“บัวแก้ว” จ่อทำหนังสือแสดงความผิดหวังถึง สถานทูตสหรัฐฯ ท้วงจัดอันดับไทยเรื่องสิทธิมนุษยชน ตาม รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี 2557 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยไทยถูกจัดอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 คือ ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา
วันนี้ (29 มิ.ย.) พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงรายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี 2557 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า เป็นรายงานที่มีการระบุถึงไทยทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นเดิมที่เกิดมาตั้งแต่ก่อนรัฐบาลนี้เข้าบริหารประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอข้อเท็จจริงบ่อยครั้งกับทางสหรัฐฯ พร้อมทั้งเคยเชิญให้ผู้แทนสหรัฐฯมาเยี่ยมชมการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ไทยในจุดที่มีข้อห่วงกังวลแล้ว แต่ไม่ได้รับการประสานมาจากทางสหรัฐฯแต่อย่างใด แต่กลับนำข้อมูลด้านเดียวจากสื่อ และองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลซ้ำกับทางกระทรวงการต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศจะมีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย เพื่อแสดงความผิดหวังกับรายงานดังกล่าว และยืนยันว่า รัฐบาลจะดำเนินการตามโรดแมปเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพและความมั่นคง พร้อมตั้งข้อสังเกตกับประเทศที่เป็นผู้ประเมินประเทศดังกล่าวด้วยความเป็นธรรมหรือไม่
ส่วนกรณีที่ต่างชาติ วิพากษ์วิจารณ์การจับกุม 14 นักศึกษา ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่ผ่านมา โดยมีความปลอดภัยและสงบเรียบร้อย ไม่สามารถมีกรณีเข้ายึดสถานที่ต่างๆได้เหมือนอดีต หากต่างชาติมองอย่างไม่เอนเอียง เชื่อว่าจะเข้าใจขึ้นกว่าเดิม
มีรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่ รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2557 ระบุว่า ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา)
http://thai.bangkok.usembassy.gov/tipthaireport14-t.html
* ปรับลดระดับโดยอัตโนมัติจากกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง
- รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของแต่ละประเทศจะมีคำแนะนำสำหรับรัฐบาลให้นำไปพิจารณาดำเนินการในปีต่อไป นอกเหนือจากคำแนะนำสำหรับประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะแล้ว กระทรวงการต่างประเทศยังเสนอแผนการปฏิบัติสั้นๆ ซึ่งมีพื้นฐานจากคำแนะนำเหล่านั้น ทั้งแผนการปฏิบัติและคำแนะนำมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แนวทางแก่ประเทศต่างๆ เกี่ยวกับมาตรฐานขั้นต่ำตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย Trafficking Victims Protection Act มาตรฐานเหล่านี้โดยรวมสอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดในพิธีสารว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และ ลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (Protocol to Prevent, Suppress and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children) ซึ่งเป็นเอกสารแนบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (United Nations Convention against Transnational Organized Crime หรือ “Palermo Protocol”)