เลขาผู้ตรวจฯ แจงพิจารณาพฤติกรรม “ธีรวัฒน์” ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เผยให้เอกสารที่มีข้อมูลกระทบผู้ร้องไม่ได้ ชี้พ้นความรับผิดชอบผู้ตรวจฯ ให้อุทธรณ์ผ่านประธาน กกต. ย้ำทำตาม กม. ปัดรวบรัด ย้อนทำเรื่องให้ชี้แจงนาน 3 เดือนกลับนิ่ง แถมมายื่นช่วงคาบเกี่ยวมีมติยังคงรับพิจารณา แต่คำชี้แจงหักล้างไม่ได้ ดักกรณีนี้เชื่อมโยงถึงตำแหน่งปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่อง 20 ปีก่อน
วันนี้ (20 ก.ย.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านพรรคการเมือง มอบทนายความยื่นหนังสือโต้แย้งมติผู้ตรวจการแผ่นดินที่ชี้ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายขัดจริยธรรมและใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ 2540 ขอสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้อง ว่าทางผู้ตรวจก็จะมีการพิจารณาตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ และไม่ใช่เอกสารทุกรายการจะสามารถให้แก่ผู้ที่ร้องตามที่ขอได้ ถ้าพิจารณาแล้วมีข้อมูลบางอย่างที่อาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อผู้ร้องในสำนวนก็สามารถพิจารณาไม่ให้ได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผู้ตรวจมีมติก่อนหน้านี้ ผู้ตรวจก็ได้ส่งสำนวนคำร้อง มูลเหตุที่นำสู่การมีมติไปยังประธาน กกต.แล้ว โดยนายธีรวัฒน์สามารถไปขอทราบเอกสารหลักดังกล่าวได้จากประธาน กกต. รวมถึงที่จะยื่นอุทธรณ์ก็ดำเนินการยื่นต่อประธาน กกต.ได้เลย เพราะเรื่องดังกล่าวถือว่าพ้นจากความรับผิดชอบของผู้ตรวจฯแล้ว
ส่วนที่นายธีรวัฒน์ระบุว่าการดำเนินการของผู้ตรวจฯ รวบรัด ไม่โปร่งใส มีเจตนามุ่งร้ายนั้น ยืนยันได้ว่าการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นการพิจารณาไปตามกฎหมาย เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ผู้ตรวจหยิบมาพิจารณาเอง แต่ผู้ร้องมีตัวตนชัดเจน เมื่อมาร้องก็ต้องดำเนินการ ถ้าไม่ทำก็อาจถูกข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้เช่นกัน และในกระบวนการตรวจสอบก็ไม่ได้ทำรวบรัดอย่างที่กล่าวหา โดยผู้ตรวจฯ รับคำร้องตั้งแต่ ก.ค. 2558 จากนั้นก็มีการตรวจสอบเก็บข้อมูลพยานแวดล้อมต่างๆ ก่อนจะมีหนังสือแจ้งไปยังประธาน กกต.ในฐานะผู้บังคับบัญชาให้ชี้แจงต้นเดือน ก.พ. 59 ซึ่งประธาน กกต.ได้ขอขยายเวลาและตอบกลับมาในเดือน พ.ค.ว่าไม่มีข้อมูลเป็นเรื่องส่วนตัว ผู้ตรวจฯ จึงมีมติทำหนังสือถึงนายธีรวัฒน์ลงวันที่ 7 มิ.ย.ให้ชี้แจงกลับมาภายใน 30 วัน แต่พ้นระยะเวลาดังกล่าวก็ยังไม่มีหนังสือชี้แจงของนายธีรวัฒน์มาจนปรากฏเป็นข่าวว่าที่ประชุมผู้ตรวจฯ จะพิจารณาลงมติเรื่องนี้ในวันที่ 13 ก.ย. นายธีรวัฒน์จึงมีหนังสือชี้แจงกลับมาเย็นวันที่ 12 ก.ย.ซึ่งผู้ตรวจก็ยังรับพิจารณาแต่ก็เห็นว่าคำชี้แจงของนายธีรวัฒน์ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานที่ผู้ตรวจฯ มี และมีมติว่านายธีรวัฒน์มีพฤติกรรมผิดจริยธรรม
“ถ้าบอกว่าประเด็นคำถามที่ส่งไปให้ชี้แจงไม่ชัดเจน ทำไมเมื่อท่านได้รับหนังสือแล้วไม่แย้งกลับมา หรือถ้าบอกว่าผู้ตรวจฯ รวบรัด ถ้านับเวลาตั้งแต่ผู้ตรวจมีหนังสือไปยังนายธีรวัฒน์วันที่ 7 มิ.ย. ผ่านไป 30 วันท่านยังไม่ชี้แจง มาชี้แจงวันที่ 12 ก.ย. รวมระยะเวลา 3 เดือน ท่านไม่เคยมีหนังสือมายังผู้ตรวจฯ ขอขยายเวลาสอบสวน อีกทั้งเมื่อท่านส่งหนังสือชี้แจงมาเย็นวันที่ 12 ก.ย.ก่อนที่ผู้ตรวจจะประชุมวันที่ 13 ก.ย. ผู้ตรวจก็ยังพิจารณาให้ อย่างนี้ไม่น่าจะเรียกว่ารวบรัด แต่คำชี้แจงของท่านทางผู้ตรวจฯ เห็นว่าหักล้างกับที่ผู้ตรวจสอบไม่ได้ และหลังจากผู้ตรวจฯ มีมติ ก็ทำความเห็นโดยประธานผู้ตรวจฯ ลงนามหนังสือวันที่ 14 ก.ย.และส่งออกถึงประธาน กกต.เช้าวันที่ 15 ก.ย. ท่านก็เพิ่งจะมีหนังสือขยายเวลาสอบสวนส่งมาบ่ายวันที่ 15 ซึ่งมันก็สวนกันไม่ทันกันแล้ว”
เมื่อถามว่าประธาน กกต.ระบุว่าเป็นเรื่องเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และจะให้โอกาสนายธีรวัฒน์ในการชี้แจง ดังนั้น ถ้าประธานตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนจะสามารถทำได้หรือไม่ นายรักษเกชากล่าวว่า ผู้ตรวจฯ ตระหนักอีกว่าประมวลจริยธรรมใช้บังคับแก่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งขณะนั้นเท่านั้น กรณีที่มีการกล่าวหานี้ผู้ตรวจฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าลักษณะพฤติกรรมเชื่อมโยงมาถึงการดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน ส่วนการดำเนินการตรวจสอบของประธานก็ต้องเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ กกต.