xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อถูกสั่งย้าย..ทำให้ต้องเดินทางไกล...ไม่เท่าเดิม!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ถือเป็นวิธีการในการบริหารงานบุคคล เพื่อจัดสรรและพัฒนาบุคลากรในองค์กร รวมถึงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีมีการร้องเรียนกล่าวโทษข้าราชการ ทั้งนี้โดยยึดประสิทธิภาพการทำงานและประโยชน์ของราชการเป็นสำคัญ

การย้ายจึงมีทั้งการย้ายตามฤดูกาลปกติ และการย้ายนอกฤดูกาลคือเป็นกรณีพิเศษ ตามเหตุผลความจำเป็นของทางราชการ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการย้ายกรณีใด ผู้มีอำนาจก็ต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย และใช้ดุลพินิจโดยชอบคือมีเหตุผลที่สมเหตุสมผลรองรับประการสำคัญคือมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้!

วันนี้ ผมมีกรณีพิพาทซึ่งเทียบเคียงจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 313/2558 เกี่ยวกับการโยกย้ายข้าราชการซึ่งผู้ถูกย้ายเห็นว่าไม่ชอบ เพราะทำให้ตนเองเดือดร้อนต้องเดินทางไปทำงานไกลกว่าเดิมและลำบากขึ้น ทั้งตนเองก็มิได้กระทำความผิดอันใดที่จะต้องถูกสั่งย้าย จึงนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครอง
บทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ตามมาดูกันครับ...

ผู้ฟ้องคดีคือ ผู้พันมานะ(นามสมมติ)ถูกคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาคือผู้บังคับการตำรวจภูธรฯ(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ให้ย้ายจากตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการสถานีตำรวจภูธรสำราญโรจน์ ไปดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน ผู้ชำนาญการที่สถานีตำรวจภูธรหนองกบ ซึ่งอยู่ภายในจังหวัดเดียวกันผู้พันมานะเห็นว่าคำสั่งย้ายดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ระดับ สารวัตร ถึงจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙ และไม่เป็นธรรม จึงมีหนังสือร้องทุกข์ต่อเลขานุการ ก.ตร. ซึ่งต่อมาผู้บัญชาการสำนักงาน ก.ตร. และเลขานุการ ก.ตร.ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ให้ผู้พันมานะทราบว่า การดำเนินการของผู้บังคับบัญชาในการมีคำสั่งย้ายผู้พันมานะเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยชอบด้วยเหตุผลแล้ว คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) โดยอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการร้องทุกข์มีมติยกคำร้องทุกข์ผู้พันมานะจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลเพิกถอนมติยกคำร้องทุกข์ และเพิกถอนคำสั่งที่ย้ายตนดังกล่าว

เรื่องนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า มาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดว่า ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ... และเป็นคำบังคับที่ศาลมีอำนาจกำหนดให้ได้ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

กรณีนี้ผู้พันมานะได้รับคำสั่งย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ สถานีตำรวจภูธรหนองกบ ซึ่งเป็นตำแหน่งในระดับเดียวกัน และได้รับเงินเดือนเท่าเดิมคำสั่งของผู้บังคับการฯ ที่แต่งตั้งโยกย้ายผู้พันมานะ ถือเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้บังคับบัญชาในการจัดสรรบุคลากรในหน่วยงานเพื่อให้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งและพื้นที่ตามความเหมาะสมเพื่อประโยชน์ของทางราชการจึงเป็นการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาในการบริหารงานภายในของหน่วยงานเพื่อประโยชน์ของการบริหารราชการเป็นสำคัญ

แม้คำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าวจะทำให้ผู้พันมานะ ต้องเดินทางไปทำงานต่างจากที่เดิม แต่
ผู้พันมานะก็ยังคงปฏิบัติงานอยู่ในสังกัดเดิม และอยู่ในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน อันเป็นการย้ายที่“มิได้มีผลกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือน”จึงมิได้กระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าผู้พันมานะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากคำสั่งย้ายดังกล่าว กรณีจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามนัยมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ฯศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

การย้ายข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิม ในอัตราเงินเดือนเท่าเดิมโดยไม่กระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ มีเหตุผลรองรับและมิใช่การกลั่นแกล้ง ถือเป็นอำนาจบริหารงานของผู้บังคับบัญชาที่สามารถดำเนินการได้โดยชอบ เพื่อให้ภารกิจคือการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐบรรลุผล ความลำบากเกี่ยวกับระยะทางในการเดินทางไปทำงานเพียงอย่างเดียว ไม่ถือเป็นเหตุเดือดร้อนเสียหายในการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองครับ…
กำลังโหลดความคิดเห็น