xs
xsm
sm
md
lg

พิษคำสั่ง คสช.! ปิดตำนาน “หมู่บ้านกะปิห้าดาว” เมืองแปดริ้ว หลังคุมเข้มเครื่องมือประมง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - ปิดตำนานหมู่บ้านทำกะปิจากเคยแท้ห้าดาว รางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ สินค้าคุณภาพชุมชนชายฝั่งทะเลเมืองแปดริ้ว หลังเจอมาตรการคุมเครื่องมือประมงพื้นบ้าน ด้านชาวบ้านครวญ ขอความเห็นใจจากภาครัฐ

วันนี้ (13 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศในชุมชนบ้านคลองเจริญวัย และบ้านจันทร์เกษม ม.2 และ ม.6 ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา แหล่งผลิตกะปิพื้นบ้านต้นตำรับชั้นนำของประเทศ การันตีด้วยรางวัลรองชนะเลิศ เมื่อปี 2544 จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันนี้เป็นวันเส้นตายที่เจ้าหน้าที่จะเริ่มใช้มาตรการเข้มงวดเข้าทำการจับกุมเรือประมงชายฝั่งของชาวบ้าน ที่ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายตามการประกาศบังคับใช้ของรัฐบาล และ คสช.

โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา เรือประมงชายฝั่งของชาวบ้านที่มีอาชีพดักจับเคยมาทำกะปินับร้อยลำล้วนจอดนิ่งสนิทเรียงรายกันจนเต็มปากคลองภายในหมู่บ้าน ท่ามกลางเสียงร้องระงมที่ยังไม่ดังพอสำหรับการร้องขอความเห็นใจจากหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ และรัฐบาลในการขอให้ช่วยผ่อนผันอาชีพการทำประมงพื้นบ้าน ในการใช้อวนมุ้งดักจับสัตว์น้ำแบบเฉพาะชนิด ในการหาเคยมาทำกะปิ ซึ่งเป็นอาชีพต้นทุนเลี้ยงชีวิตของชุมชนที่ทำกินกันมานับตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ

โดย นายชาตรี แก่นเจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.สองคลอง กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านปฏิบัติตามเงื่อนไขของทางรัฐบาล และ คสช.มาโดยตลอด ทั้งการขึ้นทะเบียนเรือ การไปจดทะเบียนนายท้าย และช่างเครื่องประจำเรือ แต่ในด้านของการใช้เครื่องมือทำกินนั้น กลับไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ แล้วจะให้ชาวบ้านไปทำกินอะไร เพราะอาชีพดักจับเคยมาทำกะปินั้นจำเป็นจะต้องใช้อวนตาถี่ หรืออวนมุ้งในการดักจับ เพราะเคยเป็นสัตว์น้ำชายฝั่งที่มีขนาดเล็กมาก จึงไม่สามารถที่จะใช้เครื่องมือชนิดอื่นใดในการไปดักจับเคยมาได้เลย

ด้าน นายวิชัย คงเจริญ อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่11/1 ม.2 ต.สองคลอง กล่าวว่า การห้ามออกมาแบบนี้ก็ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องทำอะไรกินกันแล้ว เพราะมีอาชีพออกวางอวนรอเคยกันมาอย่างยาวนาน และเคยที่จะจับมาทำกะปินั้นก็ไม่ได้มีให้จับกันได้ทุกวัน ในรอบหนึ่งเดือนก็จะมีเข้ามาให้จับได้แค่เพียงประมาณ 10 กว่าวันเท่านั้น ขณะนี้จึงไม่มีใครกล้าที่จะออกทะเลไปทำอะไรเลย เพราะเกรงกลัวข้อกล่าวหาจากทางเจ้าหน้าที่ที่มีโทษรุนแรง ทั้งปรับ ทั้งจำคุก 5 ปี แถมยังจะถูกยึดเครื่องมือเรือ และเครื่องยนต์อีก

โดยเครื่องมือทำกินที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากินกันอยู่นี้ กว่าที่ชาวบ้านแต่ละคนจะสั่งสมหากันมาได้นั้นต้องใช้เวลานานหลายปี การห้ามอย่างเด็ดขาดในครั้งนี้ทำให้มีชาวบ้านได้รับผลกระทบเดือดร้อนกันอย่างถ้วนหน้า 2 หมู่บ้าน เรือกว่า 100 ลำ ต้องจอดนิ่งสนิท ทั้งที่หมู่บ้านของตนเป็นเพียงหมู่บ้านประมงพื้นบ้านชายฝั่งขนาดเล็ก ไม่ได้มีการจ้างงานแรงงานต่างด้าว ไม่มีเรือประมงหาปลาขนาดใหญ่ ไม่ได้กระทำผิดในเรื่องของการค้ามนุษย์ หรือใช้แรงงานทาสแบบกดขี่ โดยใช้แรงงานจากคนในครอบครัวเท่านั้น และออกทะเลไปไกลจากฝั่งมากก็ไม่ได้ ทำมาหากินกันอยู่ห่างจากชายฝั่งแค่เพียง 600-700 เมตรเท่านั้น เพราะเรือที่ใช้เป็นเรือขนาดเล็ก

“จึงอยากขอให้ทางรัฐบาล และ คสช.ช่วยผ่อนผันให้พวกเราได้ออกหากินกันได้บ้าง เพราะการห้ามในลักษณะนี้เหมือนกับเป็นการห้ามไม่ให้เรากินข้าว ห้ามไม่ให้เราทำอะไรเลย เพราะออกทะเลไม่ได้ ก็ไม่มีรายได้อะไรมาซื้อกิน ข้าวก็จะไม่มีกินกันอยู่แล้ว ลูกเต้าก็ไม่ต้องไปโรงเรียน รวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟก็ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ตามที่พวกเราถูกสั่งให้หยุดทำกิน จึงขอให้ช่วยผ่อนผันให้พวกเราได้ออกไปทำมาหากินได้บ้าง”



กำลังโหลดความคิดเห็น