MGR Online - สืบพยานโจทก์นัดแรก คดี “ยิ่งลักษณ์” ปล่อยปละทุจริตจำนำข้าว ได้เพียง 2 ปาก บก.ข่าวการเมืองช่อง 7 เบิกความรับรองวัตถุพยานเนื้อหาข่าวที่ยิ่งลักษณ์-บุญทรงให้สัมภาษณ์ “นิพนธ์” อดีตประธานทีดีอาร์ไอชี้ผลวิจัยระบุจำนำข้าวยุค “ปู” ผิดหลักการ เพราะราคารับซื้อสูงกว่าท้องตลาด แจงไม่ทราบมาก่อนว่างานวิจัยจะถูก ป.ป.ช.ใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดี ศาลฯ นัดสืบพยานครั้งต่อไป 17 ก.พ.
วันนี้ (15 ม.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะรวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานโจทก์นัดแรก ในคดีโครงการรับจำนำข้าว หมายเลขดำที่ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
วันนี้ อัยการได้นำตัวนายนพดล ทิพยวาน บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 7 และนายนิพนธ์ พัวพงศกร อดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ขึ้นเบิกความ
โดยอัยการได้นำตัวนายนพดลเบิกความเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวที่เป็นบทสัมภาษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลย และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ โครงการจำนำข้าว ซึ่งมีการทำคลิปภาพและเสียงสัมภาษณ์ข่าวที่มีการออกอากาศเสนอต่อศาล โดยนายนพดล พยานได้เบิกความรับรองพยานวัตถุและเนื้อหาข่าว ขณะที่ทนายจำเลยได้พยายามซักค้านเรื่องการตั้งคำถามนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการบันทึกข้อตกลง (MOU) กับต่างประเทศ และการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งพยานได้ระบุว่าทาง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบุญทรงได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวตามที่ปรากฏในคลิปภาพที่ออกอากาศ โดยพยานปากนี้ใช้เวลา 30 นาทีเบิกความเฉพาะเรื่องการนำเสนอข่าว
ต่อมาพนักงานอัยการได้นำนายนิพนธ์ เบิกความถึงผลการวิจัยโครงการจำนำข้าวในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งพยานเบิกความตอบคำถามทนายจำเลยว่า การจำนำข้าวเปลือกได้ดำเนินการมานานถึง 30 ปี ซึ่งในอดีตจะมีหลักการรับจำนำข้าว โดยให้ราคาต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งวัตถุประสงค์ของการรับจำนำข้าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อและที่มีฐานะยากจน ซึ่งไม่รวมถึงผู้ประกอบการค้า และการดำเนินโครงการจะมีจำกัดปริมาณข้าวเปลือก แต่เมื่อถึงยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ในปี 2548-2549 ก็ได้ดำเนินโครงการจำนำข้าว ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะมีการจำกัดปริมาณให้รัฐรับซื้อข้าวจากชาวนา แต่ได้ถูกปรับหลักการให้รับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด จึงไม่ถูกต้องตามหลักทฤษฎีจำนำข้าวในอดีต แต่เป็นลักษณะของการประกันราคาข้าวมากกว่า เช่นเดียวกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่รับซื้อข้าวเปลือกในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดและไม่จำกัดปริมาณข้าวเปลือกที่จะซื้อจากเกษตรกรต่อคน ซึ่งทีดีอาร์ไอเคยเสนอปริมาณการรับซื้อที่เหมาะสมในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ควรรับซื้อควรเท่ากับ 15 ตันต่อคน แต่โครงการกลับเขียนให้รับซื้อข้าวเปลือกทุกเม็ด จึงเหมือนกับรับซื้อข้าวเปลือกทุกกรณี ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ที่เน้นช่วยเหลือชาวนากลุ่มย่อย และการตั้งวงเงินที่สูงกว่าก็ขัดต่อกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก นอกจากนี้ ทั้ง 2 รัฐบาลก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนชื่อโครงการทำให้เกิดความสับสน ขณะที่ในยุคของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ดำเนินโครงการจำนำข้าว ซึ่งพยานได้ร่วมให้ข้อเสนอแนะว่าต้องเน้นหลักการช่วยเหลือชาวนารายย่อย ยากจน และต้องจำกัดปริมาณรับซื้อข้าวเปลือก 15 ตันต่อชาวนา 1 คน แต่เมื่อนำหลักการไปปฏิบัติในทางการเมืองไม่สามารถดำเนินการตามทฤษฎีได้ทั้งหมด จึงได้มีการปรับโครงการประกันรายได้
