะใช้มาตรการโดยคำนึงจากประสบการณ์ที่มีการสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ผ่านมา ซึ่งมีแผนการรองรับไว้อยู่แล้ว โดยมวลชนที่จะมาให้กำลังใจก็จะมีการจัดพื้นที่บริเวณหน้าศาลอาญา และศาลได้ประสานกับอัยการ, ตำรวจ, ทหาร และดีเอสไอแล้ว ซึ่งได้รับแจ้งว่าตำรวจจะส่งกำลังพล 30 นาย, ทหาร 30 นายมาประจำการ ส่วนดีเอสไอยังไม่ทราบจำนวนแน่นอน นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลอาญา และสำนักงานอัยการสูงสุดอีกด้วย รวมแล้วคาดว่าจะมีกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 100 คน

ส่วนวิธีการนำตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องนั้นขณะนี้มี 2 แนวทาง คือ การเดินทางโดยรถตู้ ที่มีการประสานรถจากดีเอสไอไว้แล้ว และการคุมตัวเดินเท้ามาจากสำนักงานอัยการสูงสุดมายังศาลอาญาที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันโดยมีทางเดินเชื่อมถึงกันซึ่งทางที่เดินส่วนนี้จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฝ้าดูแลความเรียบร้อยตลอดเส้นทางด้วย สำหรับเมื่อมีการนำตัวมาฟ้องแล้วศาลอาญาจะจัดให้ผู้ต้องหาที่ถูกส่งมาทั้งหมดอยู่ในห้องควบคุมชั้น 1 ของศาล คือห้องเวรชี้ ขณะที่การพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวคดีนี้จะมีคณะผู้บริหารศาลอาญา ในรูปแบบของคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาคำร้อง โดยหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณานั้นดูจากหนัก-เบาของข้อหา และพิจารณาถึงความเป็นไปได้ว่าหากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาแล้วจะหลบหนีหรือไม่ ส่วนประเด็นเรื่องที่จะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานคงไม่นำมาพิจารณาเนื่องจากการสอบสวนในคดีนี้เสร็จสิ้นหมดแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับฝ่าย กปปส.ขณะนี้มีรายงานว่า นายสุเทพ และแกนนำ กปปส.9 คน ได้เตรียมให้ทนายความจัดหาหลักทรัพย์ไว้เพื่อพร้อมยื่นประกันตัวแล้วหากอัยการสั่งฟ้องศาลอาญาในวันพรุ่งนี้ โดยจะจัดกรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งเงินสดสำรองไว้ด้วย ขณะที่แนวร่วม กปปส.กลุ่มต่างๆ ก็เตรียมพร้อมหลักทรัพย์ไว้เช่นกัน อย่างไรก็ดีมีรายงานว่าผู้ต้องหากลุ่มนักวิชาการบางคนก็อาจจะขอเลื่อนนัด ไม่ได้มาพบอัยการเนื่องจากติดภารกิจ

โดยนายเอกณัฐ พร้อมพันธุ์ อดีตโฆษก กปปส.กล่าวว่า พรุ่งนี้ตนพร้อมจะเดินทางมาฟังคำสั่งตามที่อัยการนัดในเวลา 09.30 น. และได้เตรียมหลักฐานที่จะใช้ในการยื่นประกันตัวไว้แล้ว

ด้าน นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดี อัยการสำนักงานคดีพิเศษ กล่าวว่า มี 9 เเกนนำ กปปส. ที่ได้เเจ้งว่าจะเดินทางมาเพื่อฟังคำสั่ง ส่วนผู้ต้องหารายอื่นนั้นยังไม่มีการเเจ้งเข้ามาว่าจะมารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งหรือไม่ เเต่อัยการก็นัดผู้ต้องหาทุกคนมาเพื่อฟังคำสั่งตามปรกติ

เมื่อถามว่า หากแกนนำ กปปส.บางคนไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่งจะดำเนินการอย่างไร

นายวงศ์สกุล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษกล่าวว่า จะดำเนินการตามระเบียบเมื่อผู้ต้องหาไม่มาตามนัด ถ้ามีเหตุอันสมควร เราก็จะพิจารณาตามเหตุผลของเเต่ละราย แต่ยังไม่ทราบว่ามีใครขอเลื่อนมาบ้างหรือไม่ เพราะหากจะมีการขอเลื่อนก็ต้องมีหนังสือเเจ้งเข้ามาขณะนี้ยังไม่ทราบ

มีรายงานว่า คณะทำงานของอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้เสนอความเห็นต่ออธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีหลักฐานและข้อเท็จจริงใหม่ที่จะกลับความเห็นและคำสั่งเดิมของคณะทำงานที่เคยมีคำสั่งไว้เมื่อปี 2557 โดยนัดสั่งคดีแกนนำ กปปส.ในวันพรุ่งนี้(24 ม.ค.) เวลา 09.30 น. อัยการจะแจ้งความเห็นสั่งคดีให้ผู้ต้องหาทั้งหมดทราบ โดยอัยการมีความเห็น ดังนี้

