นครปฐม - กลุ่มผู้ประกอบการประมงอวนรุนจาก 11 จังหวัด กว่า 600 คน รวมตัวเข้าพบเจรจากับตัวแทนรัฐบาลที่ “วัดอ้อน้อย” นครปฐม พร้อมยื่น 12 ข้อเรียกร้อง และ 9 ข้อเสนอ วอนรัฐบาลยืดเวลาทำกินหลังเส้นตาย 7 ส.ค.นี้ สุดท้ายการเจรจาไม่คืบรอเข้าทำเนียบฯ หารือจากหลายหน่วยงานอีกครั้งพรุ่งนี้ ด้าน “หลวงปู่พุทธะอิสระ” แนะรัฐบาลรีบลดความรุ่มร้อนของชาวประมง เนื่องจากขณะนี้ได้มีกลุ่มคนกำลังจะใช้โอกาสนี้ยุยงชาวประมงให้รวมตัวเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลแล้ว
เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (4 ส.ค.) ที่ศาลาปฏิบัติธรรมวัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม กลุ่มผู้ประกอบการประมงอวนรุนจาก 11 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ตราด ชุมพร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี สมุทรปราการ เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี กว่า 600 คน ได้รวมตัวกันเข้าเจรจาเพื่อเสนอข้อเรียกร้องจากรัฐบาลหลังจากศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ.ให้เรืออวนรุนที่มีอาชญาบัตรถูกต้องจับปลาได้ถึงวันที่ 7 ส.ค.นี้ และกลุ่มผู้ประกอบการได้เข้าพบหลวงปู่พุทธะอิสระ เพื่อนำปัญหา และผลกระทบเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้รับทราบปัญหา และหาแนวทางให้กลุ่มชาวประมงได้มีการทำกินต่อไปได้ เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา
โดยการหาแนวทาง และรับฟังข้อเสนอดังกล่าวมีหลวงปู่พุทธะอิสระ เป็นประธานในการหารือ โดยมีเจ้าหน้าที่จากภาครัฐ ประกอบด้วย นายพันศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการประสานมวลชนและองค์กรประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายหฤษฎ์ ดาวเรือง เจ้าพนักงานประมงชำนาญการ สำนักงานประมงจังหวัดนครปฐม น.ส.ดาริกา นาคขาว นิติกรปฏิบัติการ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครปฐม นายอรรถพล ทรัพย์ทวี ป้องกันจังหวัดนครปฐม และมีตัวแทนผู้ประกอบการประมงจาก 11 จังหวัด ได้ร่วมเสนอแนวทาง และแจ้งปัญหาต่างๆ ให้ทราบ
โดยได้มีการยื่น 12 ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย
1.เปิดให้ทำอาชญาบัตรสำหรับเรือที่ไม่มีอาชญาบัตร
2.ขออนุโลมให้เรือขนาดเล็กที่ไม่สามารถออกทำการประมงนอกเขตพื้นที่ 3,000 เมตร ได้ทำการประมงตามน้ำขึ้นน้ำลง
3.ให้ภาครัฐช่วยดูแล และควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง
4.ขอผ่อนผันให้ชาวประมงทำประมง (อวนรุน) ได้ จนกว่ารัฐจะหาข้อยุติ
5.ถ้ารัฐบาลจำเป็นให้ชาวประมง (อวนรุน) เลิกขอให้ซื้ออุปกรณ์ในราคา 100% เต็ม
6.ควบคุมเรือประมงทุกอาชีพทั้งประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน
7.พวกเราไม่ต้องการเปลี่ยนอาชีพใหม่ ขอให้ได้ทำอาชีพของเราต่อไปเพราะพวกเราไม่มีความชำนาญ และเงินทุน พวกเราไม่ต้องการเป็นหนี้เพิ่ม
8.ให้ชาวประมงได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาประมงอวนรุน
9.ขอให้พวกเราได้ทำประมงตามฤดูกาล
10.ขอให้รัฐบาลได้ฟังความจริงจากชาวประมงอวนรุน ก่อนที่มีมติยกเลิกประมง (อวนรุน)