พยานยังได้ตอบคำถามเรื่องการว่าจ้างให้ทำงานวิจัยโครงการว่า มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ว่างจ้างให้พยานทำวิจัยและศึกษาโครงการการจำนำข้าวและการประกันรายได้ ซึ่งการทำวิจัยเพื่อตรวจสอบและสนับสนุนนโยบายสาธารณะ รวมทั้งการต่อต้านการทุจริต โดยกรณีที่ ป.ป.ช.ว่าจ้างการทำวิจัยในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ไม่ใช่เพื่อการกล่าวหาการทุจริต และการทำศึกษาโครงการในยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เกิดก่อนที่จะกลายเป็นคดี ซึ่งพยานไม่ทราบว่าจะมีการนำงานวิจัยดังกล่าวมาเป็นหลักฐานของโครงการ ทั้งนี้ การทำวิจัยพยานซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการได้ดูแลและตรวจสอบเนื้อหาทุกขั้นตอน โดยผลงานวิจัยแต่ละชิ้นไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกับโครงการอื่น เนื่องจากวัตถุประสงค์และขอบเขตการศึกษาแตกต่างกัน ขณะที่วิธีการวิจัยผู้วิจัยได้สุ่มตัวอย่างบางพื้นที่ที่จะเก็บข้อมูลและส่งแบบสอบถามให้กับโรงสี เพราะข้อมูลหลักในงานวิจัยผู้วิจัยจะใช้ภาพรวมเศรษฐศาสตร์ทั่วประเทศ เมื่อส่งงานวิจัยให้ผู้ว่าจ้างที่จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานวิจัย แต่ผู้ว่าจ้างก็ไม่สามารถแก้ไขเนื้อหาในงานวิจัยได้
เมื่อทนายจำเลยพยายามถามถึงกรณีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในยุครัฐบาลนายทักษิณไม่ว่าจ้างให้สถาบันทำวิจัย นายนิพนธ์ อดีตประธานสถาบันทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ช่วงเวลานั้นตนไม่ได้เป็นผู้นำองค์กรจึงไม่ทราบรายละเอียด แต่เท่าที่ทราบทีดีอาร์ไอยังถูกว่าจ้างจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ ให้ทำวิจัยให้โดยตลอด โดยทางทีดีอาร์ไอเป็นสถาบันวิจัยไม่ได้เป็นศัตรูกับรัฐบาลใด และวัตถุประสงค์การทำวิจัยของทีดีอาร์ไอนั้นเพื่อพัฒนาประเทศไทยและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ขณะที่ส่วนตัวได้ทำวิจัยเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรอย่างน้อย 5 ชิ้นงาน และอายุงานที่เหลืออยู่นี้พยานก็ได้อุทิศตนเพื่อทำวิจัยเรื่องของชาวนาและการพัฒนาเพื่อป้องกันการเอาเปรียบต่อไป
โดยช่วงบ่าย นายนิพนธ์ เบิกความซักค้านทนายจำเลยว่า โครงการประกันราคาข้าวในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีผลขาดทุน 130,000 ล้านบาท แต่บางช่วงที่ผลผลิตมีราคาเกินจากราคารับประกันที่รัฐตั้งไว้ ทางรัฐจะเป็นฝ่ายชดเชยส่วนต่างให้ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศก็ใช้วิธีนี้ และยอมรับว่าโครงการประกันราคาข้าวเป็นการแทรกแซงราคา แต่ไม่ถือว่าแทรกแซงกลไกตลาด ขณะที่ในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์มีการรับจำนำข้าวได้เพียงร้อยละ 50 ซึ่งข้อจำกัดจึงไม่ใช่เรื่องงบประมาณ แต่เนื่องจากโรงสีที่อยู่ในโครงการมีจำนวนน้อย และเกษตรกรไม่ได้นำพื้นที่เพาะปลูกมาจดทะเบียน รวมถึงมีการสวมสิทธิ์ ทำให้ไม่สามารถเข้าโครงการได้ เกษตรกรบางส่วนจึงต้องขายข้าวให้กับโรงสีที่ได้สิทธิ์ ผลประโยชน์จึงไม่ได้ตกอยู่กับเกษตรกรที่มีฐานะยากจน แต่กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์คือเกษตรกรที่มีฐานะปานกลางขึ้นไป
นายนิพนธ์ เบิกความต่อว่า แม้โครงการจะปิดบัญชีไปแล้ว แต่ในภาพรวมยังไม่มีการปิดบัญชี เพราะยังขายข้าวไม่หมด ซึ่งทำให้ไม่มีวินัยทางคลัง ส่วนที่พยานทำรายงานเกี่ยวกับความเสียหายของโครงการแล้วไม่มีหน่วยงานรับรอง เพราะพยานไม่ได้ทำรายงานเสนอรัฐบาล จึงไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานใดมารับรอง และการตรวจข้อมูลตัวเลขความเสียหายในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ พบว่าตัวเลขความเสียหายจำนวน 5.3 แสนล้านบาทก็ตรงกับผลการตรวจสอบโครงการในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งในตัวเลขดังกล่าวยังพบว่ามีการทุจริตถึง 80,000-100,000 ล้านบาท พยานขอให้ศาลเรียกข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์มาตรวจสอบด้วย อย่างไรก็ตาม จากข้อสันนิฐานของพยานโดยอ้างอิงจากสถิติของหน่วยงานราชการ เชื่อว่ามีการนำข้าวที่รับจำนำแล้วรอบ 3 มาสวมคืนรอบ 4 ซึ่งการตรวจสอบพบว่าข้าวรอบ 4 ที่มีอยู่มากและเป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำ นอกจากนี้ การใช้เงินนอกงบประมาณของโครงการนี้ใช้มากถึง 860,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าวงเงินที่ตั้งไว้ 5 แสนกว่าล้าน และการขาดทุนของโครงการนี้มีผลผูกพันเปรียบเสมือนมัดมือรัฐบาลชุดต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถจ่ายเงินช่วยชาวสวนงานได้
