เมืองไทย 360 องศา
ถือว่าเรียกเสียงฮือฮาโวยวายจากพวกพรรคการเมืองได้ดังพอสมควรกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 53 / 2560 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ทึ่ให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งแม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการแก้ไขในประเด็นใดบ้าง แต่จากคำสั่งดังกล่าว ก็มีรายละเอียดในเรื่องของการกำหนดให้สมาชิกของแต่ละพรรคการเมืองที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคต่อไปก็ต้องทำหนังสือยืนยันไปยังหัวหน้าพรรค พร้อมกับแสดงหลักฐานการไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามและชำระค่าบำรุงสมาชิกพรรคภายใน 30 วัน นับจากวันที่ 1 เมษายน 2561 หากพ้นกำหนดถือว่าพ้นสมาชิก
เรื่องการอนุญาตให้ประชุมใหญ่เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค การตั้งสาขาพรรค การแก้ไขข้อบังคับพรรค รวมไปถึงการขออนุญาตการขอขยายเวลา ซึ่งนั่นเป็นข้อกำหนดสำหรับพรรคการเมืองเก่า หรือพรรคที่มีอยู่เดิม ส่วนพรรคที่จะตั้งขึ้นใหม่กลับอนุญาตให้ทำได้เพียงแต่ต้องขออนุญาตเท่านั้น
แน่นอนว่า กลายเป็นสองเรื่องใหญ่ คือ หนึ่ง คำสั่ง คสช. ดังกล่าวที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ให้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติพรรคการเมือง และคำสั่ง คสช. ที่อนุญาตให้แต่ละพรรคสามารถทำกิจกรรมได้โดยมีเงื่อนไข และสองขยักโดยปล่อยออกมาทีละขยัก
อย่างไรก็ดี ทั้งสองเรื่องดังกล่าวเริ่มมีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติออกมาให้เห็นเมื่อราวสองสามสัปดาห์ก่อน จากการที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. และ ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ เสนอให้แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง โดยเฉพาะประกาศการงดเว้นในเรื่องการทำไพรมารีโหวต หรือการหยั่งเสียงหาผู้สมัครในเขตเลือกตั้งของพรรคการเมือง อ้างถึงความไม่พร้อมของพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่ รวมไปถึงพรรคเก่าซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม อะไรประมาณนี้
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดวันให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม หรือประชุมพรรคตามกำหนดเวลาแบบสองขยักดังกล่าว
ทั้งสองเรื่องดังกล่าวย่อมต้องส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองอย่างแน่นอน โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ กับ พรรคเพื่อไทย ที่เมื่อพิจารณากันในเนื้อหาของคำสั่ง คสช. ทั้งเรื่องการ “ปลดล็อก” พรรคการเมือง และการเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติพรรคการเมือง ทำให้สองพรรคนี้โดนเข้าไปเต็มๆ โดยเฉพาะในเรื่อง “สมาชิกพรรค” ซึ่งหากพิจารณากันอย่างตรงไปตรงมามันก็ไม่ต่างจากการ “เซตซีโร่” พรรคการเมืองตามที่มีการกล่าวหาออกมาจริงๆ นั่นแหละ เพราะการให้ยืนยันตัวตนสมาชิก ยืนยันเรื่องคุณสมบัติตามกำหนด เพราะหากพ้นกำหนดไปแล้วก็ถือว่าพ้นสมาชิกภาพ มองในความเป็นจริง ก็คือ “เริ่มกันใหม่” นั่นแหละ
แม้ว่าในหลักการอาจจะดูแล้วไม่เห็นแปลกสมเหตุสมผลเพื่อให้สมาชิกได้แสดงตัวตนว่ามีอยู่จริง ไม่ใช่ “สมาชิกผี” อีกมุมหนึ่งมันก็เหมือนกับการหาสมาชิกใหม่ ก็คือ การเซตซีโร่พรรคการเมืองนั่นแหละ
จากคำสั่ง คสช. ดังกล่าวทำให้เวลานี้ทั้งสองพรรค คือ ประชาธิปัตย์ กับ เพื่อไทย เตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นคำสั่งที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ อีกทั้งเป็นการพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าคำสั่งของคนเพียงคนเดียวจะมีความหมายกว่าคนส่วนมากหรือไม่
แน่นอนว่า งานนี้ถือเป็น “งานใหญ่” ครั้งแรกของสองพรรคการเมือง แม้ว่าจะไม่ได้แถลงจับมือกันในการเคลื่อนไหว แต่ท่าทีของทั้งสองพรรคเป็นไปในทางเดียวกัน พรรคเพื่อไทยระดับแกนนำเรียงหน้ากันแถลงคัดค้าน ขณะที่ฝ่ายประชาธิปัตย์ระดับแกนนำ ทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ออกโรงชน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เต็มตัวเป็นครั้งแรก โจมตีว่านี่คือ การแก้ปัญหาให้กับคนเพียงคนเดียว เป็นการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมืองไม่มีความเป็นธรรมาภิบาล
เชื่อว่า ประเด็นเหล่านี้จะจุดไฟให้โหมรุนแรงขึ้นมาแน่นอนหลังจากปีใหม่นี้ เพราะเมื่อสองพรรคเดินหน้าไปพร้อมกัน แม้ว่านี่อาจไม่ใช่เป็นการ “จับมือ” ด้วยกัน แต่ความหมายมันย่อมออกมาทางนั้น เป็นการแสวงหาจุดร่วมสงวนจุดต่าง ลุยไปข้างหน้า ซึ่งพรรคทหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หนักใจแน่ !!