xs
xsm
sm
md
lg

สถานะของประกาศ กกต. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ทราบผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญกันไปแล้วนะครับ เรียกได้ว่าผ่านฉลุยเลยทีเดียว !

ก่อนหน้านี้ได้เคยมีกรณีผู้มีสิทธิลงมติร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 13 ราย ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลปกครองว่าประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ โดยเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ข้อ 4 และข้อ 5 ของประกาศดังกล่าวมีการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการแสดงความคิดเห็นที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 13 รายซึ่งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ เห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ขัดต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และมีการกำหนดเนื้อหาเกินกว่าขอบเขตที่ มาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 บัญญัติไว้ รวมทั้งยังขยายฐานความรับผิดทางอาญาที่เกินขอบเขตไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายอีกด้วย

นอกจากนี้ในการออกอากาศรายการ “7 สิงหาประชามติร่วมใจ” มีการกำหนดสัดส่วนผู้ร่วมรายการและการจัดสรรเวลาในการให้โอกาสแสดงความคิดเห็นที่ไม่เป็นธรรม ขัดต่อระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นเพิ่มเติม คำอธิบายหลักการและเหตุผลของประเด็นเพิ่มเติม กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียง และการจัดสรรเวลาออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2559

ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองเพิกถอนประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งที่พิพาท และระงับการออกอากาศรายการ “7 สิงหาประชามติร่วมใจ”

ประเด็นแรกที่ศาลพิจารณาคือ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 มีลักษณะเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? โดยวินิจฉัยว่า ข้อ 4 ของประกาศฯ ซึ่งมีข้อกำหนดว่า ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียง บุคคลสามารถดำเนินการด้วยวิธีการที่ไม่มีลักษณะผิดไปจากข้อเท็จจริง รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดมหรือข่มขู่ และไม่ขัดต่อกฎหมายอื่น เช่น

(1) ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมให้เข้าใจอย่างครบถ้วนจากเว็บไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลแสดงความคิดเห็นของตน (2) แสดงความคิดเห็นโดยใช้ถ้อยคำที่สุภาพ (3) แสดงความคิดเห็นด้วยข้อมูลที่มีความชัดเจน ไม่กำกวมอันอาจทำให้บุคคลอื่นเห็นว่าเป็นการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง (4) การนำเสนอหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการเพื่อประกอบการแสดงความคิดเห็นให้ผู้มีสิทธิออกเสียง บุคคลนั้นควรตรวจสอบความถูกต้องและแสดงที่มาของงานวิจัยนั้นด้วย (5) การสัมภาษณ์ผ่านสื่อ เพื่อแสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน
(6) การนำเข้าข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นพร้อมเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตนในเว็บไซต์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือการส่งต่อข้อมูลดังกล่าว โดยไม่มีการเพิ่มเติมความเห็น

เมื่อพิจารณาข้อกำหนดดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีลักษณะเป็นการกำหนดวิธีการในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติที่สามารถดำเนินการได้ แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะผิดไปจากข้อเท็จจริง รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ซึ่งมีโทษทางอาญา และการดำเนินการดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อกฎหมายอื่น

โดยประกาศที่พิพาทใช้คำว่า “เช่น” และกำหนดตัวอย่างวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติไว้ ซึ่งมีลักษณะเป็นเพียงคำแนะนำและยกตัวอย่างวิธีการที่เห็นว่าประชาชนสามารถดำเนินการได้ และประกาศดังกล่าวไม่ได้มีข้อบังคับให้ประชาชนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งประชาชนย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นด้วยวิธีการใดๆ ได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย

สำหรับข้อ 5 ของประกาศฯ ซึ่งห้ามการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ การนำเข้าหรือการส่งต่อข้อมูล การทำหรือส่งสัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย การจัดเวทีสัมมนาอภิปราย การชักชวนให้ใส่เสื้อหรือติดป้ายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขาย แจกจ่ายสิ่งของดังกล่าวในลักษณะรณรงค์ทั่วไป การแจกเอกสารใบปลิว การรายงานข่าวหรือการจัดรายการของสื่อมวลชน การรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคม โดยข้อความอันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ หรือการชุมนุมทางการเมือง หรือสร้างความวุ่นวายทางสังคม หรือขัดขวางการออกเสียงนั้น โดยประกาศที่พิพาทไม่ได้กำหนดถึงผลหรือโทษของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม และไม่ได้อ้างถึงบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญา การกระทำดังกล่าวจึงไม่มีโทษอาญา

