xs
xsm
sm
md
lg

เสียหาย...เพราะถูกสั่งให้เกษียณก่อนกำหนด !

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ใกล้สิ้นปีงบประมาณ 30 กันยายน แล้ว สำหรับคนทั่วไปก็คงจะรู้สึกเฉยๆ กับวันนี้ แต่จะมีกลุ่มคนที่รู้สึกใจหายกับวันดังกล่าว ซึ่งก็คือผู้ที่จะ “เกษียณอายุราชการ” นั่นเองครับ เพราะคุ้นเคยกับการทำงานมาตลอด ช่วงแรกๆ จึงอาจต้องใช้เวลาปรับตัว จากที่ต้องไปทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน มาเป็นทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ตนชอบแทน จะว่าไป...คนอายุ 60 ปี สมัยนี้ ยังดูไม่แก่และยังแข็งแรงอยู่เลยนะครับ จึงสามารถใช้ช่วงเวลาหลังเกษียณทำในสิ่งที่ชอบและยังไม่มีโอกาสได้ทำ

ที่น่าคิด...คืออีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าสังคมไทยและทั่วโลก จะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หรือ Aging Society มองไปทางไหนก็จะเห็นแต่ผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับวัยแรงงาน การวางแผนอนาคตให้กับตนเองในวัยเกษียณจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งสุขภาพและการเงิน (การออม) ซึ่งต้องเตรียมตัวกันตั้งแต่ตอนนี้เลย และการปลูกฝังค่านิยมเรื่องความกตัญญูก็เป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องตระหนัก !

สำหรับคดีปกครองที่พูดคุยกันวันนี้ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกษียณอายุ โดยเป็นกรณีของแพทย์ประจำตำบลรายหนึ่ง ที่ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งให้เกษียณอายุโดยไม่ชอบ เนื่องจากยังมีอายุไม่ครบ 60 ปี แต่มีการลงทะเบียนข้อมูลประวัติปีเกิดคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความเป็นจริง

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีคือแพทย์ประจำตำบล ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อำเภอว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่งคืออายุครบ 60 ปี ในวันที่ 31 มีนาคม 2552 ตามข้อมูลประวัติที่ลงไว้ในทะเบียนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน (สน.11) ผู้ฟ้องคดีจึงโต้แย้งว่าตนเกิดปี พ.ศ. 2495 มิใช่ พ.ศ. 2492 จึงยังไม่ครบกำหนดที่จะเกษียณอายุ นายอำเภอ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) จึงได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีนำเอกสารหลักฐานมาขอแก้ไขให้ถูกต้องก่อนที่จะครบวาระ แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้มาติดต่อเพื่อให้มีการแก้ไข

ต่อมานายอำเภอจึงได้มีหนังสือรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดว่าผู้ฟ้องคดีต้องพ้นจากตำแหน่งแพทย์ประจำตำบล เนื่องจากมีอายุครบ 60 ปี และผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 เป็นต้นไป

หลังจากที่ได้รับทราบคำสั่ง ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือขอให้นายอำเภอแก้ไข พ.ศ. เกิดในทะเบียนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่นายอำเภอแจ้งว่าไม่สามารถแก้ไขให้ได้เนื่องจากพ้นกำหนดเวลาและผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว รวมทั้งการดำเนินการดังกล่าวได้ถือปฏิบัติตามหนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0311.2/3277 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2538 ที่ระบุว่า ในกรณีวัน เดือน ปีเกิด
ที่ปรากฏในเอกสารหลักฐานต่างๆ ไม่ตรงกันและไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเอกสารหลักฐานใดแสดงวัน เดือน ปีเกิดที่แท้จริง การนับอายุของบุคคลเพื่อทราบว่าจะต้องพ้นตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเมื่อใด จะต้องพิจารณาข้อมูลจากทะเบียนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นสำคัญ ซึ่งรวมถึงตำแหน่งแพทย์ประจำตำบลด้วย

