MGR Online - ฎีกายืนให้ยกฟ้อง “พ.ต.ต.เงิน ทองสุก” อดีตตำรวจกองปราบปราม คดีอุ้ม “ทนายสมชาย นีละไพจิตร” ชี้พยานให้การสับสน ส่วนพยานเอกสารการใช้โทรศัพท์ติดต่อระหว่างจำเลยขาดความสมบูรณ์
วันนี้ (29 ธ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีอุ้มนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน หมายเลขดำ ด.1952/2547 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 และนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย และบุตรรวม 5 คน ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีต สว.กอ.รมน.ช่วยราชการกองปราบปราม (ขณะนี้หายสาบสูญ), พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ อายุ 46 ปี อดีตพนักงานสอบสวน กก.4 ป., จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง อายุ 44 ปี อดีต ผบ.หมู่งานสืบสวน แผนก 4 กก.2 บก.ทท., ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อายุ 42 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ กก.4 ป. และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน อายุ 49 ปี อดีตรอง ผกก.3 ป. ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นภันต์วุฒิ ดำรงตำแหน่ง พ.ต.อ.นภันต์วุฒิ ผกก.ฝอ.สพ. จำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพโดยใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และ 391
โดยอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2547 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2547 จำเลยทั้งห้ากับพวก ร่วมกันปล้นทรัพย์ของนายสมชาย ผู้เสียหายซึ่งหายตัวไป และลักทรัพย์เอารถยนต์หมายเลขทะเบียน ภง 6768 กรุงเทพมหานคร, นาฬิกาข้อมือยี่ห้อโรเล็กซ์ 1 เรือน, ปากกายี่ห้อมองบลังค์ 1 ด้าม และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง รวมราคาทรัพย์ทั้งสิ้น 903,460 บาท โดยพวกจำเลยได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชากตัวนายสมชายให้เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้าแล้วจับตัวพาไปซึ่งจนถึงขณะนี้ไม่ทราบว่านายสมชายจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ต่อมาวันที่ 16 มี.ค. 2547 พนักงานสอบสวนยึดรถยนต์ของนายสมชาย ผู้เสียหายที่ถูกจำเลยทั้งห้าร่วมกันปล้นทรัพย์ไปดังกล่าวเป็นของกลาง ต่อมาวันที่ 8 เม.ย. 2547 จำเลยที่ 1-4 เข้ามอบตัว และวันที่ 30 เม.ย. 2547 จำเลยที่ 5 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขณะที่ระหว่างพิจารณานางอังคณา ภรรยาและบุตรของนายสมชาย รวม 5 คน ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดี
ขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2549 ว่า การกระทำของ พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามมาตรา 309 วรรคแรก และมาตรา 391 พิพากษาให้จำคุก 3 ปี ส่วนความผิดฐานปล้นทรัพย์แม้ข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกขับรถนายสมชายไปจอดทิ้งไว้ที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ก็เพื่ออำพรางหลบหลีกการสืบสวนจับกุม ไม่แสดงให้เห็นเจตนาว่าพวกจำเลยประสงค์ต่อทรัพย์ ส่วนทรัพย์สินอื่นก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 กับพวกได้นำทรัพย์สินไปจริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ สำหรับจำเลยที่ 2-5 พิพากษายกฟ้อง
