ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....**
ซึ่งถือเป็นการ ยกระดับสำนักงานป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้เทียบ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
เรื่องนี้ต่อยอดมาตั้งแต่ วันที่17 พ.ย.2557 ระหว่างที่ “พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานมอบนโยบายทิศทาง และยุทธศาสตร์สำนักงานป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทุจริต โดยการแก้กฎหมาย ป.ป.ท. เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในขั้นตอนการทำงาน คดีทุกคดีต้องทำให้เสร็จก่อนหมดอายุความ ผมยอมให้ทำช้าได้ แต่ขาดอายุความไม่ได้เด็ดขาด เพราะหากรอให้หมดอายุความถือว่ารัฐเสียหายมาก”**
“ผมฝากให้เจ้าหน้าที่ป.ป.ท.ซึ่งต้องลงพื้นที่สอบสวนคดีทุจริตหลางคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลระมัดระวังความปลอดภัยของตัวเองด้วย”**
ขณะที่ “นายประยงค์ ปรียาจิตต์”เลขาธิการป.ป.ท. กล่าวในวันนั้นว่า “การแก้ไขกฎหมายใหม่ของป.ป.ท. จะทำให้ขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ เร็วขึ้น โดยมีแนวคิดเรื่องการเอาผิดฐานสมคบคิด เนื่องจากคดีทุจริตระยะหลังมีลักษณะทำเป็นเครือข่าย ซึ่งสุดท้ายมักไม่สามารถเอาผิดกับผู้บงการที่อยู่เบื้องหลังได้ คล้ายกับคดียาเสพติดที่ตัวการมักไม่เป็นผู้ลงมือทำเอง ทำให้หาความเชื่อมโยงในการเอาผิดได้ยาก พร้อมยกตัวอย่างคดีทุจริตสนามฟุตซอลที่เมื่อสอบไปแล้วก็พบแต่ความผิดข้าราชการครูแต่สอบสวนหาความเชื่อมโยงไปถึงผู้บงการที่ได้รับประโยชน์ตัวจริงยาก”
กลับมาดู มติคณะรัฐมนตรี“พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด”รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลง ว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับออกมาคู่กันเพื่อยกระดับ ป.ป.ท. ซึ่งเป็นไปตามแนวทางหรือคำสั่งคสช.ฉบับที่ 69 คือยกมาตรฐาน วิธีการปฏิบัติงานของป.ป.ท.ให้ใกล้เคียงกับ ป.ป.ช. ให้เป็นหน่วยงานอิสระ ซึ่งเมื่อครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว ให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.)และให้นำมตินั้นไปบัญญัติเพิ่มเติมไว้ในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สำหรับสาระในร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..)พ.ศ. ... นั้น ระบุว่า
1. ปรับปรุงวิธีการได้มาของคณะกรรมการ ป.ป.ท. จากเดิมที่กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่สรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกจำนวนหกคนเสนอต่อวุฒิสภา และเมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป เป็นกำหนดให้คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เสนอรายชื่อบุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามองค์กรละห้าคน ต่อคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อพิจารณาคัดเลือกกรรมการให้ได้จำนวนหกคน
และเมื่อได้กรรมการครบแล้ว ให้คณะกรรมการคัดเลือกแจ้งรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกเป็นประธานกรรมการและกรรมการ พร้อมเอกสารหลักฐาน รวมทั้งความยินยอมของบุคคลดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป เพื่อให้การแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นไปโดยอิสระ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง
2. ปรับปรุงการพ้นจากตำแหน่งกรณีอื่นของคณะกรรมการ ป.ป.ท. โดยกำหนดให้กรรมการที่มีอายุครบเจ็ดสิบปีต้องพ้นจากตำแหน่ง และเพิ่มเติมให้กรรมการมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 แล้ว ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที
3. แก้ไขเรื่องการแต่งตั้งกรรมการใหม่ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระและยังไม่มีการเลือกกรรมการใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง จากเดิมที่กำหนดให้แต่งตั้งใหม่เมื่อมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงสามคน เป็นให้แต่งตั้งใหม่เมื่อมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงห้าคน เพื่อให้มีกรรมการอยู่ในจำนวนที่เหมาะสมในการใช้อำนาจหน้าที่
4.ปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ท. และสำนักงาน ป.ป.ท. ให้รวดเร็วขึ้นเช่น การรับเรื่องไว้พิจารณา ได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณารับหรือไม่รับเรื่องให้ชัดเจน โดยต้องพิจารณาสั่งให้แล้วเสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันที่ได้รับการกล่าวหา ,กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยกำหนดให้เลขาธิการและพนักงาน ป.ป.ท. ซึ่งได้รับมอบหมายมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นแทนคณะกรรมการ ป.ป.ท. และยกเลิกเรื่องการให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการทำงานโดยปกติของสำนักงาน ป.ป.ท. และพนักงาน ป.ป.ท. ที่เป็นกลไกหลักในการแสวงหาและรว
5.บรวมข้อมูลเกี่ยวกับการไต่สวนข้อเท็จจริง
“การควบคุมตัวและการดำเนินคดี โดยกำหนดให้กรณีที่พนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาและได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณาแล้ว ให้พนักงาน ป.ป.ท. มีอำนาจพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ต้องมีการเรียกประกันหรือหลักประกันด้วย เพื่อมิให้เป็นภาระแก่สำนักงาน ป.ป.ท. ในการหาสถานที่ควบคุมตัว”**
