ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก “สนธิ” 1 ปี ปรับ 3 หมื่นบาท รอลงอาญา 2 ปี คดีหมิ่นประมาท “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” กล่าวหาล้างมลทินกลุ่มอำนาจเก่า สมัยเป็น รมว.คลังในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พร้อมให้ตีพิมพ์คำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ
วันนี้ (2 ธ.ค.) เวลา 09.30 น. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยื่นฟ้อง เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด, นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และนายขุนทอง ลอเสรีวานิช บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการ เป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2550 นายสนธิหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ผ่านรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางช่อง News 1 เอเอสทีวี และ นสพ.ผู้จัดการรายวัน ทำนองว่าโจทก์ล้างมลทินให้กลุ่มอำนาจเก่าปล่อยให้มีการออกสลากบนดิน 2 ตัวขัดต่อกฎหมาย และโจทก์ช่วยเหลือนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ที่ไม่ตรวจสอบการขายหุ้นแอมเพิลริชให้กลุ่มทุนเทมาเส็ก และปกป้องผู้กระทำผิดกรณีที่ปล่อยให้มีการโอนหุ้นชิน บมจ.ชินคอร์ป โดยไม่เสียภาษี รวมทั้งมีผลประโยชน์ทับซ้อนในธนาคารกสิกรไทยฯ ด้วย จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2552 ว่าจำเลยที่ 1, 2, 4 กระทำผิดฐานหมิ่นประมาท โดยจำเลยที่ 2 ได้ชี้นำโน้มน้าวให้ประชาชนผู้ฟังเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนชั่วมีพฤติการณ์บริหารงานต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง เป็นการกล่าวพาดพิงโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ จำเลยเคยรับโทษในคดีลักษณะนี้มาแล้ว เห็นควรให้จำคุกจำเลยที่ 2 นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นเวลา 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ให้ปรับ 200,000 บาท และนายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการ จำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา พร้อมทั้งให้ลงโฆษณาคำพิพากษาใน นสพ.ไทยรัฐ, เดลินิวส์, มติชน, ผู้จัดการรายวัน เป็นเวลา 5 วัน ต่อมาจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2556 ว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการใส่ร้ายให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนามุ่งร้ายกับโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 2 พูดเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะและผลประโยชน์ของส่วนรวม ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 2 ปีนั้นเห็นว่ารุนแรงเกินไป จึงเห็นควรลงโทษในสถานเบาและแก้โทษให้เหมาะสม เป็นว่าจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 1 ปี และปรับเงิน 3 หมื่นบาท ทั้งนี้ จำเลยเป็นสื่อมวลชนซึ่งมีความสำคัญในการตรวจสอบ ท้วงติงการทำงานของรัฐบาลและทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม จึงเห็นควรสนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างเข้มแข็งต่อไป โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ส่วนบริษัท ไทยเดย์ฯ จำเลยที่ 1 เห็นว่าร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยการบันทึกถ้อยคำที่กล่าวหมิ่นประมาทโจทก์ลงในวีซีดีออกเผยแพร่ ลงโทษปรับเงินจำนวน 1 แสนบาท ขณะที่จำเลยที่ 4 นั้นเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นลงโทษมานั้นถือว่าเหมาะสมแล้ว และให้ลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ และสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี จำเลยยื่นฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า การจัดรายการ ของจำเลยที่ 2 อาจเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะสื่อมวลชนวิจารณ์โจทก์ ซึ่งทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ แม้มีข้อความหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ อยู่บ้าง แต่ไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทย์มาก่อน ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งจำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปี ปรับ 3 หมื่นบาท รอลงอาญา 2 ปี นั้น เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกา เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษา ยืน แต่แก้คำพิพากษาที่ให้จำเลยร่วมกัน พิมพ์คำพิพากษาย่อ ในหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ คือ ไทยรัฐ เดลินิวส์ และผู้จัดการ เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน โดยจำเลยต้องออกค่าใช้จ่ายเองด้วย ส่วนนายขุนทอง ลอเสรีวานิช บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการ จำเลยที่ 4 พ้นผิดตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550