“การตั้งราคาจำนำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 50 ทำให้เราส่งออกไม่ได้ นโยบายของรัฐในการช่วยเหลือชาวนานั้นไม่ผิด แต่ต้องไม่ทำลายระบบที่มีการแข่งขัน ซึ่งเรื่องนี้ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 88 วรรคแรก ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับ ปรส. ที่นำเงินรัฐบาลไปอุ้มสถาบันการเงิน ในช่วงวิกฤตประเทศไทย เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศล้มละลาย จะต่างกับโครงการรับจำนำข้าวที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินอุ้ม”
ภายหลังเวลา 16.30 น. ศาลไต่สวนพยานอัยการโจทก์เสร็จ 2 ปาก แล้ว นายนิพนธ์ อดีตประธานทีดีอาร์ไอ ได้ยื่นเอกสาร 2 ชุด พร้อมแผ่นซีดี 1 แผ่นส่งศาลประกอบการไต่สวน โดยศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์ ปากต่อไปในวันที่ 17 ก.พ.นี้
ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ จำเลยคดีจำนำข้าว กล่าวว่า วันนี้ได้สืบพยานโจทก์ 2 ปาก จากนี้ต้องเดินทางมาศาลทุกเดือนเพื่อฟังการสืบพยาน
เมื่อถามว่า รู้สึกห่วงหรือหนักใจ กับการเบิกความของอัยการหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ขอให้ความคิดเห็นหรือพูดอะไร เพราะวันนี้ยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้น แต่ถือว่าทนายความทำทุกอย่างเต็มที่ โดยยังจะต้องเดินทางมาศาลสืบพยานอีกในวันที่ 17 ก.พ. ซึ่งต้องมาฟังการสืบพยานกำหนดนัดเดือนละ 2 ครั้ง เมื่อถามถึงการอุทธรณ์คดีที่ได้ยื่นฟ้องนายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด และคณะทำงานอัยการคดีจำนำข้าว ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบที่สรุปสำนวนฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม
นายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทีมทนายความ กล่าวว่า ได้มีการยื่นอุทธรณ์คดีจริง หลังจากศาลอาญา ไม่รับฟ้อง หลังจากนี้ต้องรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ ว่าจะมีคำสั่งเมื่อใด และจะให้รับคดีไว้ไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่
ด้านนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ กล่าวว่า วันนี้ศาลนัดไต่สวนพยาน 4 ปาก แต่วันนี้สามารถไต่สวนพยานได้เพียง 2 ปาก ส่วนอีก 2 ปากศาลเลื่อนไปไต่สวนนัดอื่น ส่วนการไต่สวนพยานในวันที่ 17 ก.พ.นั้น ได้กำหนดพยานไว้ล่วงหน้าแล้ว ในส่วนของทีมทนายความถือว่าได้ทำหน้าที่ซักค้านอย่างดีที่สุด เพื่อทำให้ศาลเห็นถึงข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การชั่งน้ำหนักในชั้นการพิจารณา ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับศาล ขณะนี้ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์อะไร เพราะอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล และนัดไต่สวนพยานโจทก์ครั้งต่อไปวันที่ 17ก.พ.เวลา 09.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณหน้าศาลฎีกาฯ เจ้าหน้าที่ได้นำรั้วเหล็กมากั้นเป็นทางเดิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคู่ความ และมีชาวบ้านให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์จำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบดูแลรักษาความปลอดภัย ซึ่งช่วงเช้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาถึงด้วยสีหน้าสดใส ได้กล่าวสั้น ๆ ว่า “มั่นใจค่ะ วันนี้เราจะทำเต็มที่” ขณะที่ชาวบ้านซึ่งมารอให้กำลังใจต่างตะโกนว่านายกฯ สู้ๆ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักการเมืองที่เดินทางมาด้วย เช่น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.คลัง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต รมช.พาณิชย์ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย