ประจวบคีรีขันธ์ - พบเรือน้ำมันเฮนรี่ที่จมกลางทะเลประจวบฯ มีการแอบลักลอบลากเข้าฝั่งโดยพลการ แถมปล่อยน้ำมันที่ค้างอยู่ในเรือจนหมด ส่งผลให้มีกลิ่นน้ำมัน และคราบน้ำมันไหลเป็นทางยาว ชาวประมงอ่าวคั่นกระไดโวยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์การทำประมงเสียหาย รองปลัด ก.ทรัพย์ ชี้การเคลื่อนย้ายเรือน้ำมันเป็นการกระทำโดยพลการ ผิดกฎหมาย พร้อมให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบแจ้งความตำรวจ เรียกร้องค่าเสียหายต่อเจ้าของเรือ
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีเรือน้ำมันเขียวจมกลางทะเล เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ล่าสุด วันนี้ (17 ก.พ.) ที่สำนักงานทรัพยากรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประชุมด่วนกับ นายสมมิตร ศิลป์ประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) ศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกับตัวแทนชาวประมงอ่าวคั่นกระได ที่เดินทางมาให้ข้อมูลหลังพบว่า เมื่อคืนวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา มีเรืออวนลาก จำนวน 3 ลำ ได้ช่วยกันลากเรือบรรทุกน้ำมันเฮนรี่ ที่จมลงกลางทะเลหน้าอ่าวประจวบฯ ที่ระดับความลึก 33 เมตร ห่างจากฝั่ง 18 ไมล์ทะเล โดยลักลอบลากเรือเข้าฝั่งมาในอ่าวคั่นกระได ห่างจากฝั่งเพียงแค่ 1 ไมล์ทะเลเท่านั้น ส่งผลให้มีกลิ่นน้ำมัน และสิ่งสำคัญมีคราบน้ำมันไหลตามเป็นทางยาว
ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้มีการประสานขออนุญาตจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง โดยการลักลอบลากเรือน้ำมันที่จมเข้ามาได้ส่งผลกระทบทำให้เครื่องมือประมงของชาวบ้าน ทั้งอวนปู ซั้งกอ และปะการังเทียม ฯลฯ ได้รับความเสียหายจำนวนมาก โดยล่าสุด ชาวประมงพื้นบ้านได้ช่วยกันเจรจาขอร้องให้เรืออวนลากนำเรือน้ำมันออกไปนอกแนวเขต 3 ไมล์ทะเลแล้ว
นายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้ประสานงานกับ น.ท.พิพัฒน์ การจันดา ผู้บังคับการเรือหลวงนราธิวาส เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบ และขอให้เรืออวกลากทั้ง 3 ลำ ซึ่งทำการลากจูงเรือน้ำมันเฮนรี่ให้หยุดการเคลื่อนย้าย เพื่อรอการตรวจสอบผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กรณีการลากเข้าฝั่งรวมถึงคราบน้ำมันที่ลอยอยู่ทะเล โดยหลังจากนี้จะต้องเร่งกู้เรือขึ้นมาโดยเร็วเพื่อป้องกันผลกระทบในระยะยาว
นายสุพจน์ ยืนยันว่า การเคลื่อนย้ายเรือน้ำมันเฮนรี่เป็นการกระทำโดยพลการ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย เบื้องต้น ได้ให้ชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบเครื่องมือเสียหายจากการลากจูงเรือน้ำมันเฮนรี่เข้าฝั่งในครั้งนี้ เข้าดำเนินแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.อ่าวน้อย เพื่อดำเนินคดีและเรียกร้องค่าเสียหายต่อเจ้าของเรือเฮนรี่ต่อไป
หลังจากนั้น คณะเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน พร้อมชาวประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได ได้นั่งเรือออกไปสำรวจข้อมูล โดยได้เข้าพบ น.ท.พิพัฒน์ การจันดา ผู้บังคับการเรือหลวงนราธิวาส เพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการร่วมกัน ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยตั้งแต่ทางกองทัพเรือทราบเรื่องได้มอบหมายภารกิจให้เรือหลวงนราธิวาส เข้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตั้งแต่วันที่เรือจม และได้ประสานงานกับหน่วยงานให้เร่งแก้ไขปัญหาเรือน้ำมันเฮนรี่ที่จมกลางทะเลประจวบฯ