ข้อ 5 ดังกล่าว จึงเป็นการที่ กกต.อธิบายแนวทางหรือวิธีการในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งสามารถดำเนินการได้หากไม่มีการปลุกระดมและไม่เข้าลักษณะความผิดตามกฎหมาย เป็นเพียงคำแนะนำทั่วไปหรือตัวอย่างที่อธิบายเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพื่อให้ออกเสียงประชามติเป็นไปโดยความสงบเรียบร้อยเท่านั้น

เมื่อประกาศฯ ดังกล่าว เป็นเรื่องการอธิบายทำความเข้าใจ ไม่มีสภาพบังคับและไม่บทลงโทษทางกฎหมาย จึงไม่ใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกเสียงประชามติอันมีลักษณะเป็นกฎ

ส่วนกรณีมีการถูกจับกุมและถูกห้ามกระทำการต่างๆ นั้น ไม่ใช่การถูกดำเนินคดีเนื่องจากฝ่าฝืนประกาศที่พิพาท แต่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอื่น ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีไม่ได้ทำความผิดต่อกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยวางแนวทางไว้แล้วว่าผู้ได้รับผลกระทบย่อมฟ้องร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรมได้

สรุปก็คือ ประกาศที่พิพาทมิได้มีลักษณะเป็นกฎ ที่จะกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากเป็นเพียงคำอธิบาย ไม่มีสภาพบังคับและไม่มีบทกำหนดโทษ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีในข้อหานี้ต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ประเด็นที่สอง การจัดให้มีรายการ “7 สิงหา ประชามติร่วมใจ” ไม่ชอบด้วยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นเพิ่มเติม คำอธิบายหลักการและเหตุผลของประเด็นเพิ่มเติม กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียง และการจัดสรรเวลาออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2559 หรือไม่ ?

ประเด็นนี้ ศาลได้พิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 7 มาตรา 9 วรรคสอง มาตรา 10 วรรคหนึ่ง มาตรา 12 มาตรา 11 ประกอบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นเพิ่มเติม คำอธิบายหลักการและเหตุผลของประเด็นเพิ่มเติม กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียงและการจัดสรรเวลาออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2559 ข้อ 21 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดว่า การจัดสรรเวลาเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ความคิดเห็นโดยสถานีต้องคำนึงถึงการให้โอกาสแต่ละฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นโดยเท่าเทียมกัน วรรคสอง กำหนดว่า ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้เกี่ยวกับจัดสรรเวลาการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นโดยสถานีอื่นโดยอนุโลม วรรคสาม กำหนดว่า ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติให้อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการแสดงความคิดเห็นตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

จากบทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบดังกล่าว เห็นได้ว่า ในการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญนั้น กฎหมายบัญญัติให้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ คำอธิบายสาระสำคัญประเด็นเพิ่มเติม พร้อมคำอธิบายหลักการและเหตุผล รวมทั้งเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียงให้ประชาชนได้รับทราบเป็นการทั่วไป โดยกฎหมายและระเบียบดังกล่าวประสงค์ที่จะให้บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย

ตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าการจัดสรรเวลาออกอากาศได้ให้โอกาสคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและส่วนราชการมากกว่าภาควิชาการและประชาสังคมนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดสรรเวลาเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ความคิดเห็นโดยสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐของ กกต. รวม 13 ครั้ง กกต.ได้จัดสรรเวลาให้กับตนเองเพื่อชี้แจงกระบวนการและขั้นตอนของการออกเสียงประชามติจำนวน 2 ครั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้รับการจัดสรรเวลาเพื่อชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 3 ครั้ง และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับการจัดสรรเวลาเพื่อชี้แจงคำถามพ่วงจำนวน 2 ครั้ง

ในส่วนที่เหลืออีก 6 ครั้ง เป็นเรื่องของสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐในการนำเสนอเนื้อหาของหมวดต่าง ๆ ในร่างรัฐธรรมนูญตามที่แต่ละสถานีได้รับมอบหมายที่จะเชิญผู้ใดเป็นดุลพินิจของแต่ละสถานี โดยหากมีความไม่เหมาะสม กกต.สามารถประสานไปยังสถานีให้พิจารณาบุคคลอื่นได้ โดยในวันที่ยื่นฟ้องคดีนี้ การดำเนินการของแต่ละสถานียังสามารถจัดให้เกิดความเหมาะสมได้อีก โดย กกต.สามารถประสานการดำเนินการของสถานีให้มีความเท่าเทียมและมีความเหมาะสมขึ้นได้ ผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายในกรณีนี้ขณะที่ยื่นฟ้องคดี (คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.20/2559)

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาทั้งสองข้อหา เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้เดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น