คำพิพากษาโดยละเอียด
คำพิพากษาศาลฎีกา
คดีหมายเลขดำที่ อ.1352/2550 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2990/2552 ความอาญา ศาลอาญา
ระหว่าง หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล โจทก์
บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด จำเลยที่ 1
นายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยที่ 2
บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด จำเลยที่ 3
นายขุนทอง ลอเสรีวานิช จำเลยที่ 4
ข้อหา หมิ่นประมาท, ความผิดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 4 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ข้อความตอนแรกที่ว่า “การขาดทุนจากการแทรกแซงค่าเงินของโจทก์เหมือนกับการขาดทุนสมัยนายเริงชัย” เห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดตามฟ้องที่จำเลยที่ 2 พูดข้อความตอนแรกตามฎีกาแสดงพฤติการณ์แห่งการปฏิบัติในการบริหารงานของโจทก์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเกิดการขาดทุนจากการแทรกแซงค่าเงินเหมือนกับสมัยที่นายเริงชัยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งที่ความจริงสมัยนายเริงชัยได้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันจริงและส่งมอบเงินให้กันจริง ต่างกับกรณีสมัยโจทก์ที่เป็นการขาดทุนเงินสำรองระหว่างประเทศที่เก็บไว้ เป็นการขาดทุนทางบัญชีเพราะเงินที่เก็บไว้เสื่อมค่าลง เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมิได้เกิดจากการซื้อไปขายมาและไม่ได้ส่งมอบเงินกันจริง ทั้งจำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ข้อเท็จจริงวิธีการแทรกแซงค่าเงินต่างกัน แต่พฤติการณ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ว่าเป็นการขาดทุนตามความเป็นจริงหรือการขาดทุนทางบัญชีก็ถือว่าเป็นการขาดทุนเหมือนกัน กรณีเป็นการที่จำเลยที่ 2 พูดยืนยันข้อความที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจริงว่าการขาดทุนทั้งสองกรณีเหมือนกัน และโจทก์ควรต้องรับผิดเช่นเดียวกับนายเริงชัย จึงเป็นการใส่ความโจทก์ในประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์
ข้อความตอนที่สองที่ว่า “โจทก์เป็นกรรมการบริษัทคอมลิงค์ทั้งที่ยังดำรงตำแหน่งผู้จัดการเอ็กซิมแบงค์กล่าวหาว่าโจทก์มีผลประโยชน์ทับซ้อน” เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่เป็นการหมิ่นประมาท และโจทก์ไม่อุทธรณ์ในข้อความดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามฎีกา
ข้อความตอนที่สามที่ว่า “โจทก์ใช้มาตรการกันเงินสำรอง 30% ทำให้ราคาหุ้นตกแล้ว โจทก์ประกาศยกเลิกการใช้มาตรการดังกล่าวในวันรุ่งขึ้นทำให้ราคาหุ้นขึ้น แล้วจำเลยที่ 2 ตั้งคำถามว่าคนใกล้ชิดที่ทราบเรื่องนี้มีใครได้ประโยชน์บ้างนั้น” เห็นว่าจำเลยที่ 2 กล่าวใช้ถ้อยคำว่า แนะนำให้ตรวจสอบคนใกล้ชิดคุณชายหม่อมได้ไหม ภรรยา ลูก โดยเฉพาะหม่อมหลวงณัฏฐปกรณ์ เทวกุล คุณปลื้มออกโทรทัศน์ช่อง 3 และปกป้องพ่อเต็มที่เลยตรวจสอบหน่อยได้ไหมว่ามีการซื้อขายหุ้นในชื่อคุณปลื้มบ้างหรือเปล่า คุณชายทำให้ชาติบ้านเมืองหน่อย จึงเป็นการตั้งข้อสังเกตของจำเลยที่ 2 ในฐานะสื่อมวลชนตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น และสมควรกล่าวตามวิสัยสภาพของเรื่องที่จะกล่าวเช่นนั้น ข้อความตอนที่สามนี้ไม่เป็นการหมิ่นประมาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 4 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 4 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยวินิจฉัยแบ่งข้อความเป็น 4 ตอน ดังนี้
ข้อความตอนแรกที่ว่า “โจทก์มีหนังสือพิมพ์รับจ้างโจทก์อยู่หลายฉบับ” เห็นว่า โจทก์นำสืบว่าโจทก์ไม่มีอำนาจที่จะไปจ้างหนังสือพิมพ์ รวมทั้งไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดมารับจ้างโจทก์ด้วย ถ้อยคำดังกล่าวจะทำให้เข้าใจว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี การที่จำเลยที่ 2 พูดถ้อยคำว่าโจทก์มีหนังสือพิมพ์รับจ้างอยู่หลายฉบับเป็นการบิดเบือนและเสียดสีโจทก์ โดยมุ่งหมายให้เกิดความเข้าใจว่าโจทก์ว่าจ้างหนังสือพิมพ์ลงข่าวสนับสนุนโจทก์ ทั้งที่จำเลยที่ 2รู้ว่าเป็นความเท็จ เป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์