นายสมพงษ์ พันธ์บุตร หัวหน้าหน่วยบริหารจัดการประมงทะเล อ่าวน้อย กล่าวว่า การประชุมหลายฝ่ายวันนี้ให้กรมทรัพยากรและชายฝั่งทะเล กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการเก็บตัวอย่างเพื่อศึกษามลพิษในสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง รวมทั้งให้สำนักงานประมงจังหวัดประจวบฯ รับแจ้งความเสียหาย และให้เจ้าท่าประจวบฯ ติดตามเจ้าของเรือมาดำเนินคดีทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ด้าน นายสามารถ พัชณีย์ นักประดาน้ำของบริษัท บันดลสงขลา ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่รับจ้างกู้เรือจมทะเลทั่วประเทศ กล่าวว่า เจ้าของเรือน้ำมันเฮนรี่ ได้ว่าจ้างบริษัทบันดลสงขลา เข้าทำการกู้เรือขึ้นจากทะเล ซึ่งตน และทีมงานนักประดาน้ำรวม 6 คน ได้ลงดำน้ำที่จุดเกิดเหตุ ระดับความลึกกว่า 30 เมตรไปแล้ว พบว่าฝาครอบแท็งก์น้ำมันของเรือน้ำมันเฮนรี่ทั้งหมดถูกเปิดออก แต่มีน้ำมันตกค้างอยู่ในเรือ ซึ่งทำให้เรือจม
ประกอบกับพบว่า ที่ส่วนหัวเรือมีร่องรอยเสียหายซึ่งสาเหตุทำให้เรือจมนั้นตนได้ทำการเปิดฝาแท็งก์น้ำมันเพื่อไล่น้ำมันออก ทำให้เรือเบาขึ้น สะดวกต่อการลากเข้าฝั่งเพื่อกู้เรือขึ้น แต่เมื่อเข้าแนวชายฝั่งได้ถูกชาวประมงในพื้นที่คัดค้านจึงต้องลากเรือออกมากลางทะเลอีกครั้ง
“ยอมรับว่าขณะนี้น้ำมันดีเซล หรือน้ำมันเขียวได้ถูกปล่อยออกไปจากเรือทั้งหมดแล้วซึ่งไม่มากนัก แต่ผมไม่ทราบว่าขณะเรือเฮนรี่จมมีน้ำมันตกค้างอยู่เท่าไหร่ เบื้องต้นวิธีการกู้เรือว่าจ้างด้วยวงเงิน 3 แสนบาทนั้นคือ การลากเข้าฝั่งและกู้เรือขึ้น วิธีนี้จะง่าย และใช้เวลาแค่ 3 วันเท่านั้น แต่หากต้องกู้เรือกลางทะเลจะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ และนักประดาน้ำเพิ่ม โดยจะต้องใช้เงินมากขึ้นกว่า 5 แสนบาท และใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 7 วันในการดำเนินการ ทั้งนี้ ยอมรับว่าไม่ได้ประสานกับชาวประมงในพื้นที่ก่อน เพราะคิดว่าเจ้าของเรือน่าจะเป็นผู้ดำเนินการ” นายสมารถ กล่าว
ขณะที่ นายจิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงคั่นกระได กล่าวว่า เครื่องมือทำการประมงของชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเสียหาย และเกรงว่าเจ้าของเรือเฮนรี่ จะไม่รับผิดชอบ เพราะจากที่มีการพูดคุยกับเรืออวนลากที่เข้ามาดำเนินการลากเรือน้ำมันเฮนรี่เข้าฝั่ง มีการพูดจาบ่ายเบี่ยงปัดความรับผิดชอบ กรณีที่ทำเครื่องมือประมงเสียหาย
“ส่วนสิ่งที่ชาวบ้านกังวลมากที่สุด คือ ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมจากกรณีน้ำมันดีเซลรั่วไหลลงสู่ทะเลที่ จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันจำนวนน้ำมันที่รั่วไหลออกมาได้ ว่ามีปริมาณเท่าไหร่กันแน่”
อนึ่ง สำหรับเรือน้ำมันเฮนรี่ เลขทะเบียน 3174 0261 4 เป็นเรือที่จดทะเบียนขออนุญาตจำหน่ายน้ำมันที่ความจุ 30,000 ลิตร มีนายภักดี หอศิริกุล จังหวัดเพชรบุรีเป็นเจ้าของเรือ