xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.แจง พ.ร.บ.ใหม่ สกัดผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี ยกคดีแม้ว-ปูเข้าข่าย - ปัดชงโทษประหารชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ป.ป.ช. แจง พ.ร.บ. ใหม่ ให้การนับอายุความคดีชะงัก กรณีผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี ไม่ถือเป็นการขยายอายุความ ยกคดีแม้ว-ปูเข้าข่าย ปัดชงเสนอโทษหนักข้าราชการ ทุจริตประหารชีวิต แค่อิงประมวลกฎหมายอาญา ม.149 ให้เกิดความชัดเจน “ณรงค์” รับเล็งใช้สอบคดีคอรัปชั่นค้างเก่า จับได้จัดการขั้นเด็ดขาด

วันนี้ (14 ก.ค.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2558

โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. ๒๐๐๓ (United Nations Convention against Corruption : UNCAC) ทำ ให้มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าวหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายภายในของประเทศไทย เพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญาซึ่งเป็นมาตรฐานสากล การที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเรื่องความพยายามและความจริงจังในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายในเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงการแก้ไขปัญหาการทุจริตภายในประเทศ

จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ในการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีกลไกในการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีประเด็นที่สำคัญ เช่น

1.เรื่องอายุความ

ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 74/1 กำหนดให้ในการดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.ป. ป.ป.ช. ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาของศาล อายุความจะสะดุดหยุดอยู่ และเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยแล้ว ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ จะไม่นำเรื่องอายุความมาใช้บังคับ

การแก้ไขนี้มิได้เป็นการขยายอายุความในคดีทุจริตแต่อย่างใด แต่เป็นการยกเว้นมิให้นับอายุความในกรณีที่ผู้กระทำความผิดหลบหนีเท่านั้น ซึ่งหลักการนี้ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.ป. ป.ป.ช. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554) อยู่แล้ว โดยกฎหมายใหม่ได้เพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมถึงการดำเนินคดีอาญาในทุกขั้นตอน ทั้งในกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง กระบวนการฟ้องคดี กระบวนการพิจารณาของศาล รวมถึงกระบวนการภายหลังศาลมีคำพิพากษาด้วย

2. การกำหนดฐานความผิดสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่

ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 123/5 วรรค 2 กำหนดให้มีฐานความผิดเฉพาะสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่ขึ้น เนื่องจากผลประโยชน์ที่เกิดจากการให้สินบน เช่น การได้รับสัมปทาน หรือโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ แท้จริงแล้วผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการติดสินบนดังกล่าว ก็คือ นิติบุคคลนั้นเอง
กฎหมายใหม่จึงกำหนดให้นิติบุคคลมีความผิดถ้าคนที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคล เช่น ลูกจ้าง ตัวแทน ได้ให้สินบนเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ไทย หรือต่างประเทศ และทำไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกัน โดยมีการกำหนดโทษเป็นโทษปรับเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของนิติบุคคลที่ไม่อาจรับโทษจำคุกได้ โดยมีอัตราโทษปรับจากค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่นิติบุคคลนั้นได้รับ ซึ่งกรณีที่เป็นการให้สินบนในโครงการขนาดใหญ่ อาจทำให้มีโทษปรับทางการเงินเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท โดยมาตรการลงโทษทางการเงินนี้จะทำให้รัฐได้รับการเยียวยาความเสียหาย เพื่อเอาประโยชน์ที่นิติบุคคลไม่ควรได้กลับคืน และเพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิด

3. บทกำหนดโทษสำหรับความผิดกรณีเรียกรับสินบน

ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 123/2 กำหนดบทลงโทษกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย เจ้าหน้าที่ของรัฐ
ต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียกรับสินบน โดยมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต ซึ่งโทษประหารชีวิตนั้นมีกำหนดอยู่แล้วตามฐานความผิดกรณีเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ได้กำหนดตัวผู้กระทำความผิดเพิ่มเติม คือ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ และยกบทกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้ มีการปรับเปลี่ยนแค่ในส่วนของอัตราโทษปรับที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดความเหมาะสม

4. ฐานความผิดเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศเรียกรับสินบน

ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 123/2 ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ มีความผิดหากมีการเรียกรับสินบน ซึ่งเป็นการกำหนดฐานความผิดเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญา UNCAC และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการด าเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ ตามหลักความผิดอาญาสองรัฐ (Dual - Criminality)

5. หลักการริบทรัพย์ตามมูลค่า (Value- Based Confiscation)

ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 123/6 - 123/8 กำหนดให้การริบทรัพย์ในคดีทุจริตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้ครอบคลุมถึงทรัพย์สินที่ได้มาแทนเนื่องจากมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือแปลงสภาพทรัพย์ไป และในกรณีที่ไม่สามารติดตามทรัพย์คืนมาได้ หรือการติดตามเป็นไปได้โดยยาก ศาลสามารถกำหนดมูลค่าของทรัพย์สิน และให้มีการชำระเป็นเงินหรือริบทรัพย์อื่นที่มีมูลค่าเท่ากันได้ หลักการนี้จะเป็นการสกัดการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน

นายวิชา กล่าวว่า ส่วนกรณีอายุความ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับที่ 2 ปี 2554 ได้พูดถึงเรื่องอายุความไว้ในกรณีที่อยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวนของ ป.ป.ช. และผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี จนมีการออกหมายจับ จะไม่ต้องนับอายุความ คือให้อายุความหยุดลง แต่ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับนี้ ได้เพิ่มเติมในกรณีของระหว่างการพิจารณาของศาล และมีการหลบหนี หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย และจำเลยได้หลบหนีระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุด โดยไม่ให้นำบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญามาบังคับใช้ในกรณีนี้ หมายความว่า หากจะหลบหนี ต้องหลบหนีตลอดชีวิต ทั้งนี้ เพื่อให้การปราบปรามการทุจริตได้ผลยิ่งขึ้น

ส่วนคดีที่คำพิพากษาไปแล้วจะมีผลกระทบหรือไม่นั้น นายวิชา กล่าวว่า เมื่อเราใช้ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2554 มีการโต้เถียงกันว่าต้องการให้เรื่องอายุความหยุดลงนั้น มีผลย้อนหลัง แต่ปรากฏว่า ศาลตีความว่าไม่มีผลย้อนหลัง เพราะเป็นเรื่องของการให้โทษกับบุคคลซึ่งเป็นกฎหมายอาญา แต่เรื่องนี้ยังเป็นการตีความ เรายังไม่ได้ใช้กับกรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น ต้องรอดูต่อไปว่า สำหรับคดีที่มีคำพิพากษาแล้ว แต่ผู้ต้องหาหลบหนีไปก่อนกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ จะอยู่ในข่ายว่าอายุความหยุดลงหรือไม่

ถามว่า กฎหมายมีมาตั้งนานแล้ว ไม่เห็นมีใครกลัวกัน นายวิชา กล่าวว่า ถ้ากลัวก็คงต้องกลัวตั้งแต่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 แล้ว แต่ก็ยังมีการเรียกรับสินบนอยู่เรื่อยๆ มีใครกลัวบ้างหรือไม่

ถามว่า เท่ากับว่า พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับนี้ เป็นแค่การขู่เท่านั้น นายวิชา กล่าวว่า ก็ไม่ทราบ แต่กฎหมายมีสองแบบคือ ให้คนทั่วไปได้ปฏิบัติ และเพื่อป้องปราม หมายความว่า ให้คนรู้สึกว่ามีโทษรุนแรง ยังมีโทษประหารชีวิต เขาก็คิดว่ามันจะมีส่วนในการช่วยยับยั้งได้บ้าง

ถามว่า กรณีที่ผู้ต้องหาหลบหนีคดีที่มีคำพิพากษาไปแล้ว สามารถรื้อฟื้นขึ้นมาอีกได้หรือไม่ คดีที่จบไปแล้วไม่อาจรื้อฟื้นได้อีก แต่บางคดีที่มีการออกหมายจับไว้ ต้องอยู่ในข่ายเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนี และจะมีการอ่านคำพิพากษาเร็วๆ นี้ เช่น คดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่ากว่า 9 พันล้านบาทโดยมิชอบ (มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ) ก็อยู่ในข่าย หรือแม้แต่คดีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพิ่งขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนก่อให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว เมื่อเร็วๆ นี้ ก็อยู่ในข่ายเช่นกัน

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2558 ได้มีการกำหนดให้การนับอายุความคดีชะงักลงในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีในระหว่างที่มีการพิจารณาคดี หรือกรณีที่จำเลยหลบหนี หลังศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ได้รับจำคุก ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการขยายอายุความ แต่เป็นการยกเว้นการนับอายุความเท่านั้น และ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่มีผลย้อนหลังกับคดีความที่มีการพิพากษาสิ้นสุดแล้ว เพราะจะมีโทษกับจำเลย เว้นแต่กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหลบหนีและมีออกหมายจับเท่านั้น

นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ ว่า เรื่องโทษประหารชีวิตที่อยู่ในมาตรา 123/2 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 3) เป็นการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ที่ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุก 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 - 40,000 บาท หรือประหารชีวิต ซึ่งเป็นโทษเดิม ป.ป.ช.ไม่ได้เสนอปรับแก้อะไรใหม่ มีเพียงการปรับแก้ในส่วนของคำนิยามของเจ้าหน้าที่รัฐ จากเดิมจำกัดแค่เจ้าหน้าที่รัฐภายในประเทศ แต่ตามคำนิยามของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (UNCAC) ซึ่งไทยเป็นประเทศภาคี ได้นิยามคำว่าเจ้าหน้าที่รัฐไว้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศด้วย จึงต้องปรับแก้เพื่อให้สอดคล้องกัน

ด้าน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ถือว่ากฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งในส่วนของ ศธ. ตนได้ย้ำทุกครั้งที่มีการประชุม ว่า การดำเนินการต่าง ๆ จะต้องปราศจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคนด้วย บางคนอาจจะติดว่า ถ้าทำแล้วไม่ถูกจับได้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าถูกจับได้ตนก็จะจัดการเต็มที่

“ที่ผ่านมา ในส่วนของ ศธ. มีหลายเรื่องที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ และมีความล่าช้า ซึ่งผมจะไปดูรายละเอียดข้อกฎหมายดังกล่าว ว่า สามารถนำมาใช้ในการสอบสวนเรื่องที่ยังค้างอยู่ได้หรือไม่ ยอมรับว่า บางเรื่องค้างมาหลายปี และมีการขอขยายเวลาไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นปัญหา เพราะที่ผ่านมา ศธ. ไม่สามารถไปควบคุมคณะกรรมการสอบสวนชุดต่าง ๆ ได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น