xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” นำทีมยื่นตีความคำสั่ง คสช.ชี้หนุนพรรคใหม่-ทุบพรรคเก่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นำทีมสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มายื่นร้องผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณายื่นตีความคำสั่ง คสช.ที่ 53/60 ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
“อภิสิทธิ์” นำทีมแกนนำ ปชป.ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 แล้ว ยก 5 เหตุผลแย้ง ชี้ขัด รธน. ทั้งรีเซตสมาชิกพรรค ลิดรอนสิทธิสมาชิก เอื้อประโยชน์พรรคใหม่ ทำลายพรรคเก่า พร้อมแนบคำสัมภาษณ์ “ไพบูลย์-สุเทพ” ตั้งพรรคหนุน “ประยุทธ์” มาให้พิจารณาประกอบด้วย



วันนี้ (23 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยแกนนำพรรค เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

โดยพวกเขายกเหตุผลประกอบคำร้อง 5 ข้อ คือ 1. ประเด็นที่กำหนดให้สมาชิกพรรคต้องยืนยันความเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรคภายใน 30 วัน มีผลไม่ต่างจากการรีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมือง หรือเท่ากับบังคับให้สมาชิกพรรคการเมืองพ้นสมาชิกภาพทั้งหมดและต้องสมัครใหม่โดยปริยาย 2. คำสั่งดังกล่าวห้ามไม่ให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุมหรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง ทำให้พรรคไม่สามารถสื่อสารกับสมาชิกพรรคโดยวิธีปกติในทางการเมืองได้ 3. คำสั่งดังกล่าวมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใหม่ บ่อนทำลายพรรคการเมืองเดิมที่มีขนาดใหญ่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกพรรคได้รับความเดือดร้อน 4. คำสั่งดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรคที่เป็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องการปฏิรูปและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญทำให้พรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกพรรคได้รับความเสียหาย และ 5. คำสั่งดังกล่าวตราขึ้นโดยมิได้ปฏิบัติตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญมาตรา77 และมาตรา 132 (2)

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คำสั่งนี้ไม่ได้ปลดล็อคทางการเมือง เพราะการห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองยังมีผลบังคับใช้อยู่ แต่อนุญาตให้คนตั้งพรรคการเมืองใหม่เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 สามารถหาสมาชิกได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการโน้มน้าวสมชิกพรรคการเมืองอื่นให้ลาออกไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ได้ แต่ไม่อนุญาตให้พรรคเก่าหา สมาชิกหรือดำเนินกิจกรรมการเมืองได้ โดยกำหนดว่าตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย.ให้สมาชิกยืนยันการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองด้วยการทำหนังสือไปถึงหัวหน้าพรรคและแสดงหลักฐานว่ามีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามครบถ้วนตามกฎหมายพรรคการเมือง รวมทั้งต้องชำระเงินค่าบำรุงพรรคตามกฎหมาย โดยให้หัวหน้าพรรคตรวจสอบภายใน 30 วันหลังจากนั้น ซึ่งปัจจุบันพรรคมีสมาชิกถึง 2.7 ล้านคน คำสั่งดังกล่าวจึงก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเป็นภาระที่เกินกว่าเหตุ อีกทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างพรรคการเมืองเดิมกับพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเป็นการตรากฎหมายที่ละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ที่บัญญัติมิให้มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับความคิดทางการเมือง

นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังระบุว่า คำสั่งนี้ยังไม่เข้าข่ายเงื่อนไขตามมาตรา 44 ที่ต้องทำเฉพาะเรื่องปรองดอง สามัคคี ความมั่นคง และการปฏิรูป และตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 279 ก็ไม่ได้บัญญัติให้คำสั่งนี้ไม่ถือเป็นที่สุดเหมือนที่เคยเขียนไว้ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ได้ต้องการให้คำสั่งหัวหน้า คสช.มายกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

เขายังกล่าวว่า คำสั่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ปราศจากเหตุผลโดยสิ้นเชิงเพราะเหตุผลที่นำมาอ้างล้วนไม่สอดคล้องกับความจริง 4 ประการ คือ 1. กรณีที่อ้างว่ามีสมาชิกซ้ำซ้อนกันซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีการตรวจสอบและแก้ปัญหานี้ไปแล้ว 2. ที่อ้างว่าสมาชิกพรรคปัจจุบันอาจไม่ตั้งใจมาเป็นสมาชิกพรรคก็ขอยืนยันว่าสมาชิกของพรรคต้องถ่ายภาพลงลายมือชื่อ มีการพิมพ์ลายนิ้วมือ ข้ออ้างนี้จึงไม่เป็นความจริง 3. การอ้างว่าคำสั่งนี้เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมืองทบทวนอุดมการณ์ก็ไม่เป้นคามจริง เพราะการประชุมใหญ่ไม่สามารถทำได้ และ 4. ตามกฎหมายเดิมไม่ได้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างพรรคการเมืองเก่ากับพรรคการเมืองใหม่ เนื่องจากทุกพรรคต้องจัดให้มีสมาชิกที่ชำระเงินค่าบำรุงพรรคในจำนวนและตามเงื่อนเวลาที่เสมอภาคกันอยู่แล้ว

“ผมไม่มีเจตนาสร้างปัญหาทางการเมืองให้กับผู้ออกคำสั่งนี้ แต่ผมมีหน้าที่ที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และผมต้องการเห็นการปฏิรูปการเมืองเดินหน้า การตรากฎหมายเป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่มีการใช้อำนาจบิดเบือนจนทำให้เกิดวิกฤตอย่างในปัจจุบัน ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขความเดือดร้อน สร้างภาระเกินแก่เหตุ จึงขอให้เสนอไปยังหน่วยงานรัฐแก้ไขไม่ให้ก่อให้เกิดผลกระทบและส่งศาลรัฐธรรมนูญได้หากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ และขอให้พิจารณาโดยเร่งด่วนเพราะความไม่เป็นธรรมจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการยื่นคำร้องดังกล่าวยังมีการแนบสำเนาประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่องตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2557 และสำเนาข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เรื่องการตั้งพรรคการเมืองใหม่ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงประเด็นเสนอขอให้แก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองด้วย

ด้านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่าจะมีการรายงานในที่ประชุมให้รับทราบถึงคำร้องดังกล่าวว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อนหรือทำให้เกิดภาระที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ และหากมีปัญหาเรื่องความชอบของรัฐธรรมนูญก็อาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าผู้ตรวจฯพิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวชอบแล้วก็จะต้องชี้แจงให้ผู้ร้องรับทราบต่อไป พร้อมกับยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว และให้ความมั่นใจว่าผู้ตวจการแผ่นดินไม่ได้ทำงานภายใต้แรงกดดันของใครแต่ปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระตามข้อเท็จจริง





กำลังโหลดความคิดเห็น