นครปฐม - กลุ่มผู้ประกอบการ และชาวประมงจาก 8 จังหวัด กว่า 600 คนเข้าพบ “หลวงปู่พุทธะอิสระ” วัดอ้อน้อย วอนรัฐทบทวนมติ ศปมผ.ยกเลิกทำประมงประเภทอวนรุน วันที่ 7 สิงหาคม ยันพร้อมร่วมอนุรักษ์ทะเล ไม่ใช่ต้นเหตุทำนิเวศทางน้ำพัง
วันนี้ (28 ก.ค.) ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ที่ศาลาปฏิบัติธรรม วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ชาวประมงพื้นบ้านอวนรุนประมาณ 600 คนจาก จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด และระยอง ได้เข้าพบหลวงปู่พุทธะอิสระ เพื่อเสนอปัญหา และความเดือดร้อน หลังจากมีมติจากคณะรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ. ให้เรืออวนรุนที่มีอาชญาบัตรถูกต้องจับปลาได้ถึงวันที่ 7 ส.ค.นี้
โดยฝากร้องเรียนผ่านให้หลวงปู่พุทธะอิสระ เป็นคนกลางในการไปเจรจา และยื่นข้อเรียกร้องของกลุ่มต่อรัฐบาล และมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัดนครปฐม เข้าสังเกตการณ์ในการเสนอความคิดเห็นดังกล่าว
โดยในช่วงเช้า หลวงปู่พุทธะอิสระ ได้เปิดให้มีการเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนจะมีมติคณะรัฐมนตรีได้มีการออกคำสั่งให้มีการยกเลิกการทำประมงอวนรุน หลังมาตรการการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลต่อกรณีการยื่นเงื่อนไขของสหภาพยุโรป (IUU) ซึ่งมีผลกระทบต่ออาชีพการประมงทุกประเภท โดยเฉพาะการประมงประเภทอวนรุน โดยมีมติจากที่ประชุมวันที่ 16 ก.ค.58 ให้มีระกาศกระทรวงยกเลิกเครื่องมือประเภทอวนรุน (ยกเว้นรุนเคย) อวนล้อมปลากระตัก ปั่นไฟ และโพงพาง ซึ่งมติดังกล่าวมีผลต่อการประกอบอาชีพ และรายได้เลี้ยงครอบครัว โดยมีทั้งหมด 22 จังหวัดที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในอ่าวไทยรูปกอไก่ ที่มีการทำประมงชนิดนี้จะได้รับผลมากที่สุด
ต่อมา ในช่วงบ่าย หลวงปู่พุทธะอิสระ ได้เปิดให้ตัวแทน 8 จังหวัดได้ร่างเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อจะเป็นตัวแทนนำหนังสือดังกล่าวไปยื่นต่อรัฐบาลเพื่อให้มีการรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา โดยแบ่งออกเป็นจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน แบ่งเป็น 9 ข้อ และมีผลสรุปคือขอให้มีการชะลอมติดังกล่าว และให้รัฐบาลโดย ศปมผ.ควรได้มีการพูดคุยกับชาวประมงที่มีผลกระทบในเรื่องนี้ และการให้มีการยกเลิกมติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ออกไปก่อน เพื่อจะได้มีแนวทางในการในการปรับเปลี่ยนการทำประมง และหาอาชีพใหม่ในช่วงที่ยังปรับตัวไม่ได้
หลวงปู่พุทธะอิสระ ได้เสนอแนวทางในการอนุรักษ์ท้องทะเลในพื้นที่ต่างๆ เช่น การปลูกป่าชายเลน การทำบ้านปลา ปะการังเทียม การทำให้ถูกกฎหมายในการมีใบอาชญาบัตรที่ถูกต้อง การปิดอ่าวในเดือนที่สัตว์ทะเลในพื้นที่นั้นๆ มีฤดูในการวางไข่ การปล่อยปลา และการอนุรักษ์ระบบนิเวศในพื้นที่ตัวเอง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ชาวประมงต้องทำด้วยจิตสำนึกเป็นการทอนคืนให้แก่ธรรมชาตินอกเหนือจากสิ่งที่หน่วยงานราชการได้ดำเนินการไปแล้ว และหาทางออกให้รัฐบาลสามารถมีทางออกหลักจากต่างชาติได้มีการกดดันไทยในเรื่องของการประมงที่ยังเกิดปัญหาอยู่ในขณะนี้ และเพื่อให้รัฐบาลสามารถช่วยเหลือชาวประมงที่ประสบปัญหาได้ และเสนอว่าข้อเรียกร้องที่จะเสนอต้องไม่เป็นการกดดันรัฐบาลจนเกินไป
