xs
xsm
sm
md
lg

ปปง.ยึดทรัพย์ “สารวัตรเอี๊ยด” พร้อมพวกผู้ต้องหาคดี ม.112 มูลค่าเกือบ 45 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


          MGR Online - สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ยึดอายัดทรัพย์ พ.ต.ต.ปรากรม หรือสารวัตรเอี๊ยด กับพวก ผู้ต้องหาร่วมกันแอบอ้างเบื้องสูงเรียกรับผลประโยชน์ รวม 11 รายการมูลค่าเกือบ 45 ล้านบาท

วันนี้ (26 พ.ย.) ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. เปิดเผยถึงกรณีกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้มีหนังสือมายังสำนักงาน ปปง.ขอให้ตรวจสอบข้อมูลทางการเงินและรายงานข้อเท็จจริงในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ของ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สว.กก.1 บก.ปอท.) กับพวก ผู้ต้องหาร่วมกันแอบอ้างเบื้องสูงเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

จากการสืบสวนสอบสวนทราบว่า พ.ต.ต.ปรากรมกับพวกมีพฤติการณ์ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา กระทำการให้บุคคลใดๆ มิให้ต้องโทษ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 และเป็นเจ้าพนักงานรัฐ ปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123 และเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (5) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา โดยในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 14/2558 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2558 คณะกรรมการธุรกรรมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด พ.ต.ต.ปรากรม กับพวก

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2558 พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง และพวกเพิ่มเติมอีก 2 คดี โดยกล่าวโทษนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์, นายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ และ พ.อ.คชาชาต บุญดี หรือเสธ.โจ้ อดีตนายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองทัพภาคที่ 3 ซึ่งร่วมกันกระทำความผิดในฐานความผิดมาตรา 112 และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่ทำให้ผู้อื่นเชื่อว่า มีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือในความผิดฐานอื่นที่พบภายหลัง และเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 ศาลทหารกรุงเทพได้ออกหมายจับ พ.อ.คชาชาต ในข้อหาดังกล่าว

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวพฤติการณ์ของ พ.อ.คชาชาต กับพวกจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123 และเป็นการกระทำโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นและประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และด้วยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่ 3 อันอาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) มาตรา 3 (5) และมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

ทางพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคล รวมทั้งผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ พ.ต.ต.ปรากรม กับพวก ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า พ.ต.อ.ปรากรม กับพวกเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือมีสิทธิครอบครองในทรัพย์สินจำนวนหลายรายการ ได้แก่ เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร, สิทธิเรียกร้องในตั๋วแลกเงิน และห้องชุด โดยปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า ทรัพย์สินดังกล่าวของ พ.ต.อ.ปรากรม กับพวก ประกอบด้วย น.ส.สุรีวรรณ ชาญยุทธิ์, นายจิรวงศ์, พ.อ.คชาชาต และนายสุริยัน ได้ร่วมในระหว่างที่มีการกระทำความผิดมูลฐานดังกล่าว

ทั้งนี้ ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีนี้ ประกอบด้วย ทรัพย์สินประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร สิทธิเรียกร้องในตั๋วแลกเงินอันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด ซ่อนเร้น ได้โดยง่าย และทรัพย์สินประเภทห้องชุดอันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียนในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครอง โดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครอง อาจดำเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้ หากมิได้มีการออกคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว ต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สำนักงาน ปปง.อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว

ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 15/2558 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 คณะกรรมการธุรกรรม อาศัยอำนาจตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 11 รายการ พร้อมดอกผล ได้แก่ (1) เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ของ น.ส.สุรีวรรณ ชาญยุทธิ์ จำนวน 1 บัญชี จำนวน 39,549.40 บาท (2) เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ของนายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ จำนวน 1 บัญชี จำนวน 352,809.74 บาท (3) เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ของ พ.อ.คชาชาต บุญดี จำนวน 1 บัญชี จำนวน 317,839.62 บาท (4) เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ของ พ.อ.คชาชาต บุญดี จำนวน 2 บัญชี รวมจำนวน 10,219,870.68 บาท (5) เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ (โดยเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด) จำนวน 1 บัญชี จำนวน 800,000 บาท (6) เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ของ พ.อ.คชาชาต บุญดี จำนวน 2 บัญชี รวมจำนวน 9,800,000 บาท (7) ตั๋วแลกเงินธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ของ พ.อ.คชาชาต บุญดี จำนวน 20,000,000 บาท (8) ห้องชุด พหลโยธินปาร์ค เลขที่ 127/21 ชั้น 3 อาคารเลขที่ 3 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ราคา 1,800,000 บาท ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์นายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ (9) ห้องชุด พหลโยธินปาร์ค เลขที่ 127/18 ชั้น 3 อาคารเลขที่ 3 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ราคา 1,000,000 บาท ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์

โดยมีกำหนด 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559 รวมทรัพย์สินที่อายัดไว้ชั่วคราวทั้งสิ้น จำนวน 11 รายการ พร้อมดอกผลมูลค่าประมาณ 44,330,069.44 บาท
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น