ข้อความตอนที่สองที่ว่า “โจทก์หลอกลวงประชาชน หลอกลวงนายกรัฐมนตรี และหลอกลวง คมช. โดยจำเลยที่ 2 กล่าวว่า โจทก์แสดงท่าทีปกป้องนายศิโรตม์ โดยพูดว่า นายศิโรตม์ไม่มีความผิดและจะให้เพียงปลดออก ได้รับบำเหน็จบำนาญ แต่ต่อมา ปปช. ชี้มูลความผิดและ อ.ก.พ.กระทรวงไล่ออก” เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นสื่อมวลชนอยู่ในวิสัยที่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดเสียก่อนที่จะพูดออกไป แต่จำเลยที่ 2 กลับนำข้อเท็จจริงคนละเรื่องในแต่ละลำดับเหตุการณ์มากล่าวยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงทั้งหมด เป็นการจงใจกล่าวหาว่าโจทก์เป็นคนหลอกลวงและมีพฤติการณ์ปกป้องช่วยเหลือคนที่กระทำความผิด เป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์
ข้อความตอนที่สามที่ว่า “โจทก์อนุมัติให้ออกหวยบนดิน 3 หรือ 4 งวด ก่อนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะตีความลงมา และได้ทำเรื่องหวยให้เป็นพระราชบัญญัติเข้าสภา ในที่สุดพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ สั่งให้ถอน พ.ร.บ.นี้ออกมา” เห็นว่า จำเลยที่ 2 พูดข้อความตอนที่สามนี้มีลักษณะเป็นไปตามเหตุการณ์ตามที่จำเลยที่ 2 เข้าใจ จึงตั้งคำถามเพื่อให้โจทก์ตอบโดยมีข้อความบางตอนเป็นการชี้นำทำนองว่าหวยบนดินมีความไม่โปร่งใส โจทก์ไม่ใส่ใจว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ส่วนเรื่องหวยออนไลน์ โจทก์มีผลประโยชน์ จึงเป็นการใส่ความโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 กล่าวข้อเท็จจริงดังกล่าวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เป็นการเข้าใจเอาเองโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ทั้งโจทก์นำสืบยอมรับว่าจำเลยที่ 2 กล้ากล่าวสิ่งที่ไม่รู้ จึงไม่มีความผิดหมิ่นประมาท
ข้อความตอนที่สี่ที่ว่า “จำเลยที่ 2 กล่าวสรุปมุ่งหมายถึงโจทก์ว่าเป็นการปล้นชาติ ปล้นแผ่นดิน เป็นการโกหกหลอกลวง เป็นผู้ใหญ่ที่เด็กไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง” เห็นว่า ตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัยมาแล้วว่า ข้อความใดเป็นหมิ่นประมาทต้องพิจารณาข้อความทั้งหมด จะหยิบยกมาพิจารณาแต่เฉพาะตอนใดตอนหนึ่งไม่ได้ รับฟังว่า หลังจากศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อความที่จำเลยที่ 2 พูดแต่ละตอนเป็นหมิ่นประมาทหรือไม่ ตามลำดับ จนกระทั่งถึงข้อความตอนที่ 4 ศาลอุทธรณ์ต้องการสรุปข้อความที่จำเลยที่ 2 พูดแต่ละตอนตามที่วินิจข้างต้นว่าที่จำเลยที่ 2 พูดไปแต่ละตอนมีความมุ่งหมายถึงโจทก์ว่าอย่างไร แล้วสรุปว่าเป็นการใส่ความโจทก์ จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ข้อความตอนที่สี่จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อความที่จำเลยที่ 2 พูดแต่ละตอนตามคำฟ้อง และไม่ใช่ข้อความทั้งเรื่องที่จะแสดงความหมายอันแท้จริงของข้อความที่จำเลยที่ 2 พูด จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 พูดข้อความที่สี่ เป็นหมิ่นประมาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 4 ประการที่สองมีว่า จำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 4 ต้องร่วมรับผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ที่จำเลยที่ 2 พูดออกอากาศวันที่ 12 มกราคม 2550 ที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แผ่นวิดิทัศน์ หมาย ว.จ.1 ที่มีการพิมพ์ภาพถ่ายของจำเลยที่ 2 พร้อมข้อความว่า “12คำถาม ถึงคุณชายอุ๋ย กล้าตอบไหม” โดยแผ่นวิดิทัศน์ หมาย ว.จ.1 บันทึกภาพและเสียงของจำเลยที่ 2 ออกเผยแพร่ ซึ่งข้อความที่จำเลยที่ 2 พูดตรงกับข้อความตามเอกสารหมาย จ.3 ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่ามีข้อความหลายตอนเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ จึงเป็นการกระทำโดยการกระจายเสียงและการกระจายภาพ ย่อมต้องร่วมรับผิดด้วยกับจำเลยที่ 2 ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ที่จำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนรู้เห็นและเกี่ยวข้องร่วมกับจำเลยที่ 2 ย่อมฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 4 ประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 4 ต้องร่วมรับผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ปัญหาข้อนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และในฐานะตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในการหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48, 49 สำหรับการกระทำความผิดในฐานะที่เป็นการบรรณาธิการตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า ในคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป และพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งโจทก์ไม่อุทธรณ์ ข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงว่าจำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 หรือไม่ ตามคำพยานโจทก์ที่นำสืบไม่ได้ความชัดเจนว่าจำเลยที่ 4 กระทำการใดบ้างที่เกี่ยวกับการลงพิมพ์ข้อความดังกล่าวนอกเหนือจากการที่ต้องรับผิดชอบในฐานะที่เป็นบรรณาธิการ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 4 ได้ โยไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยที่ 4 ต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยลงโทษจำเลยที่ 4 โดยเห็นว่าจำเลยที่ 4 ยังคงมีหน้าที่ตรวจสอบควบคุมเนื้อหาหรือจัดให้มีการเผยแพร่ในฐานะบรรณาธิการอยู่อีกนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 4 ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่าสมควรลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งส่งให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์เพียงใด เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นสื่อมวลชนได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของโจทก์ในฐานะผู้บริหารประเทศว่าบกพร่องหรือไม่ถูกต้องอย่างไร แม้มีข้อความหลายตอนเป็นการใส่ความโจทก์ โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ที่จะใส่ความจากสาเหตุในเรื่องส่วนตัว หรือจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำคุก จำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 30,000 บาท โทษให้จำคุกรอการลงโทษไว้ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัดเจ้าจองรายการที่จำเลยที่ 2 พูดออกอากาศและเจ้าของลิขสิทธิ์แผ่นวิดิทัศน์ หมาย ว.จ.1 ที่มีข้อความหลายตอนหมิ่นประมาทโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 100,000 บาทเป็นการกำหนดโทษที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข สำหรับเรื่องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันโฆษณาคำพิพากษา จะเห็นว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332 ให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษราคำพิพากษาเท่านั้น มิได้มีกฎหมายให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาขอขมาทางโทรทัศน์ และขอขมาทางหนังสือพิมพ์ด้วย ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ส่งให้จำเลยที่ 1, 2 ร่วมกันโฆษณาทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์จึงเป็นการนอกเหนือจากบทบัญญัติดังกล่าว ต้องตามความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง และเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อพอได้ใจความในหนังสือพิมพ์มติชน หรือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หรือหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เพียง 2 ฉบับ และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันอีก 1 ฉบับ รวม 3 ฉบับ เป็นเวลาติดต่อกันฉบับละ 3 วัน ด้วยตัวอักษรขนาดเท่ากับหนังสือพิมพ์ทั่วไปที่เสนอข่าวเป็นปกติ โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ดำเนินการดังกล่าว ให้โจทก์ดำเนินการแทนโดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาทั้งหมด ฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อพอได้ใจความในหนังสือพิมพ์มติชน หรือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หรือหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เพียง 2 ฉบับ และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันอีก 1 ฉบับ รวม 3 ฉบับ เป็นเวลาติดต่อกันฉบับละ 3 วัน ด้วยตัวอักษรขนาดเท่ากับหนังสือพิมพ์ทั่วไปที่เสนอข่าวเป็นปกติ โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ดำเนินการดังกล่าว ให้โจทก์ดำเนินการแทนโดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาทั้งหมด ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์