ด้าน นายประพนธ์ ชื่นวิจิตร อดีตผู้จัดการสามคมอาหารแปรรูป จังหวัดสมุทรสาคร บอกว่า ตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องมีการแยกกรณีเป็นพื้นที่ต่างๆ และประเภทของการทำการประมงซึ่งแต่ละประเภทก็มีการทำแบบเฉพาะด้าน การทำประมงอวนรุนนั้นเป็นวิถีที่ชาวบ้านได้ทำมานาน และเป็นศาสตร์เฉพาะตัวที่ต้องมีความชำนาญทั้งน่านน้ำ พื้นที่หาปลา และวิธีการ การที่จะให้ยกเลิกทันทีนั้นส่งผลต่อการปรับตัวแน่นอน และชาวประมงจะไม่ไปทำการหาปลาแบบทับซ้อนกัน ใครถนัดแบบใดก็จะทำแบบนั้น ตอนนี้กำลังมีการวางแผนในการทำโรดแมปในระยะยาวเสนอต่อรัฐบาล และจะแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วยซึ่งตอนนี้คณะทำงานกำลังเร่งดำเนินการกันอยู่
ส่วน นายปัญญา ขุนทอง อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 82/4 ม.1 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร บอกว่า การทำประมงแบบอวนรุนนั้นจะมีการขายื่นลงไปในน้ำ และมีโซ่มัดขวางระหว่างขาที่ยื่นลงไปในน้ำ ตัวโซ่จะคอยกวาดสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปู เข้ามาในอวน ต่อข้อกล่าวหาจากนักวิชาการที่ออกมาบอกว่าการทำประมงแบบนี้นั้นเป็นการทำลายธรรมชาติที่หน้าผิวทรายและเลนทรายนั้นไม่เป็นความจริง เพราะที่ขาที่ยื่นลงไปในน้ำที่เรียกว่า คันรุน นั้น ที่ปลายจะมีการทำเป็นแป้นรูปสกี โดยที่ตัวก้านจะมีการติดทุ่น บรรจุอากาศไว้เพื่อให้ก้านลอยน้ำ ซึ่งจะทำให้ปลายก้านไม่จิ้มลงไปขุดที่ผิวทราย และถ้าขาสกีมุดลงผิวทรายก็จะทำให้เรือคว่ำ เรื่องการทำลายธรรมชาตินั้นถึงจะมีแต่ก็น้อยมาก และการทำประมงแบนบนี้ก็ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าแล้ว
“ผมไม่ได้เรียนหนังสือเลย โตมาพ่อแม่ก็สอนให้ทำมาหากินโดยการใช้อวนรุนแล้ว ผมทำเป็นแต่แบบนี้ให้ไปหาปลาแบบอื่นผมก็ทำไม่เป็น ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่ามีการใช้แรงงานเกินไปก็ไม่จริง เราหาปลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดิน ใกล้เช้าเราก็เลิก มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ ไม่มีการใช้แรงงานเกินจริงตามที่มีการอ้าง และยังไม่เคยมีนักวิชาการ หรือส่วนราชการลงไปดูพื้นที่จริงที่เราทำกันก่อนจะมีมตินี้ออกมา” นายปัญญา กล่าว
กระทั่งมีการสรุปในเรื่องการหารือ โดยชาวประมงทั้ง 8 จังหวัดได้มีการสรุปข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล โดยให้มีการรับรองต่อหน้าที่หารือ และให้มีการเซ็นชื่อยืนยันในการเสนอหนังสือ โดยจะมีการเชิญเจ้าหน้าที่จากสำนักนายกรัฐมนตรี มาพบกับชาวประมงเพื่อหารือร่วมกันในวันที่ 4 สิงหาคม 58 ที่วัดอ้อน้อยอีกครั้งหนึ่ง