MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกอดีตเจ้าหน้าที่ กกต.3 ปี 4 เดือน พร้อม 3 อดีตสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา กรณีลักลอบแก้ไขข้อมูลสมาชิกพรรคเพื่อให้ลงสมัคร ส.ส.ช่วงเลือกตั้งปี 49 ได้ ส่วน"ธรรมรักษ์ อิศรางกูรฯ" อดีตบิ๊กไทยรักไทย อัยการโจทก์ไม่ฎีกา หลังศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง
วันนี้ (3 ก.พ.) ที่ห้องพิจารณาคดี 913 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.961/2553ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อายุ 76 ปี อดีต รมว.กลาโหมและกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย, นายอมรวิทย์ สุวรรณผล อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบบริหารฐานข้อมูลพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), นายชวการ หรือกรกฤต โตสวัสดิ์ อดีตสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย, นายสุขสันต์ หรือจตุชัย ชัยเทศ อดีต ผอ.การเลือกตั้งพรรคพัฒนาชาติไทย และนายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ อดีตหัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 และ 11
โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2553 สรุปว่า ระหว่างวันที่ 2-7 มีนาคม 2549 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 จ้างวานให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต โดยมอบเงินค่าตอบแทนให้จำเลยที่ 2 จำนวน 30,000 บาท ให้ดำเนินการตัดต่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายชื่อ ข้อมูลสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทยที่ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยไม่ครบ 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด เหตุเกิดที่แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง,แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร และแขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กทม. เกี่ยวพันกัน
เมื่อถึงเวลานัด นายอมรวิทย์ อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยฯ กกต. จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล ขณะที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวนายบุญทวีศักดิ์ อดีตหัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย จำเลยที่ 5 มาจากเรือนจำ สำหรับ พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 คดีถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์แล้วที่ให้ยกฟ้อง และอัยการโจทก์ไม่ฎีกา ส่วนนายชวการ จำเลยที่ 3 และนายสุขสันต์ จำเลยที่ 4 ซึ่งศาลได้ออกหมายจับไปก่อนหน้านี้ ขณะนี้ครบกำหนด 1 เดือนแล้วยังไม่สามารถติดตามจับกุมตัวจำเลยได้ จึงอ่านคำพิพากษาในวันนี้
ศาลฎีกาประชุมสำนวนปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมานั้นมีน้ำหนักรับฟังได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ พร้อมออกหมายจับนายชวการ จำเลยที่ 3 และนายสุขสันต์ จำเลยที่ 4 ให้มารับโทษด้วย
คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ว่า จำเลยที่ 1, 3-5 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ให้จำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ กกต.มีความผิดตาม พ.ร.บ.เดียวกัน มาตรา 6 ให้จำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญาทั้งหมด และให้ริบเงินสดของกลางจำนวน 30,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1-5 ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 ว่า นายอมรวิทย์ จำเลยที่ 2 โจทก์มีพยานซึ่งเป็นผู้บริหารและพนักงานของ กกต.เบิกความสอดคล้องกันว่า การจัดทำบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกพรรคการเมือง จะมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบและเป็นบุคคลเดียว ที่มีรหัสผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อบันทึกข้อมูล ขณะที่เมื่อได้มีการตรวจสอบเปรียบเทียบฐานข้อมูลสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทย ที่เคยแจ้งกับ กกต.ไว้เพียงครั้งเดียวเมื่อปี 2548 กับข้อมูลที่มีการบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ ปรากฏว่าแม้ตัวเลขที่กำกับลำดับที่ของข้อมูลสมาชิกพรรคจะตรงกัน แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อ ผลจากการตรวจสอบคอมพิวเตอร์ มีการบันทึกข้อมูลสมาชิกพรรคอีกครั้งในวันที่ 7 มีนาคม 2549 เวลา 09.30 น. และโอนถ่ายข้อมูลเสร็จสิ้น ในเวลา 10.44 น. ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่า เป็นผู้บันทึกข้อมูลดังกล่าว ส่วนเงิน 30,000 บาท ที่จำเลยที่ 5 มอบให้เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่มานานกว่า 2 ปีเศษ ย่อมที่จะเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติที่ต้องเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เพื่อพิจารณาก่อนการบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์
แต่พบว่าจำเลยที่ 2 ได้เดินทางไปรับข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย จากนายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 ที่แยกลำสาลี ในยามวิกาล ถือว่าผิดวิสัยและผิดปกติ และยังมีการรีบเร่งบันทึกข้อมูลในวันรุ่งขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า ที่สำนักงาน กกต.ได้เปิดเวลาทำการ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนบันทึกเลขสารบรรณและเสนอผู้บังคับบัญชาก่อน ส่วนจำเลยที่ 3-5 ที่เป็นสมาชิกและผู้บริหารพรรคพัฒนาชาติไทยนั้น ปรากฏว่าช่วงเกิดเหตุได้มีการประชุมพรรค ดังนั้น น่าเชื่อว่าจะได้ร่วมรู้เห็นเรื่องที่จำเลยที่ 5 นำเงิน 30,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 2 เพื่อสนับสนุนการกระทำดังกล่าว
จึงพิพากษาลงจำคุกนายอมรวิทย์ จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 3-5 เห็นควรแก้โทษจำคุก คนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และพิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1
อนึ่ง ในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ได้ประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง ด้วยการไม่ส่งสมาชิกพรรคลงสมัคร ทำให้บางเขตเลือกตั้งโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ มีผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยเพียงคนเดียว ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 ได้กำหนดเงื่อนไขว่า กรณีเขตเลือกตั้งใด มีผู้สมัคร ส.ส.เพียงคนเดียว จะต้องได้คะแนนเกินร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงเงื่อนไขดังกล่าว พรรคไทยรักไทยจึงติดต่อว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กให้ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครด้วย และเป็นสาเหตุให้พรรคไทยรักไทยถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550