ศาลอุทธรณ์ประหารชีวิต 2 ตำรวจกาฬสินธุ์ ฆ่าแขวนคอโจ๋วัย 17 ตัดตอนคดียาเสพติด ส่วนจำเลยอีก 4 ราย พิพากษาแก้โดนจำคุก 5 ปี และตลอดชีวิต
วันนี้ (23 ก.ค) ที่ห้องพิจารณาคดี 913 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.3252/2552 คดีที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ และนายกิตติศัพท์ ถิตย์บุญครอง บิดาของผู้เสียชีวิต เป็นโจทก์และโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 51 ปี, ด.ต.สุดธินันท์ โนนทิง อายุ 46 ปี, ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 45 ปี, พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 54 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์, พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 65 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 48 ปี อดีตรอง ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ (ทั้งหมดเป็นยศและตำแหน่งขณะฟ้อง) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2547 โดยจำเลยที่ 1-3 และจำเลยที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันเจตนาฆ่านายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์จักรยานยนต์ ขณะนำตัวออกจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ด้วยการบีบรัดคอจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต เหตุเกิดที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จากนั้นจำเลยทั้งหกได้ปิดบังเหตุแห่งการตายของนายเกียรติศักดิ์ โดยร่วมกันย้ายศพจากท้องที่เกิดเหตุไปแขวนคอไว้ที่กระท่อมนาบ้านบึงโดน หมู่ที่ 5 ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด จากนั้นระหว่างวันที่ 30 ก.ค. 2547 ถึงวันที่ 27 เม.ย. 2548 จำเลยที่ 4-6 ร่วมกันข่มขู่พยานเพื่อให้การอันเป็นเท็จ โดยให้ระบุว่าในวันที่ผู้ตายถูกทำร้ายยังพบเห็นผู้ตายที่ตลาดโต้รุ่ง เชื่อว่าพวกจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ชั้นสอบสวนจำเลยทั้ง 6 คนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ก.ค 2555 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและย้ายศพเพื่อปิดบังสาเหตุการตาย ส่วนจำเลยที่ 6 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนจำเลยที่ 5 ลงโทษจำคุก 7 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ต่อมาโจทก์และโจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง ขณะที่จำเลยก็ได้ยื่นอุทธรณ์ด้วย
โดยวันนี้จำเลยที่1-6 ซึ่งได้รับประกันตัวเดินทางมาศาล ขณะที่ญาติของผู้เสียชีวิตก็มาร่วมรับฟังคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ตายซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีลักทรัพย์และนำตัวไปคุมตัวที่ห้องขัง สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ตามคำสั่งของศาล ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2547 จำเลยที่ 4 ได้ติดต่อให้สมาชิกเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาล เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ จำเลยที่ 2 จึงได้พาผู้ตายออกมาจากห้องขังและพาขึ้นไปยังห้องสืบสวนสอบสวนที่ชั้น 2 ของ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ จนกระทั่งวันรุ่งขึ้นก็พบศพผู้ตายเสียชีวิตโดยการถูกแขวนคอ โดยแพทย์ลงความเห็นว่าเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ โดยมีบาดแผลถูกรัดบริเวณลำคอ ต่อมาญาติของผู้ตายได้ร้องเรียนว่าการเสียชีวิตมีเงื่อนงำ ทางกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนการเสียชีวิตของผู้ตายแต่ผลการสอบสวนสรุปว่าไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ มีส่วนเกี่ยวข้องและให้ยุติเรื่องดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2548 กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ได้มีมติรับคดีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ และได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้ง 6 คน โดยในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ
มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์รวม 4 ปาก เบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันโดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อเวลา 17.00 น. ในวันเกิดเหตุมีพยานพบเห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้พาผู้ตายออกจากห้องขังและพาขึ้นไปบนห้องสืบสวนสอบสวน ชั้น 2 ของ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ โดยผู้ตายได้ขอยืมโทรศัพท์พยานเพื่อโทร.หาญาติให้มารับที่ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ภายหลังศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ ต่อเมื่อเวลา 18.30 น. ญาติของผู้ตายได้เดินทางมารับแต่ไม่เจอผู้ตาย เมื่อสอบถามจำเลยที่ 5 กลับบอกว่าได้ปล่อยตัวออกไปแล้ว แต่พอกลับไปที่บ้านพักในเวลา 19.00 น.ก็ยังไม่พบตัวผู้ตายแต่อย่างใด ก่อนจะพบเป็นศพถูกแขวนคอในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นประมาณ 09.00 น. ซึ่งจากคำเบิกความของแพทย์ตรวจชันสูตรศพผู้ตายคาดว่าน่าจะเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 8-12 ชั่วโมงเนื่องจากในกระเพราะอาหารยังมีข้าวอยู่
แม้จำเลยจะนำสืบอ้างว่าได้ปล่อยตัวผู้ตายไปแล้วก็ตาม แต่โจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในคดีอื่นซึ่งถูกคุมตัวอยู่ในห้องขัง สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ให้การว่าพบเห็นจำเลยที่ 1-3 พาผู้ตายออกไปจากห้องขังในช่วงเย็นวันเกิดเหตุและไม่พบเห็นผู้ตายอีกเลย ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ปากอื่นที่พบเห็นจำเลยที่ 2พาผู้ตายไปขึ้นไปห้องสืบสวน ประกอบกับบ้านของผู้ตายอยู่ห่างจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ไปเพียง 700 เมตร ถ้าหากผู้ตายเดินทางกลับไปจริงก็ใช้เวลาเพียงแค่ 10 นาทีก็น่าจะถึง แต่จำเลยที่ 5 ได้ข่มขู่พยานโดยให้ระบุว่าพบผู้ตายที่ตลาดและจำเลยที่ 2 จึงพาผู้ตายไปส่งที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งในชั้นสอบสวนพยานให้การในลักษณะเครียดมาก ให้การตะกุกตะกักและเกร็ง จึงเชื่อได้ว่าไม่เป็นความจริง โดยจำเลยบังคับข่มขู่พยานเนื่องจากที่พยานให้การแต่ละครั้งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย แต่ต่อมาพยานได้ไปให้การที่กองปราบและดีเอสไอ ซึ่งพยานเริ่มพูดความจริงเรื่อยๆเนื่องจากได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ จึงกล้าให้ข้อมูลตามความเป็นจริงโดยระบุว่า จำเลยที่ 1-3 พาผู้ตายออกมาจากห้องขัง และนำตัวไปยังห้องสืบสวนบนชั้นสองของสภ.เมืองกาฬสินธุ์ โดยข่มขู่ให้ตนให้การเท็จว่าบอกพบเห็นจำเลยที่อื่น ซึ่งพยานสามารถชี้ตัวยืนยันจำเลยที่ 1-3 ได้อย่างถูกต้องแม่งยำ ประกอบกับพยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง และสอดคล้องกับที่ญาติได้รับโทรศัพท์จากผู้ตายซึ่งยืมโทรศัพท์ของพยานโดยบอกให้ญาติเดินทางมารับที่ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ แต่เมื่อไปถึงกลับไม่พบผู้ตายแต่อย่างใด พฤติการณ์จึงรับฟังได้ว่าผู้ตายถูกจำเลยที่ 1-3 พาตัวออกไปจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ไม่ใช่เป็นการออกไปด้วยตัวเอง เมื่อตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยพบว่าจำเลยที่ 1-3 ได้โทรศัพท์ไปยังบ้านในบ้านหลังหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุที่พบศพผู้ตาย และมีระยะทางห่างจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ประมาณ 6-7 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที และผู้ตายยังเคยเป็นสายลับให้กับจำเลยในคดียาเสพติด โดยอาจจะกุมความลับของจำเลยไว้
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-3 จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อนฯและย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 มีประโยชน์ในการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ลดโทษจำเลยที่ 2 เหลือจำคุก 50 ปี
มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 4 ส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1-3 ด้วยหรือไม่นั้นเห็นว่า แม้ว่าจำเลยที่ 4 จะเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลย แต่ก็ไม่ได้มีหน้าที่ในการทำคดีดังกล่าว แต่จำเลยที่ 4 กลับยื่นปล่อยตัวชั่วคราวผู้ตาย ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชา โดยแจ้งให้คนไปรับญาติผู้ตายและหลอกลวงว่าผู้ตายได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว พฤติการณ์จึงมีเจตนาร่วมกันวางแผนฆ่าผู้ตายโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จึงมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและปิดบังซ่อนเร้นสาเหตุการตาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้ จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ ลงโทษประหารชีวิต แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุกตลอดชีวิต
มีประเด็นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 5-6 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1-3 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า แม้พยานโจทก์อ้างว่าพบเห็นจำเลยที่ 5-6 อยู่ในระหว่างการสอบปากคำด้วย และจำเลยที่ 5-6 เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1-3 แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 5-6 มีส่วนร่วมในการวางแผนฆ่าผู้ตาย พยานโจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตายและญาติ เพื่อถ่วงเวลาไว้ให้กับจำเลยที่ 1-3 ลงมือก่อเหตุฆ่าผู้ตาย ซึ่งจำเลยที่ 5 และ 6 อาจจะไม่ทราบว่าศาลได้ปล่อยชั่วคราวในเวลากี่โมง แต่บอกญาติผู้ตายไปว่าผู้ตายได้รับการปล่อยตัวแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอว่าจำเลยที่ 5 และ 6 ได้ร่วมกันวางแผนกับจำเลยที่ 1-4 ในการฆ่าผู้ตาย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แต่จำเลยที่ 5 และ 6 มีการข่มขู่พยานเพื่อให้การเท็จ ต้องการให้รูปคดีมีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1-4 ไม่ให้ต้องได้รับโทษทางอาญา แต่การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ตายเสียชีวิตแล้ว จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ แต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 7 ปีนั้น เห็นว่าหนักไป จึงพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5-6 คนละ 5 ปี
ด้านนางพิกุล พรหมจันทร์ อาของผู้ตายกล่าวภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่า ขอบคุณศาลที่ได้ให้ความเป็นธรรม และขอขอบคุณพยานและผู้ที่เกี่ยวข้องจนนำมาสู่คำพิพากษาในวันนี้ด้วย โดยตนนั้นมีความพอใจผลคำพิพากษาทั้งในส่วนของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ แต่ตนยังจะขอใช้สิทธิในการยื่นฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 6 ที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษจากตลอดชีวิตมาเหลือแค่ 5 ปี เนื่องจากเห็นว่าโทษยังน้อยเกินไป โดยส่วนตัวแล้วยังมีความกังวลกรณีที่จำเลยทั้งหมดจะยื่นขอประกันตัว และไม่อยากให้ศาลปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหมดเนื่องจากพยานกังวลในเรื่องความปลอดภัย
อย่างไรก็ตามภายหลังทนายความและญาติของ จำเลยที่ 1-6 ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างการยื่นฎีกาต่อสู้คดี ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 4,5 และ6
ส่วนด.ต.อังคาร คำมูลนา จำเลยที่ 1 ที่ใช้ตำแหน่งข้าราชการ มูลค่า 700,000 บาทเศษ , ด.ต.สุดธินัน โนนทิง จำเลยที่ 2 ที่ใช้ตำแหน่งข้าราชการ มูลค่า 900,000 บาทเศษ และ ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ จำเลยที่ 3 ที่ใช้ตำแหน่งข้าราชการ 500,000 บาทเศษ เพื่อขอปล่อยชั่วคราวนั้น ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1-3 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนประหารชีวิต โดยจำเลยที่ 2 ได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 50 ปี จึงเห็นควรส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณามีคำสั่งต่อไป