ประเด็นนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าเมื่อพิจารณา พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 มาตรา 47 มาตรา 31 (1) และมาตรา 14 (1) เห็นได้ว่าตำแหน่งแพทย์ประจำตำบลจะครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งแตกต่างกับข้าราชการพลเรือนทั่วไปที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ข้าราชการผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น ในการพิจารณาว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งแพทย์ประจำตำบลพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากวัน เดือน ปี เกิด ที่ถูกต้องแท้จริงของผู้นั้นเป็นข้อสาระสำคัญ

โดยเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการและผู้ออกคำสั่งมีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องผูกพันอยู่กับคำขอหรือพยานหลักฐานจากผู้ฟ้องคดีเท่านั้น (มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539) เมื่อผู้ฟ้องคดีได้เคยโต้แย้งเกี่ยวกับปี พ.ศ. เกิด ก่อนที่จะมีคำสั่งที่พิพาท นายอำเภอจึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบข้อโต้แย้งของผู้ฟ้องคดี และรายงานผลการตรวจสอบและพิจารณาข้อโต้แย้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาสั่งการต่อไป

เมื่อมีการออกคำสั่งโดยมิได้ตรวจสอบเอกสารทางทะเบียนอื่นๆ ประกอบการพิจารณาด้วย จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีมิได้พิจารณาตามคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีก่อนมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งแพทย์ประจำตำบล กรณีจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ประกอบกับพยานเอกสารต่างๆ ได้แก่ ทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนนักเรียนของโรงเรียน ได้ระบุเกี่ยวกับวัน เดือน ปีเกิดของผู้ฟ้องคดีตรงกันว่า ผู้ฟ้องคดีเกิดปี พ.ศ. 2495 โดยไม่ระบุ วันที่ และเดือนเกิดของผู้ฟ้องคดี มีเพียงทะเบียนประวัติ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน (สน.11) เท่านั้น ที่ระบุว่าผู้ฟ้องคดีเกิดวันที่ 1 เมษายน 2492 จึงเห็นได้ว่าแม้ข้อมูลเกี่ยวกับ วัน เดือน ปีเกิดของผู้ฟ้องคดีตามเอกสารดังกล่าวไม่ตรงกันทั้งหมด แต่ข้อมูลเกี่ยวกับปีเกิดของผู้ฟ้องคดีตามเอกสารอื่นๆ สอดคล้องตรงกันว่าผู้ฟ้องคดีเกิดปี พ.ศ. 2495 และในการบันทึกข้อมูลประวัติแพทย์ประจำตำบล เป็นการบันทึกโดยอาศัยฐานข้อมูลจากหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน และหลักฐานการศึกษาเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าการบันทึกข้อมูลในประวัติของผู้ฟ้องคดี อาจมีข้อผิดพลาดหรืออาจมีการแก้ไขข้อมูลภายหลัง

เรื่องนี้จึงเป็นกรณีที่รู้ปี พ.ศ.เกิดของผู้ฟ้องคดี ซึ่งตามมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ถือว่าผู้ฟ้องคดีเกิดวันที่ 1 มกราคม 2495 ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งแพทย์ประจำตำบลเมื่อครบ 60 ปี คือวันที่ 1 มกราคม 2555 การสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งในขณะที่ยังมีอายุไม่ครบ 60 ปี จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิด จังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ออกคำสั่ง จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีตามเงินเดือนในช่วงเวลาที่เหลือของการดำรงตำแหน่งดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย (คดีหมายเลขแดงที่ อ.1434/2558)

เรื่องนี้...ถือเป็นอุทาหรณ์ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจหน้าที่ต่างๆ ที่เมื่อเกิดประเด็นปัญหาหรือทราบข้อโต้แย้งใดๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจหน้าที่สามารถดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง ตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ ได้เองตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง โดยไม่ต้องรอแต่เพียงเอกสารจากคู่กรณีหรือ
ผู้รับคำสั่งเพียงเท่านั้น ในส่วนของประชาชนก็เช่นกันหากเกิดข้อสงสัยใดๆ ในการดำเนินการของรัฐ หรือต้องการแก้ไขตรวจสอบข้อมูลของตนเอง ก็สามารถยื่นคำขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ได้ครับ

ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น