xs
xsm
sm
md
lg

ทนาย พธม.รับ 13 จำเลยคดีสนามบิน ไม่มีเงินจ่าย ทอท. 500 กว่าล้าน รอยึดทรัพย์ขายทอดตลาดหรือฟ้องล้มละลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ทนายพันธมิตรฯ เผย 13 จำเลยคดีชุมนุมสนามบิน ไม่มีเงินพอชดใช้ 500 กว่าล้านให้ ทอท. เป็นอำนาจฝ่ายโจทก์จะบังคับคดี อายัดทรัพย์สินขายทอดตลาด โดยมีเวลา 10 ปี หรือฟ้องล้มละลาย ถ้าทรัพย์สินไม่มากพอจะชำระหนี้ หากพบว่าบังคับคดีมิชอบ ฝ่ายจำเลยจึงจะยื่นคัดค้าน


วันนี้ (6 ม.ค.) นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีการบังคับคดี ที่อัยการออกหนังสือแจ้งให้ 13 แกนนำพันธมิตรฯ จำเลยคดีแพ่ง ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด มหาชน (ทอท.) ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการชุมนุมที่สนามบินดอนเมือง และ สุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 จำนวน 500 กว่าล้านบาท เพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง ว่า แกนนำพันธมิตรฯ ดังกล่าวได้รับหนังสือการบังคับคดีจากอัยการ ตามที่ได้รับมอบอำนาจจาก ทอท. โจทก์ เจ้าหนี้ ให้เป็นผู้ดำเนินการติดตามการบังคับคดีแล้ว โดยขั้นตอนนี้เป็นอำนาจของฝ่ายโจทก์เจ้าหนี้ ส่วนจำเลย ลูกหนี้ไม่มีอำนาจต่อรองการบังคับคดี ซึ่งฝ่ายจำเลยก็ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอในการชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาถึงที่สุดดังกล่าว

นายสุวัตร กล่าวอีกว่า ตามขั้นตอนจำเลย ลูกหนี้ คงไม่ต้องแจ้งอะไร เพราะว่าไม่มีทรัพย์สินมาชำระได้ โดยฝ่ายโจทก์ เจ้าหนี้ ก็จะติดตามตรวจสอบดูทรัพย์สินของจำเลยแต่ละรายว่ามีอะไรบ้าง เพียงพอชำระหนี้อย่างไร หากมีทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่จะนำมาขายทอดตลาดได้ ก็จะดำเนินยึดอายัดมาประกาศขายทอดตลอด เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งการติดตามหาทรัพย์สินมาบังคับคดีจะมีเวลาดำเนินการ 10 ปี แต่ถ้าระหว่างนี้การตรวจสอบชัดเจนว่าจำเลยที่เป็นลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินที่มีมูลค่าจะนำมาขายทอดตลอดชำระหนี้ได้ โจทก์ก็จะยื่นฟ้องเป็นคดีล้มละลายต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้จำเลยที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นบุคคลล้มละลาย โดยระหว่างขั้นตอนเหล่านี้จำเลยทำได้เพียงว่าหากมีการบังคับคดีไม่ชอบจึงจะยื่นคัดค้านได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการแจ้งบังคับคดีนั้น หนังสือได้ลงนามโดยอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 1 ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2560 เเจ้งชำระหนี้ตามคำพิพากษา ที่มีหมายบังคับคดีแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 6453, 6474/2551 ถึง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือ นายรัชต์ชยุตม์ ศิรโยธินภักดี, นายนรัญยู หรือ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, นายสำราญ รอดเพชร, นายศิริชัย ไม้งาม, นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และ นายเทิดภูมิ ใจดี แกนนำกลุ่มแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

โดยหนังสือเเจ้งชำระหนี้มีเนื้อหาว่า สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 1 ได้รับสำเนาหมายการบังคับคดีจากบริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด มหาชน (ทอท.) โจทก์มาดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดี จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. องค์กรอัยการเเละพนักงานอัยการ 2553 จึงเเจ้งให้บุคคลทั้ง 13 ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ศาลเเพ่งที่ได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งบุคคลทั้ง 13 คน ร่วมกันชำระหนี้ จำนวน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2551 และให้ร่วมกันชำระค่าธรรมเนียมเเละทนายความแทนโจทก์เป็นเงิน 597,847 บาท ให้แก่ ทอท. โจทก์ มิเช่นนั้นโจทก์จะนำพนักงานบังคับคดีไปยึดอายัดทรัพย์สินของบุคคลทั้ง 13 คนขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้เเก่โจทก์

สำหรับคดีนี้ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 1 สำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจที่จะสามารถดำเนินการบังคับคดีในนามของรัฐที่หน่วยงานของรัฐเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในนามของรัฐได้ หากส่วนราชการเป็นผู้ชนะคดีตาม พ.ร.บ. องค์กรอัยการฯ โดยที่ไม่จำเป็นว่าคดีดังกล่าวอัยการจะเป็นโจทก์ฟ้องเองหรือไม่

มูลเหตุคดีนี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 51 พวกจำเลย ร่วมกันนำผู้ชุมนุมหลายหมื่นคน ไปบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ ดอนเมือง เพื่อประท้วงรัฐบาลและขับไล่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ทอท. จึงประกาศหยุดให้บริการสนามบินดังกล่าว

สำหรับคดีนี้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ 13 แกนนำ พธม. ร่วมกันชดใช้เงินกว่า 522 ล้านบาทแล้ว ต่อมา ทอท. โจทก์ ได้ขอให้ศาลออกหมายคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษา เนื่องจากจำเลยไม่ได้ยื่นฎีกาในระยะเวลา

กระทั่งต่อมา 13 แกนนำ พธม. ได้ยื่นคำขออนุญาตขยายฎีกา โดยอ้างเหตุสุดวิสัยการปิดหมายแจ้งคดี ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ต่อศาลแพ่ง ที่เป็นศาลชั้นต้นปรากฏว่าศาลยกคำร้อง ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม59 โดยยกคำร้องเช่นเดียวกัน เนื่องจากเห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีร่วมกันปิดสนามบินโดยชอบแล้ว ในปี 2559 ทนายความผู้รับมอบอำนาจของ 13 แกนนำ พธม. จึงได้ยื่นฎีกาเกี่ยวกับคำขอขยายเวลาฎีกานี้ ต่อศาลฎีกาอีก ซึ่งต่อมาวันที่ 21 กันยายน 2560 ศาลฎีกาได้ยกคำร้องขอขยายเวลาฎีกาของจำเลยแล้ว ผลแห่งคดีแพ่งนี้จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ 13 แกนนำ พธม. ร่วมกันชดใช้เงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งตกคนละประมาณ 40,166,226 บาทเศษ


กำลังโหลดความคิดเห็น