เพชรบุรี - รอง ผบ.ตร.ลงพื้นที่ตรวจมาตรการ และการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย และตรวจสอบการใช้แรงงานต่างด้าวในการทำประมง ที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี พร้อมรับฟังข้อเรียกร้องจากผู้ทำการประมงพื้นบ้านที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวประมงที่ไม่สามารถทำการประมงได้มากว่า 2 เดือนแล้ว
เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (8 ส.ค.) พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) พร้อมทีมงาน ได้เดินทางมาตรวจมาตรการและการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และตรวจสอบการใช้แรงงานต่างด้าวในการประมง ที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยได้ไปที่ท่าเรือสหกรณ์ประมง เพื่อตรวจการใช้แรงงานต่างด้าวในการประมง แต่ไม่พบการทำผิดกฎหมาย
จากนั้นได้ไปที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงจังหวัดเพชรบุรี อำเภอบ้านแหลม เพื่อตรวจมาตรการและการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) โดยมี พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร บริรักษ์กุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี นาวาโทวิโรจน์ อินทร์สุข หัวหน้าศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงจังหวัดเพชรบุรี และข้าราชการตำรวจในจังหวัดเพชรบุรี ให้การต้อนรับ และมีชาวประมงในพื้นที่เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
ทั้งนี้ การดำเนินงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งใน 28 ศูนย์ทั่วประเทศนั้น ประเภทเรือประมงที่มีการแจ้งเข้า-ออกในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี แยกประเภทเป็น 1.เรืออวนยกหมึก (เรือไดหมึก) 87 ลำ 2.เรืออวนลอยปลา 52 ลำ 3.เรือคราดหอย 7 ลำ 4.เรืออวนลากคู่-เดี่ยว 40 ลำ (ในจำนวนนี้มีอาชญาบัตรไม่ถูกต้อง 14 ลำ) 5.เรืออวนรุน 3 ลำ 6.เรือลอบ 34 ลำ 7.เรืออวนล้อม (อวนดำ) 3 ลำ รวมเรือประมงขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอส ที่มีในระบบการแจ้งเข้า-ออก รวมทั้งสิ้น 228 ลำ เป็นเรือที่มีอาชญาบัตรถูกต้อง 214 ลำ และเป็นเรือที่มีอาชญาบัตรไม่ถูกต้อง 14 ลำ
ยอดการแจ้งออกเรือประมงในพื้นที่ ยอดสะสมตั้งแต่เริ่มเปิดทำการ 6 พฤษภาค-7 สิงหาคม 2558 จำนวน 936 เที่ยว ยอดการแจ้งเข้าเรือประมงในพื้นที่ ยอดสะสม 732 เที่ยว จำนวนยอดการแจ้งเข้า-ออกประจำวันไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการทำประมง โดยเรือประเภทอวนยกหมึก (เรือไดหมึก) เรืออวนลอยปลา เรืออวนลากคู่-เดี่ยว และเรือลอบ จะมีช่วงเวลาการแจ้งออกเป็นจำนวนมากในช่วงข้างแรม 2-3 ค่ำ และมีระยะเวลาออกทำการประมงเฉลี่ยประมาณ 20 วัน
ส่วนเรือประเภทเรือคราดหอย และเรืออวนล้อม (อวนดำ) จะออกทำการประมงแบบออกเย็น-เข้าเช้า ซึ่งจะมีการแจ้งเข้า-ออกทุกวัน
สำหรับปัญหาที่ตรวจพบในการกระทำที่ยังไม่ถูกต้องส่วนใหญ่เป็นการใช้นายท้ายเรือ กับผู้คุมเครื่องจักรไม่ถูกต้องตามที่ระบุในใบอนุญาตใช้เรือ เช่น มีใบประกาศไม่ตรงชั้น หรือใช้คนคนเดียวเป็นนายท้าย และผู้คุมเครื่องจักร
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาขนาดเรือจริงไม่ตรงต่อที่แสดงในทะเบียนเรือ ใบอาชญาบัตรไม่ตรงต่อเครื่องมือประมงที่มีใช้จริงบนเรือ และอาชญาบัตรอวนลากหมดอายุ ซึ่งในกรณีดังกล่าวศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก กรมประมง กรมเจ้าท่า และ กสทช.ได้ร่วมกันจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่แบบเบ็ดเสร็จ ออกให้บริการด้านการประมง และใบอนุญาตต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งการอบรมหลักสูตรพนักงานวิทยุในเรือประมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าของเรือ และผู้ควบคุมเรือประมงที่ยังขาดใบประกาศนียบัตรในหลักสูตรที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ ได้มีโอกาสดำเนินการด้านเอกสารให้ถูกต้องตามที่ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายกำหนด สามารถแจ้งเข้า-ออกได้ และไม่เสียโอกาสในการออกเรือไปทำการประมง
โดยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี มีการดำเนินการไปแล้ว จำนวน 2 ครั้ง ในเดือนกรกฎาคม 2558 มีผู้เข้ารับบริการ 1,246 ราย ผู้รับบริการ 1 ราย สามารถใช้บริการจากทั้งกรมประมง กรมเจ้าท่า และ กสทช. คาดว่าชาวประมงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี จะสามารถดำเนินการแจ้งเข้า-ออก โดยเอกสาร เครื่องมือ และอุปกรณ์ รวมทั้งแรงงานได้อย่างถูกต้องประมาณ 90% ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2558 และจะสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องเต็ม 100% หากชาวประมงในพื้นที่มีความตั้งใจจริงที่จะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้พูดคุย และรับฟังความคิดเห็นข้อเรียกร้องจากผู้ทำการประมงพื้นบ้านที่อยากให้รัฐบาลให้การช่วยเหลือชาวประมงที่ไม่สามารถทำการประมงได้มากว่า 2 เดือน เนื่องจากมาตรการห้ามเรืออวนรุนทำการประมง
โดยรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวว่า รัฐบาลจะมีมาตรการออกมาเรื่อยๆ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงจังหวัดเพชรบุรี แล้วเดินทางกลับ