5. ปรับปรุงสถานะของสำนักงาน ป.ป.ท. ให้ส่วนราชการระดับกรมที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง เพื่อให้การทำงานของสำนักงานเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
6. ปรับปรุงเรื่องการได้รับเงินเพิ่มพิเศษของพนักงาน ป.ป.ท. และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. โดยกำหนดให้ได้รับในทำนองเดียวกับค่าตอบแทนพิเศษของพนักงานไต่สวน และผู้ช่วยพนักงานไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เพราะเป็นการปฏิบัติงานในลักษณะเดียวกับพนักงานไต่สวนและผู้ช่วยพนักงานไต่สวนของสำนักงาน ป.ป.ช.โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง เห็นชอบอัตราที่กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ท. ด้วย
7. เพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงาน ป.ป.ท. เพื่อให้ครอบคลุมกรณีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางกฎหมายและสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตแล้ว และมีประสบการณ์ในการสอบสวนข้อเท็จจริงและวินิจฉัยคดีหนึ่งปี และกรณีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโทอื่นซึ่งรับราชการในสำนักงาน ป.ป.ท. มาแล้วไม่น้อยกว่าแปดปี เพื่อรองรับผู้ปฏิบัติงานเดิมในสำนักงาน ป.ป.ท. ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานกรณีดังกล่าวให้สามารถแต่งตั้งเป็นพนักงาน ป.ป.ท.ได้
8. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา โดยกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอำนาจฟ้องคดีได้เอง หากพนักงานอัยการเห็นควรสั่งไม่ฟ้องหรือพนักงานอัยการยังมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับความครบถ้วนสมบูรณ์ของสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ภายในกำหนดระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ได้รับสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง
9. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาในศาลทหารโดยกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการทหาร
10.กำหนดให้มีมาตรการป้องกันการทุจริตในภาครัฐเพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐให้ได้ผลดียิ่งขึ้นโดยกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีหน้าที่เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือมาตรการที่ล้าสมัย รวมถึงกำหนดมาตรการในกรณีที่หน่วยงานของรัฐกระทำการ หรือดำเนินโครงการใดที่ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติมิชอบ
11.เเรื่องนี้ “นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ” ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เชื่อว่า “กฎหมายดังกล่าวจะช่วยยกระดับให้ ป.ป.ท. เป็นหน่วยงานอิสระ และการทำงานจะขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งอำนาจหน้าที่ยังคงเหมือนเดิม ในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับล่าง ขณะที่ ป.ป.ช. ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง กฎหมายดังกล่าว จึงไม่กระทบกับอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. แต่จะช่วยให้การทำหน้าที่มีความชัดเจนขึ้น”**
ย้อนกลับไปดูในส่วนของ “ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พ.ศ...” ในส่วนของ ป.ป.ช.
ล่าสุด สมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้อนุญาตให้ ป.ป.ช.ถอนร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. ออกไปแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้อง กับรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่
แต่ก็รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ ...ที่สอดคล้องกับอนุสัญญาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nation Convention Against Courruption: UNCAC) ทั้งการให้อำนาจไต่สวนคดีรับสินบน การยึดทรัพย์ การตามตัวมาดำเนินคดีได้ทั้งใน-นอกราชอาณาจักร โดยไม่นับอายุความหากหลบหนีคดี
เนื่องจาก ประเทศไทย ได้เข้าเป็นรัฐภาคีภายใต้อนุสัญญา UNCAC มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดรับและสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ
โดย ประเด็นสำคัญๆ ของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อาทิ
- กำหนดฐานความผิดการให้/รับสินบนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ
- กำหนดฐานความผิดเฉพาะสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่
- กำหนดหลักการริบทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ
-กำหนดหลักอายุความ โดยมิให้มีการนับอายุความ หากมีการหลบหนีในคดีทุจริต
เนื่องจาก ขณะนี้ประเทศไทยกำลังลุ้นว่าจะผ่านการถูกประเมินและติดตามผลการปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวจากผู้แทนรัฐผู้ประเมิน ประกอบด้วย ราชอาณาจักรบาเรนห์ และสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ซึ่งจะมาประเมินประเทศไทย ในขั้นตอนการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย (Joint meeting or Country visit) เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่าจะผ่านหรือไม่.