ต่อมาอัยการโจทก์ และภรรยากับบุตรของนายสมชาย โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยด้วย และ พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องจำเลยที่ 2-5 ตามศาลชั้นต้น ส่วน พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำให้การของพยานโจทก์ ยังสับสนเรื่องการยืนยันตัวจำเลย เมื่อมีเหตุความสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยที่ 1 จึงพิพากษาแก้เป็นยกฟ้อง พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งระหว่างอุทธรณ์นี้ศาลได้ออกหมายจับ พ.ต.ต.เงิน พร้อมสั่งปรับนายประกันจำเลย จำนวน 1.5 ล้านบาทไว้ เนื่องจากจำเลยไม่มาศาลตามนัด และศาลอุทธรณ์ยังมีคำสั่งให้ยกคำร้องการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของนางอังคณา ภรรยาและบุตรตามที่ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านด้วย โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดียังไม่ชัดเจนว่านายสมชายจะเสียชีวิตแล้วหรือไม่ ภรรยาและบุตรจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีและไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.5 (2)
ภายหลังอัยการโจทก์ และภรรยากับบุตรของนายสมชาย ยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลย และการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดี ซึ่งขณะที่ฎีกา ในส่วนของ พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 ปรากฏว่าได้มีการประกาศคำสั่งศาลจังหวัดปทุมธานี ลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2555 เรื่องให้เป็นคนสาบสูญ ซึ่งทนายความและครอบครัวของ พ.ต.ต.เงิน มีข้อมูลว่า พ.ต.ต.เงินได้หายสาบสูญ ช่วงวันที่ 19 ก.ย. 2551 จากเหตุการณ์คันกันน้ำถล่มที่เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก โดยมีการยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปทุมธานีที่เป็นพื้นที่ซึ่งพ.ต.ต.เงินมีภูมิลำเนาพักอาศัย และศาลได้ไต่สวนแล้ว พ.ต.ต.เงินได้จากภูมิลำเนาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว และไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร จึงมีคำสั่งให้ พ.ต.ต.เงินเป็นคนสาบสูญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.61 (3) ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว การฎีกาขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดียังไม่ชัดเจนว่านายสมชายถูกทำร้ายหรือกระทำการต่อชีวิตที่จะได้รับบาดเจ็บหรือจนกระทั่งเสียชีวิต ดังนั้น นางอังคณา ภรรยาและบุตรของนายสมชาย จึงไม่ใช่ผู้ที่จะเข้าขอเป็นโจทก์ร่วมได้ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจยื่นฎีกา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ฎีกาของอัยการโจทก์ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำผิดหรือไม่ ซึ่งโจทก์นำสืบถึงมูลเหตุจูงใจของจำเลยทั้งห้าว่า สืบเนื่องจากนายสมชายได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางคดีเกี่ยวกับความมั่นคงกับกลุ่มผู้ต้องหา 5 รายในเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนและก่อเหตุความไม่สงบภาคใต้เมื่อปี 2547 โดยนายสมชายได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อผบ.ตร.กรณีที่ผู้ต้องหาระบุว่า ถูกพวกทำร้ายร่างกายเพื่อกลับคำให้การ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งห้าไม่ได้พบหรือเคยเห็นนายสมชายมาก่อน ขณะที่การทำหนังสือร้องเรียนนั้นก็ฟังได้ว่านายสมชายไม่ใช่ผู้ลงชื่อในหนังสือโดยตรง ดังนั้น จึงยังฟังไม่ได้ว่าพวกจำเลยจะรู้ว่านายสมชายเป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือเพื่อยื่นเรื่องร้องเรียน ขณะที่พยานบุคคล 5 ปาก ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เห็นนายสมชายเป็นครั้งสุดท้ายบริเวณ ถ.รามคำแหง แม้เป็นประจักษ์พยาน แต่คำให้การในชั้นสอบสวนในหลายประเด็นยังมีข้อพิรุธขัดแย้งกับความเป็นจริง และคำเบิกความในชั้นศาลทั้งในเรื่องความสว่างของแสงไฟ ระยะการมองเห็นที่ทำให้เกิดความสับสน ซึ่งพยานบางปากให้การสับสนระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ที่มีการระบุว่าเป็นผู้ขับรถยนต์ของนายสมชายไป โดยส่วนใหญ่พยานจะให้การทำนองเดียวกันว่าเห็นคนร้าย 3-4 คนยื้อยุดฉุดกระชากกัน แต่ไม่ให้ความสนใจมากนัก กระทั่งทราบข่าวภายหลังว่านายสมชายหายตัวไป จึงได้มาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งช่วงเวลาเกิดเหตุที่จะมองเห็นเพียงไม่ถึงนาที รวมทั้งปัญหาแสงไฟ อาจทำให้ไม่ชัดเจนเพียงพอ โดยลักษณะเด่นของจำเลยที่โจทก์นำสืบว่าบางคนขาวสูงคล้ายคนจีน ก็ไม่ใช่ลักษณะเด่น แต่เป็นลักษณะทั่วไป อีกทั้งคำเบิกความของพยานในชั้นศาลก็ไม่ได้ยืนยันชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นคนร้าย และที่โจทก์นำสืบว่าได้ทราบถึงการพูดคุยของจำเลย เพื่อจะทำร้ายนายสมชายก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำนายตำรวจที่ทราบถึงประเด็นดังกล่าวมานำสืบให้ชัดแจ้ง
ส่วนพยานเอกสารที่เป็นข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยทั้งห้า ที่มีการตรวจสอบเน้นในเกิดเหตุวันที่ 12 มี.ค. 2547 ตั้งแต่เวลา 07.00-21.00 น. และมีการจัดทำพิกัดพื้นที่การใช้โทรศัพท์นั้น ที่โจทก์นำสืบว่ามีการติดต่อโทรศัพท์ระหว่างจำเลยมากผิดปกติถึง 75 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว สะกดรอยตามนายสมชายโดยตลอด โดยมีพยานซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนจัดทำข้อมูลมาเบิกความว่า ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ส่วนหนึ่งได้จากการที่ผู้ช่วย ผบ.ตร.ประสานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏจากทางนำสืบพยานโจทก์ว่า ผู้ช่วย ผบ.ตร.ไม่ได้เป็นผู้บันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์ด้วยตนเอง แต่เป็นกรณีที่ได้รับข้อมูลเป็นเอกสาร ซึ่งถึงเป็นเพียงพยานบอกเล่ามาเท่านั้น อีกทั้งเอกสารนั้นเป็นเพียงสำเนา ไม่ได้มีการรับรองผู้จัดทำโดยตรง ดังนั้น พยานดังกล่าวจึงถือว่าเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 ที่จะอ้างเป็นพยาน ข้อกล่าวอ้างของโจทก์จึงเลื่อนลอย ยังไม่อาจนำมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งห้าได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้นางอังคณาและบุตรสาวได้เป็นตัวแทนของครอบครัวนีละไพจิตรเดินทางมาฟังคำพิพากษา ขณะที่มีสื่อมวลชนต่างประเทศและนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนหนึ่งมาติดตามผลคำพิพากษาด้วย หลังจากที่นายสมชายหายตัวไป 11 ปี 9 เดือน ภายหลังฟังคำพิพากษายกฟ้อง นางอังคณาก็มีสีหน้าเรียบเฉย
โดยนางอังคณา กล่าวภายหลังศาลยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 ราย ว่า รู้สึกเสียใจและผิดหวังกับพนักงานสอบสวนคดีนี้ได้ส่งเอกสารที่ไม่น่าเชื่อถือให้ศาลพิจารณา ทำให้ศาลไม่เชื่อในพยานหลักฐาน ประกอบกับประจักษ์พยานในคดีนี้ไม่ได้รับการคุ้มครอง ทำให้พยานหวาดกลัวจนกระทั่งไม่สามารถจะชี้ตัวจำเลยในชั้นศาลได้ อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือการที่ศาลไม่สามารถอนุญาตให้ครอบครัวเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีได้ จะส่งผลกระทบต่อคนที่อาจจะโดนอุ้มหายในอนาคต ว่าครอบครัวจะไม่สามารถเป็นโจทก์ในคดีได้ เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า คนที่หายตัวไปบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแล้ว จนไม่สามารถดำเนินการได้เอง จึงรู้สึกผิดหวังและเสียใจเป็นอย่างยิ่ง
“ คดีนี้เกิดขึ้นมานาน 11 ปี 9 เดือน เราไม่รู้ว่าทนายสมชายหายไปไหน และใครจะต้องรับผิด เมื่อปี 2555 รัฐบาลได้มีมติเยียวยาครอบครัวสมชาย ด้วยเหตุผลที่ เชื่อได้ว่าทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกลักพาตัวและอุ้มหายไปโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่วันนี้ไม่สามารถเอาผิดใครได้ ก็คงต้องถามรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้รับผิดชอบคดีนี้ว่าพนักงานสอบจะมีความเป็นมืออาชีพอย่างไรในการส่งเอกสารที่น่าเชื่อถือขึ้นสู่ศาลให้สามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้ โดยเฉพาะกรณีผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งคดีอุ้มฆ่ายากที่จะพิสูจน์ว่าผู้ที่ถูกอุ้มอยู่ในสถานะไหน ถ้าไม่เจอศพ ทั้งนี้คดีอุ้มฆ่าก็คือ การฆาตกรรมที่ไม่เจอศพ ดังนั้นก็เท็จจริงก็จะประจักษ์อยู่แล้วว่าไม่ว่าจะเป็นทนายสมชายหรือคนที่ถูกอุ้มหาย ไม่สามารถที่จะมาดำเนินการทางคดีได้ด้วยตัวเอง ก็เสียใจที่ศาลไม่ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงประกอบ ศาลพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายว่าไม่มีพยานหลักฐานว่าทนายสมชายบาดเจ็บหรือเสียชีวิต”นางอังคณาระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะดำเนินการเพื่อต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมต่อไปอย่างไรบ้าง
นางอังคณา กล่าวอีกว่า คดีการบังคับสูญหายในทางกฎหมายถือเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง ไม่มีอายุความ โดยอายุความจะเริ่มต่อเมื่อทราบ ที่อยู่และชะตากรรม ของผู้สูญหาย ดังนั้นคดีนายสมชาย นีละไพจิตร ก็คงจะต้องมีผู้รับผิดชอบ คงต้องฝากกลับไปยังรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้รับผิดชอบคดีว่าจะดำเนินอย่างไร ที่จะให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวตนเองได้
นางอังคณา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีกฎหมายว่าด้วยการบังคับสูญหาย ทั้งที่คดีนี้มีพยานเห็นคนกลุ่มหนึ่งผลักทนายสมชายขึ้นรถยนต์และเขาไม่ได้กลับมาอีก ซึ่งเราไม่มีกฎหมายดูแลตรงนี้ เพราะถ้าหากหาศพไม่เจอ ก็แสดงว่าก็ไม่สามารถเอาผิดใครได้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องรีบเร่งที่จะลงนามให้สัตยาบรรณอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติหรือยูเอ็น แล้วก็จะต้องให้มีกฎหมายว่าด้วยการบังคับสูญหายต่อไป ไม่เช่นนั้นใครก็ตามอาจถูกนำตัวไปควบคุมตัวไว้ในสถานที่ลับ และไม่เปิดเผยถึงที่อยู่ และชะตากรรมได้ จึงเป็นหน้าที่กระทรวงยุติธรรมและรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบดำเนินการ
ซึ่งตอนนี้ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมได้ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการขู่บังคับให้สูญหาย ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ตั้งแต่ช่วงเมษายน 2558 แต่หาก ครม.ยังไม่เห็นชอบยังค้างอยู่ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. กฎหมายก็จะไม่ได้บังคับใช้ อยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญปัญหาการอุ้มฆ่าในประเทศไทยและผลักดันกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองพยาน
ส่วนจำเลย วันนี้เดินทางมามาศาลเพื่อฟังคำตัดสินทั้งสิ้น 4 คน คือ พ.ต.อ.นภันต์วุฒิ หรือชัดชัย เลี่ยมสงวน, พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ อดีตพนักงานสอบสวน กก.4 ป., จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง อดีต ผบ.หมู่งานสืบสวน แผนก 4 กก.2 บก.ทท. และ ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อายุ 42 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ กก.4 ป. โดยทั้งหมดเดินทางกลับทันที ไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ ส่วน พ.ต.ต.เงิน ทองสุก จำเลยที่ 1 ได้หายสาบสูญไปตั้งแต่ปี 2551