11.ขอให้รัฐบาลนั้นประกาศผ่อนผันในวันที่ 7 สิงหาคมไปก่อน จนกว่าจะมีมติใหม่
12.ขอให้เรือประมง (อวนรุน) ขนาดเล็กนั้นได้ทำการประมงได้ต่อไปด้วย
นอกจากนี้ ยังได้มีการเสนอแนวทางฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเล 9 ข้อประกอบด้วย
1.ร่วมกันสนับสนุนการปล่อยพันธุ์สัตว์ทะเล
2.ทำแนวที่อยู่อาศัยให้สัตว์น้ำวัยอ่อน
3.ชาวประมงสนับสนุนพ่อแม่พันธุ์กุ้ง ปูให้องค์กรการกุศลแก่สาธาณรณะเพื่อนำไปขยายพันธุ์เพื่อนำมาปล่อยคืนสู่ท้องทะเล โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
4.ปลูกป่าชายเลน เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำอ่อนวัย ปีละ 5,000 ตัน
5.ให้มีการทำปะการังเทียมปีละ 50 ลูก
6.เพิ่มมาตรการปิดทะเลจาก 3 เดือน เป็น 4 เดือน
7.ในจังหวัดตราดเรานั้นมีการปิดอ่าวอยู่แล้วปีละ 6 เดือน มิ.ย.-ธ.ค.
8.ในจังหวัดชลบุรี มีสถานที่เลี้ยงหอยแครง และหอยแมลงภู่ และหอยนางรม สถานที่เพาะเลี้ยงเหล่านี้เป็นปะการังชั้นดี ระยะเขตมากกว่า 2,000-3,000 เมตร
9.ให้ตรวจสอบเครื่องมือการประมงทุกชนิดให้ถูกต้องตามกฎหมาย
โดยในวันนี้การเจรจาไม่สามารถคืบหน้าไปได้มาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่ได้เข้ารับฟังข้อเสนอนั้นแจ้งในการหารือว่าไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้ชี้แจงว่าการสั่งการให้มีการยุติการทำการประมงอวนรุนนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ต่างประเทศได้มีการการกดดันประเทศด้วยข้อกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งก็มีความเห็นใจต่อกลุ่มชาวประมงที่ได้เกิดผลกระทบ แต่จะนำเรื่องนี้ไปเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่เข้าร่วมในเวทีการเสนอแนวทางเริ่มแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากในวันที่ 7 ส.ค.58 ที่จะถึงจะเป็นวันครบกำหนดในการให้เลิกการทำประมงตามมติของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ.
โดย น.ส.พิชญกร คล้ายนคร ตัวแทนผู้ประกอบการจากจังหวัดเพชรบุรี ได้เสนอว่า ให้ตัวแทนจากภาครัฐได้เร่งนำข้อเสนอนี้ไปแจ้งยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อให้มีการยืดระยะในการประกอบอาชีพไปก่อน โดยขอทราบคำตอบก่อนวันที่ 6 ส.ค.เนื่องจากเกรงว่าหลังจากวันที่ 7 ส.ค.จะมีกลุ่มผู้ประกอบการจำนวนมากออกมารวมตัวเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ซึ่งทางกลุ่มตัวแทนที่มาร่วมในวันนี้ทั้ง 11 จังหวัด จะไม่สามารเจรจา หรือควบคุมไว้ได้จึงอยากให้มีข้อสรุปออกมาก่อน เพราะชาวประมงที่มาในวันนี้ไม่ต้องการให้ปัญหาบานปลาย และอยากทำตามกฎระเบียบที่จะตกลงร่วมกันเพื่อจะได้ทำกินต่อ
ขณะที่ นายพันศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการประสานมวลชนและองค์กรประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอว่า ให้ตัวแทนทั้ง 11 จังหวัดที่มาในวันนี้ได้เข้าร่วมประชุมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหากับหลายภาคส่วน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการประมง กรมประมง กระทรวงมหาดไทย ในเบื้องต้นที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 5 ส.ค.นี้ เวลา 13.00 น.เพื่อหาทางออกร่วมกันในเรื่อง