ให้สั่งฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ต้องหาที่ 1 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ผู้ต้องหาที่ 2 นายชุมพล จุลใส ผู้ต้องหาที่ 3 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ต้องหาที่ 4 นายอิสระ สมชัย ผู้ต้องหาที่ 5 นายวิทยา แก้วภราดัย ผู้ต้องหาที่ 6 นายถาวร เสนเนียม ผู้ต้องหาที่ 7 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 8 นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ ผู้ต้องหาที่ 9 นางอัญชะลี ไพรีรักษ์ ผู้ต้องหาที่ 10 นายนิติธร ล้ำเหลือ ผู้ต้องหาที่ 11 นายอุทัย ยอดมณี ผู้ต้องหาที่ 12 ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ผู้ต้องหาที่ 13 พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ ผู้ต้องหาที่ 14 นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ผู้ต้องหาที่ 15 นายยศศักดิ์ โกโศยกานนท์ ผู้ต้องหาที่ 16 นายสุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์ ผู้ต้องหาที่ 17 น.ส.จิตรภัสร์ กฤดากร ผู้ต้องหาที่ 19 นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ต้องหาที่ 25 นายถนอม อ่อนเกตุพล ผู้ต้องหาที่ 28 พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ผู้ต้องหาที่ 31 นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ต้องหาที่ 32 นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ชยุตม์ ศิรโยธินภักดี ผู้ต้องหาที่ 37 นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้ต้องหาที่ 39

พระสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือพระพุทธะอิสระ ผู้ต้องหา ,นายสาธิต เซกัล ผู้ต้องหาที่ 42 นายกิตติชัย ใสสะอาด ผู้ต้องหาที่ 43 นายคมสัน ทองศิริ ผู้ต้องหาที่ 44 นายพิเชษฐ พัฒนโชติ ผู้ต้องหาที่ 46 นายมั่นแม่น กะการดี ผู้ต้องหาที่ 47 นายประกอบกิจ อินทร์ทอง ผู้ต้องหาที่ 48 นายนัสเซอร์ ยีหมะ ผู้ต้องหาที่ 49 นายพานสุวรรณ ณ แก้ว ผู้ต้องหาที่ 50 นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ต้องหาที่ 51 น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ผู้ต้องหาที่ 54 นางทยา ทีปสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 55 พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี ผู้ต้องหาที่ 56 พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ ผู้ต้องหาที่ 57 (รวม 38 ราย) ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ , ยุยง หรือจัดให้เกิดการร่วมกันปิดงาน หยุดงาน , กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดฯ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลฯ , อั้งยี่ , ซ่องโจร , มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ผู้กระทำคนหนึ่งคนใด มีอาวุธ หรือผู้มีหน้าที่สั่งการ , เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแล้วไม่เลิก , ร่วมกันบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายร้ายหรือขู่เข็ญฯ โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในเวลากลางคืน และร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้สามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวางการเลือกตั้ง การลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,113,116,117,209,210,215,216,362,364,365 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76,152

นอกจากนี้ในส่วนของ “นายสุเทพ” ผู้ต้องหาที่ 1 และ “นายชุมพล” ผู้ต้องหาที่ 3 ยังสั่งฟ้องฐานร่วมกันก่อการร้ายด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135/1 ด้วย

โดยในส่วนของ นายนิติธร ล้ำเหลือ ผู้ต้องหาที่ 11, นายอุทัย ยอดมณี ผู้ต้องหาที่ 12 และนายอมร อมรรัตนานนท์ ผู้ต้องหาที่ 37 ยังสั่งฟ้องฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 358 ด้วย

ขณะที่ยังให้สั่งฟ้อง นายแก้วสรร อติโพธิ ผู้ต้องหาที่ 24 นายกิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ต้องหาที่ 27 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ต้องหาที่ 30 นายพิภพ ธงไชย ผู้ต้องหาที่ 33 และนายถวิล เปลี่ยนศรี ผู้ต้องหาที่ 58 (รวม 5 คน) ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดฯ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ฯ , ฐานสนับสนุนการกบฏ และเป็นผู้สนับสนุนยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน ร่วมกันปิดงานงดจ้าง, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธเป็นหัวหน้าหรือ ผู้มีหน้าที่สั่งการ , เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแล้วไม่เลิก, ร่วมกันบุกรุก โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญฯ โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในเวลากลางคืน และร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ให้ผู้เลือกตั้งสามารถใช้สิทธิ หรือขัดขวางหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้งหรือเข้าไป ณ ที่ลงคะแนนเลือกตั้ง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 86, 113, 116, 117, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ มาตรา 76, 152


กำลังโหลดความคิดเห็น