xs
xsm
sm
md
lg

บูรณะ เปลี่ยนแปลง “โบราณสถาน” ต้องผ่านการอนุญาตจากกรมศิลป์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

บูรณะซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้วสำหรับศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุระเบิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ช่างศิลปกรรมได้ทำการบูรณะองค์ท้าวมหาพรหมที่ได้รับความเสียหายบริเวณคาง สังวาร นิ้ว และหน้าแข้ง เรียบร้อยและได้ลงรักปิดทองด้วยทองคำเปลวหนัก 2,500 กรัม ซึ่งทำให้องค์ท้าวมหาพรหมกลับมางดงามเช่นเดิม

ครบเครื่องคดีปกครองวันนี้ ก็จะคุยกันถึงประเด็นเกี่ยวกับการบูรณปฏิสังขรณ์หรือเปลี่ยนแปลงโบราณสถานที่อยู่ในอำนาจของกรมศิลปากรเช่นกัน ซึ่งกรณีพิพาทเกี่ยวกับการรื้อถอน บูรณะ เปลี่ยนแปลงหรือกระทำการใดๆ กับโบราณสถานโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรมีเกิดขึ้นอยู่ไม่น้อย ซึ่งกรมศิลปากรมีสิทธิยื่นฟ้องผู้ฝ่าฝืนเป็นคดีอาญาฐานทำลายโบราณสถาน มีโทษทั้งจำคุกและโทษปรับ ซึ่งมีการฟ้องร้องกันไปแล้วหลายคดี

คดีที่หยิบยกมานี้ ผู้ฟ้องคดีคือวัดแห่งหนึ่ง ได้หารือกับชาวบ้านเนื่องจากเห็นว่าสมควรจะทำการรื้อถอนวิหารของวัด ซึ่งมีอายุเก่าแก่และชำรุดทรุดโทรมเพื่อก่อสร้างวิหารหลังใหม่ขึ้นมาทดแทน เพราะเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้มาปฏิบัติธรรม ต่อมาได้มีชาวบ้านโทรศัพท์ไปแจ้งผู้อำนวยการสำนักศิลปากรว่าทางวัดจะทำการรื้อถอนวิหารดังกล่าว ผู้อำนวยการฯ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ผลการตรวจสอบสรุปว่า วิหารหลังดังกล่าวเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะเป็นศิลปะพื้นถิ่น เห็นควรอนุรักษ์ไว้ อีกทั้งวิหารยังมีจารึกบนแผ่นไม้ระบุปีก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2489 ซึ่งตรงกับปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ซึ่งสมควรอนุรักษ์ไว้เป็นโบราณสถานของคนในท้องถิ่นและของชาติต่อไป ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรจึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังวัดดังกล่าวว่าไม่อนุญาตให้ทำการรื้อถอน

วัดจึงได้มีหนังสือไปถึงกรมศิลปากรขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้อำนวยการฯ ซึ่งกรมศิลปากรพิจารณาแล้วเห็นว่าวิหารดังกล่าวมีลักษณะเป็นโบราณสถาน ตามมาตรา 4 พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 หากทางวัดเห็นว่าวิหารอยู่ในสภาพทรุดโทรมต้องการจะก่อสร้างใหม่ จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยทำเป็นหนังสือพร้อมจัดส่งแผนผังรูปแบบรายการ รายละเอียดในการดำเนินการทั้งหมดให้กรมศิลปากรเพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ทางวัดไม่ดำเนินการ โดยได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองแทน

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้นเห็นพ้องกันว่า ในการจะพิจารณาว่าอสังหาริมทรัพย์ใดเป็นโบราณสถานตามมาตรา 4 ดังกล่าวหรือไม่ จะพิจารณาถึงหลักการสำคัญคืออายุของอสังหาริมทรัพย์ ลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือหลักฐานเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ที่จะเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี เมื่อวิหารของผู้ฟ้องคดี ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะการก่อสร้างหรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์จึงมีลักษณะเป็นโบราณสถานตามกฎหมายข้างต้น ซึ่งอยู่ในอำนาจดูแลรักษาของกรมศิลปากร ดังนั้นการกระทำใดๆ เกี่ยวกับวิหาร จำต้องได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรก่อน ข้อต่อสู้ที่ว่า บันทึกผลการตรวจสอบของนักบริหารงานช่าง 6 ประจำองค์การบริหารส่วนตำบล ที่เห็นว่าวิหารดังกล่าวมีความชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่สมควรที่จะทำการบูรณะ แต่สมควรที่จะทำการรื้อถอนและก่อสร้างใหม่นั้น มิได้มีผลผูกพันใดๆ เพราะมิใช่ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลโบราณสถานดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง (อ.830/2558)

สรุปคือ ทางวัดต้องกลับไปดำเนินการขออนุญาตตามขั้นตอนที่กรมศิลปากรกำหนดนั่นเอง...
กำลังโหลดความคิดเห็น