xs
xsm
sm
md
lg

ชาวประมงปัตตานีเรียกร้องรัฐเลิกกฎหมายห้ามใช้เครื่องมือ “ไอ้โง่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - ชาวปัตตานี รวมตัวหาทางออกแก้ปัญหาความเดือดร้อน หลัง ม.44 ทำเครื่องมือประมง “ไอ้โง่” ที่ใช้หาปลากันกว่า 80% ผิดกฎหมาย เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ ผ่านผู้ว่าฯ ปัตตานี เร่งขอคำตอบภายใน 3 วัน

วันนี้ (10 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ชุมชนบ้านแหลมนก ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี ได้มีชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ 3 อำเภอ ที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบของอ่าวปัตตานี ประกอบด้วย อ.เมือง อ.ยะหริ่ง และ อ.หนองจิก กว่า 500 คน รวมตัวกันเพื่อประชุมวางแผน และหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหาความเดือดร้อน หลังจากที่ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 24/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยห้ามมีการครอบครองใช้เครื่องมือประมง 6 ชนิด หากฝ่าฝืนมีโทษหนักจำคุก 5 ปี ปรับ 1-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตราที่ 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

 
ซึ่งกฎหมายดังกล่าวพบว่า 1 ใน 6 เครื่องมือประมงที่ต้องห้ามก็คือ เครื่องมือลอบพับได้ หรือที่ชาวประมงเรียกว่า “ไอ้โง่” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ดักปลา ใช้วางดักปลาในน้ำ มีลักษณะเป็นโครงเหล็กหุ้มด้วยตาข่ายไนลอนคล้ายๆ ลอบดักปลา แต่เอาหลายๆ อันมาวางเรียงกลับหัวกลับหาง มีความยาวประมาณ 7 เมตร ซึ่งเครื่องมือประมงดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า 800 ครัวเรือน ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวทำมาหากินเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว

แต่หลังจากที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต่างหวาดกลัว และไม่กล้าที่จะออกทำประมงตามปกติ จนต้องหยุดออกหาปลาเกือบ 1 สัปดาห์ ทำให้ครอบครัวเดือดร้อนจากการขาดรายได้ ซึ่งการรวมตัวครั้งนี้เพื่อรวบรวมปัญหาความเดือดร้อน และหาทางออกร่วมกัน ก่อนจะนำข้อยุติดังกล่าวทำเป็นหนังสือเปิดผนึกยื่นให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เพื่อส่งต่อให้แก่นายกรัฐมนตรี โดยจะขอรอคำตอบภายใน 3 วัน

 
นายสุริยา แหลหมั่น ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า อยากให้ทางรัฐบาลได้ทบทวนการใช้บังคับกฎหมายฉบับนี้ด้วย เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชาวบ้านโดยตรง เนื่องจากเครื่องมือลอบพับได้ หรือไอ้โง่ เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่มีความจำเป็นของชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่นำมาเป็นเครื่องมือหากิน หารายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัวมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว และมีต้นทุนสูง

หากมีการยกเลิกใช้จะทำให้ชาวบ้านต้องเสียเงินจำนวนมากที่ลงทุนไปแล้ว และต้องขาดรายได้เลี้ยงครอบครัวอีกด้วย ซึ่งหากทางรัฐบาลต้องการจะให้ปรับไปใช้ตาข่ายที่ใหญ่กว่าเหมือนอวนลอยก็พร้อมจะทำตาม จึงอยากให้ทางรัฐบาลทบทวนการใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว และให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้เข้ามามีบทบาทร่วมกันแก้ปัญหา และหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น