ด้านหลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวว่า การหารือวันนี้เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มชาวประมงเข้ามาขอให้ตนประสานงานไปยังรัฐบาลเพื่อให้การช่วยเหลือ ซึ่งตนก็ได้ประสานไปยัง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปแล้วส่วนหนึ่ง เนื่องจากเป็นข้อเรียกร้องจากความเดือดร้อนของชาวประมงพื้นบ้านที่ประสบปัญหากันจริงๆ โดยวันนี้ก็ได้เสนอให้มีการเปิดการประมงไปก่อนจนกว่าจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาในวาระต่อไป
หลวงปู่พุทธะอิสระ เปิดเผยด้วยว่า ตอนนี้ได้มีกลุ่มของคนที่จะใช้โอกาสนี้ยุยงชาวประมงให้ออกมารวมตัวเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาล จึงอยากจะให้มีการลดความรุ่มร้อนของชาวประมง โดยหากภายใน 1-2 วันนี้ถ้ายังไม่ได้ข้อยุติก็จะมีชาวประมงออกมารวมตัวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิด
“โดยสรุปแล้วการประชุมในวันนี้คือ การหยุดยั้งไม่ให้มีการเคลื่อนไหวที่จะให้ชาวประมงออกมาไล่รัฐบาล และกดดันจากชาวประมงในวันที่ 8-9 ส.ค.นี้ ซึ่งเขามีการรวมตัวกันแล้ว เราก็พยายามให้มีการได้พูดคุย และแยกปัญหาต่างๆ รวมถึงมีการให้ส่งข้อเสนอแนะไปด้วย เพื่อให้ฝั่งรัฐบาลได้เข้าไปมีส่วนร่วมต่อการรับฟังความคิดเห็นโดยตรง และที่ผ่านมา การรับฟังความคิดเห็นผ่านจากสมาคมต่างๆ ซึ่งสอดแทรกข้อเสนอเพื่อหวังผลทางการเมืองเข้าไปด้วย ทำให้เรื่องต่างๆ จากชาวประมงไม่ได้ส่งถึงอย่างจริงจัง และยังมีการประมงอีกหลายรูปแบบที่จะมาร่วม แต่ในวันนี้ขอเรื่องประมงอวนรุน และประมงอวนลากให้เสร็จสิ้นเป็นวาระไปก่อน และเป็นอวนรุนที่ถูกกฎหมายเท่านั้น ส่วนที่ผิดกฎหมายอีก 3 หมื่นกว่าลำค่อยมาว่ากัน”
หลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวอีกว่า เรื่องที่น่าห่วงอีกเรื่องคือ การที่รัฐบาลเปิดให้มีการเปิดประมงพื้นบ้านอย่างอิสระ ตอนนี้นายทุนต่างๆ ได้กลายมาเป็นประมงพื้นบ้านไปแล้ว นั่นคือ ไปการจ้างชาวประมงให้ทำประมงพื้นบ้านทั้งมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ทำการประมงโดยไม่มีการตรวจสอบจากภาครัฐ เพราะประมงที่แท้จริงคือคนไทยต้องมานั่งดูคนต่างชาติมาทำประมง เพราะตัวเองไม่สามารถทำการประมงได้เพราะจะโดนจับ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก
นายปัญญา ขนุนทอง อายุ 37 ปี ตัวแทนประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การเสนอแนวทางในวันนี้ถือว่าล้มเหลวเพราะตัวผู้มีอำนาจการตัดสินใจไม่ได้มาด้วยตัวเอง แต่ก็ยังมีทางออกคือ การที่จะเปิดให้มีการประชุมที่ชัดเจนที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (5 ส.ค.) และหากการยืดระยะเวลาไม่เป็นผลก็อาจจะมีการรวมตัวครั้งใหญ่ตามที่มีกระแสข่าว ซึ่งตนไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เพราะชาวประมงส่วนใหญ่ที่มาต้องการทำกินต่อไปเพื่อประทังรายได้ของตัวเองเท่านั้น แต่ก็ต้องดูข้อสรุปวันพรุ่งนี้อีกทีด้วยว่าจะออกมาอย่างไร เพราะใกล้วันที่จะมีผลการบังคับ เพราะที่ได้ยินมาคือใครออกไปทำประมงจะจับกุมทันที และยึดใบอนุญาตด้วย